×

ไบเดนย้ำบนเวที G7 สานสัมพันธ์สหรัฐฯ-ยุโรป ส่งสัญญาณตัดขาดนโยบายทรัมป์

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2021
  • LOADING...
ไบเดนย้ำบนเวที G7 สานสัมพันธ์สหรัฐฯ-ยุโรป ส่งสัญญาณตัดขาดนโยบายทรัมป์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันอีกครั้งถึงจุดยืนของสหรัฐอเมริกาในการเป็นผู้นำโลก พร้อมย้ำความสำคัญของการร่วมมือกับชาติพันธมิตรดั้งเดิมอย่างยุโรป รวมถึงความเข้มแข็งของประชาธิปไตยทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ นับเป็นการชูแนวทางการบริหารประเทศที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากนโยบาย America First ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมักแสดงความขัดแย้งที่รุนแรง ทำให้สงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น และปฏิเสธความร่วมมือในการป้องกันความขัดแย้ง  

 

ไบเดนแสดงจุดยืนดังกล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ทางออนไลน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 กุมภาพันธ์) ซึ่งถือเป็นเวที G7 ครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีของไบเดน

 

“ผมพูดคำไหนคำนั้น” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวต่อที่ประชุมออนไลน์ G7 “อเมริกากลับมาแล้ว” โดยไบเดนย้อนไปถึงคำมั่นสัญญาที่เขาเคยให้ไว้กับผู้เข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคง Munich Security Conference เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้นไบเดนได้กล่าวเอาไว้ว่า “เราจะกลับมา” ซึ่งหมายถึงการนำสหรัฐฯ หลีกหนีจากนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในเวลานั้น

 

ในระหว่างการประชุมร่วมกับผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ไบเดนแสดงจุดยืนที่แตกต่างจากทรัมป์อย่างชัดเจน เช่นว่า ไบเดนกล่าวหารัสเซีย โดยระบุว่า วลาดิเมียร์ ปูติน พยายามทำลายเสถียรภาพของยุโรปผ่านทางกิจกรรมในโลกไซเบอร์

 

นอกจากนี้ไบเดนยังประกาศว่าจะยุติการถอนทหารออกจากเยอรมนี ซึ่งขัดกับนโยบายของทรัมป์อีกเช่นกัน รวมทั้งประกาศสนับสนุนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และจะปฏิบัติตามมาตรา 5 ของ NATO ซึ่งระบุว่า การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรปหรือในอเมริกาเหนือถือว่าเป็นการโจมตีต่อรัฐสมาชิกทั้งหมด โดยที่ผ่านมาทรัมป์พยายามหลีกเลี่ยงที่จะให้การสนับสนุนและร่วมมือกับประเทศสมาชิก NATO ในเรื่องนี้

 

การเข้าร่วมประชุม G7 ของไบเดนในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของทั้งตัวไบเดนเอง และผู้นำประเทศอื่นๆ ที่จะก้าวข้ามเหตุการณ์วุ่นวายและความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของทรัมป์ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปตึงเครียดอย่างรุนแรง โดยทรัมป์มองว่ายุโรปเป็นคู่แข่งทางการค้า และกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าเพื่อนดั้งเดิมของสหรัฐฯ รับมือยากกว่าศัตรู 

 

“ผมรู้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความตึงเครียดและทดสอบความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของเรา” เขากล่าวในระหว่างการประชุมทางไกลจากห้อง White House East Room “สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะกลับมาร่วมมือกับยุโรป เพื่อปรึกษาหารือและเพื่อทวงตำแหน่งผู้นำที่เชื่อถือได้กลับคืนมา”

 

หัวใจสำคัญของภารกิจทางทูตของไบเดนคือ การยืนยันความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับเหล่าชาติพันธมิตรดั้งเดิม  

 

ไบเดนกล่าวว่า โลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนระหว่างระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ แต่ “ผมเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ประชาธิปไตยจะชนะ และต้องชนะ” 

 

ไบเดนยังได้กล่าวกว้างๆ ถึงการผนึกกำลังกันเพื่อตอบโต้รัสเซียและจีน และยังได้กล่าวถึงอิหร่านว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะกลับเข้ามามีส่วนร่วมอีกครั้งในการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่าสหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าอัฟกานิสถานจะไม่กลายเป็นที่หลบภัยของผู้ก่อการร้ายอีกต่อไป 

 

“4 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องยาก แต่ยุโรปและสหรัฐฯ ต้องเป็นผู้นำด้วยความมั่นใจอีกครั้ง ด้วยความเชื่อมั่นในขีดความสามารถของเรา ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเราเองด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” เขากล่าว

 

ก่อนหน้านี้ในการประชุมทางวิดีโอกับ G7 จาก White House Situation Room ไบเดนยังได้ประกาศให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเงินทุนมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ COVAX ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกในการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศยากจน โดยไบเดนวางแผนที่จะบริจาคเงินจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ให้กับกองทุน และจะใช้จ่ายอีก 2 พันล้านดอลลาร์โดยขึ้นอยู่กับเงินบริจาคจากประเทศอื่นๆ 

 

นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ยังถือเป็นการกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ หลังจากที่ในวันแรกที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 30 วันก่อน ไบเดนได้ประกาศว่าเขาจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมในสนธิสัญญาแก้ไขปัญหาโลกร้อนอีกครั้ง

 

ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์กับบรรดาประเทศสมาชิก G7 นั้นเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ปริร้าว โดยทรัมป์ได้สร้างประเด็นขึ้นทุกครั้งตั้งแต่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกที่ซิซิลี ประเทศอิตาลี ซึ่งครั้งนั้นทรัมป์กล่าวว่า เขารู้สึกถูกรุมเมื่อผู้นำคนอื่นๆ พยายามโน้มน้าวให้เขาอยู่ในความตกลงปารีส

 

ในการประชุมปีต่อมาที่ควิเบก ประเทศแคนาดา ทรัมป์ขัดแย้งกับผู้นำคนอื่นๆ ในเรื่องการตั้งกำแพงภาษี และยกเลิกการลงนามในแถลงการณ์ร่วมปิดการประชุม เพื่อเดินทางออกจากการประชุมก่อนกำหนดและบินไปสิงคโปร์เพื่อพบกับคิมจองอึน 

 

ผู้นำ G7 ปะทะกันอีกครั้งในอีกหนึ่งปีต่อมาระหว่างการประชุมในฝรั่งเศส เมื่อทรัมป์กล่าวว่าเขาต้องการให้รัสเซียเข้าร่วมกลุ่มอีกครั้ง

 

จนกระทั่งในปีที่ 4 ของการดำรงตำแหน่งเมื่อถึงคราวที่สหรัฐฯ จะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ทรัมป์ก็พูดกลับไปกลับมาเรื่องสถานที่จัดการประชุม จนกระทั่งในท้ายที่สุดก็ยอมจัดการประชุมทางวิดีโอ หลังถูกเร่งรัดจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส

 

แน่นอนว่าย่อมต้องเกิดความรู้สึกผ่อนคลายอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อไบเดนมานั่งแทนที่ทรัมป์ในการประชุม G7 เพราะอย่างน้อยไบเดนก็เป็นคนที่คาดเดาได้และมั่นคงกว่าทรัมป์ที่มักมีอารมณ์แปรปรวน จนทำให้การประชุม G7 ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง 

 

ภาพ: Anna Moneymaker-Pool / Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising