ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวเมื่อวันจันทร์ (26 มิถุนายน) ว่ารัฐบาลเตรียมจัดงบมูลค่าประมาณ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายเทคโนโลยีโทรคมนาคม เพื่อให้ชาวอเมริกันทุกครัวเรือนทั่วประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปี 2030 โดยไบเดนย้ำว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่เป็น “ความจำเป็นอย่างยิ่งยวด” และการอัปเกรดดังกล่าวจะต้องใช้สายเคเบิลที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา
ไบเดนเน้นว่าสหรัฐฯ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมชี้ว่างบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์นี้จะเข้าไปจัดการเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในสถานที่ที่ไม่มีบริการหรือบริการช้าเกินไป โดยงบประมาณที่นำมาใช้อยู่ภายใต้โครงการ Broadband Equity, Access, and Deployment (BEAD) Program ที่ได้รับอนุมัติผ่านกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2021
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กำลังดำเนินการเฟส 2 ของนโยบาย Investing in America และเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายไบเดนในการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงานระบุว่า ภายใต้งบประมาณทั้งหมด รัฐเท็กซัสได้รับสัดส่วนงบประมาณมากที่สุดกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยรัฐแคลิฟอร์เนียที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐเวอร์จิเนีย แอละแบมา และลุยเซียนา ติด 10 อันดับรัฐที่ได้รับงบประมาณในส่วนนี้มากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากเป็นรัฐที่ขาดแคลนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ
ไบเดนกล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวอเมริกันทุกคนปรับเข้ากับสภาพเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญเทียบเท่ากับน้ำประปา ไฟฟ้า และบริการพื้นฐานอื่นๆ
อ้างอิง: