โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน เห็นพ้องที่จะหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ อีกครั้งในวันศุกร์นี้ (12 พฤษภาคม) หลังคว้าน้ำเหลวในการเจรจาเมื่อวาน (9 พฤษภาคม) แต่ให้คำมั่นว่าจะเจรจาเกี่ยวกับการใช้จ่าย (Spending) เพื่อเปิดประตูสู่ข้อตกลงที่เป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระ
หลังจบการพูดคุยเกี่ยวกับเพดานหนี้ ซึ่งกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (9 พฤษภาคม) ไบเดนและแมคคาร์ธีได้มอบหมายให้ผู้ช่วยอภิปรายกันรายวันเกี่ยวกับขอบเขตของข้อตกลงที่อาจจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 1 มิถุนายน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Gallup เผยความเชื่อมั่นชาวอเมริกันดิ่งฮวบ ไม่มั่นใจ ไบเดน-พาวเวลล์-เยลเลน แก้ปมเศรษฐกิจได้
- เจเน็ต เยลเลน เรียกซีอีโอบริษัทชั้นนำทั่วสหรัฐฯ เข้าพบส่วนตัว เพื่อชี้ปมผลกระทบเพดานหนี้
- เจเน็ต เยลเลน เตือน! สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ 1 มิ.ย. นี้ หากคองเกรสไม่เพิ่มหรือระงับเพดานหนี้
ไบเดนเปิดเผยว่าการสนทนาครั้งนี้มีประสิทธิภาพ (Productive) โดยความคืบหน้าเล็กน้อยเช่นนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตลาดได้ชั่วคราว หลังจากก่อนหน้านี้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตือนว่าสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะหมดความสามารถในการปฏิบัติตามภาระผูกพันในการชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันที่ 1 มิถุนายน
อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งแมคคาร์ธีซึ่งเผชิญแรงกดดันจากกลุ่มอนุรักษนิยมให้ต่อรองอย่างหนักในการเจรจาครั้งนี้ กลับกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าตนไม่เห็นความคืบหน้าใหม่ๆ และกล่าวหาว่าไบเดนหลบเลี่ยงการเจรจาที่เป็นสาระสำคัญ
โดยก่อนการประชุมในวันอังคาร แมคคาร์ธีได้บอกปัดแนวคิดการขยายเพดานกู้ชั่วคราว (Short-Term Debt-Limit Extension) ซึ่งอาจเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด สอดคล้องกับทำเนียบขาวที่กล่าวว่าการขยายเพดานหนี้ชั่วคราวไม่ใช่แผนการของพวกเขา
นอกจากนี้ไบเดนยังไม่สนใจการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร (Executive Action) ในการแก้ปัญหานี้ แต่กล่าวว่าจะพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ 14th Amendment ซึ่งจะช่วยรับรองความเป็นเหตุเป็นผลของระดับหนี้สาธารณะ แต่ก็กังวลว่าศาลรัฐบาลกลางอาจล้มล้างแผนการดังกล่าว
ไบเดนยังยืนยันอีกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารไม่ได้สำรวจความคิดเกี่ยวกับการให้กระทรวงการคลังออกเหรียญมูลค่าหลักล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกลบเกลื่อนวิกฤต
ก่อนหน้านี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้เตือนว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างลึกล้ำ พร้อมกับการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบการเงินโลกที่ยึดโยงกับพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างมาก ‘ไม่มั่นคง’ ซึ่งนักลงทุนควรเตรียมพร้อมรับผลกระทบ
ความกังวลเกี่ยวกับทางตันได้ผลักดันอัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) ให้สูงขึ้น แต่ความกังวลยังไม่กระจายไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น หลังจากในสัปดาห์ที่แล้วอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 4 สัปดาห์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสหรัฐฯ มีโอกาสผิดนัดชำระภายในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
Jason Wong นักกลยุทธ์จาก Bank of New Zealand Ltd. กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าตลาดจะมีปฏิกิริยาจนกว่าจะเข้าใกล้วัน X-date หรือวันที่เงินสดของรัฐบาลกลางจะหมดลง และผิดนัดชำระหนี้
อ้างอิง: