สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานเปิดเผยว่า ทางประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศกร้าวว่า รัสเซียจะไม่มีทางได้รับชัยชนะเหนือยูเครนอย่างแน่นอน ก่อนออกโรงเรียกร้องให้นานาประเทศให้การสนับสนุนช่วยเหลือยูเครนในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ยูเครนสามารถต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โปแลนด์ ก่อนการครบรอบ 1 ปีของการที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารโจมตียูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 และมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครน และได้พบปะกับประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน เพื่อแสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการต่อสู้ของยูเครน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนยังได้เน้นย้ำถึงบทบาทความสำคัญขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ในการดูแลสันติภาพของชาติสมาชิก โดยสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม NATO ในปี 2024 ที่จะครบวาระ 75 ปีของการก่อตั้งองค์กรดังกล่าว
ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า หนึ่งปีในสงครามครั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ไม่น่าจะกังขาในความแข็งแกร่งของกลุ่มพันธมิตรของ NATO อีกต่อไป แต่อาจยังคงสงสัยในความเชื่อมั่นของ NATO กังขาในอำนาจของ NATO ซึ่งการให้การสนับสนุนยูเครนจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แสดงให้เห็นอำนาจและความสามัคคีของ NATO ที่จะไม่มีวันแตกแยกโดยเด็ดขาด
ขณะเดียวกัน ไบเดนได้เน้นย้ำถึงพันธกรณีตามมาตรา 5 ของ NATO ที่ว่า หากชาติสมาชิกใดถูกโจมตี ก็จะถือเสมือนเป็นการโจมตีต่อทุกประเทศใน NATO
ทั้งนี้ ตามการประมาณการของสหประชาชาติ (UN) พบว่า นับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตีเพื่อนบ้านอดีตสหภาพโซเวียตอย่างยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ สงครามได้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 8,000 ราย และทำให้บาดเจ็บเกือบ 13,300 ราย
Volker Turk ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น โดยยังมีพลเรือนจำนวนมากไม่สามารถทนอยู่ได้ท่ามกลางการขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำในช่วงฤดูหนาว ขณะนี้มีการประเมินในเบื้องต้นว่ามีผู้คนเกือบ 18 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างสาหัส ผู้คนราว 14 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากบ้าน
วันเดียวกัน สำนักข่าว AP รายงานว่า ทางสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกโรงเรียกร้องขอความร่วมมือจากบรรดาชาติสมาชิกในการช่วยจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเครื่องกระสุนให้แก่ยูเครนเพื่อใช้ในการต่อกรกับรัสเซีย ซึ่งการจัดหานี้หมายรวมถึงการแบ่งจากคลังแสงของแต่ละประเทศ และจากคำสั่งซื้อที่ทางกระทรวงกลาโหมของชาติสมาชิกได้ทำไว้ก่อนหน้านี้
รายงานระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้กองทัพยูเครนสามารถเอาชนะการรุกรานของทางรัสเซียได้ และยังมีขึ้นหลังจากที่มีการประมาณการโดยคร่าวเกี่ยวกับอาวุธในยูเครน ซึ่งพบว่าเสียเปรียบรัสเซียเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่า ยูเครนยิงกระสุนปืนใหญ่ได้มากถึง 6,000-7,000 นัดต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณเฉลี่ยโดยทั่วไปของประเทศขนาดเล็กในยุโรปที่สั่งซื้อเข้าคลังแสงของตนเอง แถมยังเป็นเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนกระสุนที่รัสเซียใช้ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา
Josep Borrell หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่สำนักงานใหญ่ขององค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมว่า การจัดหาอาวุธให้ยูเครนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยเจ้าตัวยังได้เปิดเผยว่าตนเองได้เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีกลาโหม 27 ชาติสมาชิกอียูเรียกร้องขอความร่วมมือในการช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ยูเครน
Borrell กล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมดต้องทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดภายใน 2-3 สัปดาห์ ไม่ใช่ 2-3 เดือนเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ได้ร้องขอต่อพันธมิตรชาติตะวันตกให้ช่วยเร่งรัดการสนับสนุนทางทหาร โดยเตือนว่ารัสเซียอาจเตรียมแผนเล่นงานยูเครนในช่วงเข้าใกล้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการบุกยูเครน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โจ ไบเดน เพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย จ่อขึ้นภาษี 200% สำหรับอะลูมิเนียมทุกประเภทที่ผลิตในรัสเซีย
- โจ ไบเดน ยกตัวเลขจ้างงานเดือน ม.ค. ที่แตะ 5.17 แสนตำแหน่ง เป็น ‘ผลงานชิ้นเอก’ ของรัฐบาล
- รัฐบาล โจ ไบเดน ทุ่มเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มผลผลิตแร่ธาตุสำหรับผลิตแบตเตอรี่ EV
อ้างอิง: