วันนี้ (25 ตุลาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีความพยายามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยกเลิก MOU 2544 หรือบันทึกความเข้าใจของไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป ในยุคของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าไทยจะเสียเปรียบการปักปันเขตแดนทางทะเล โดยเฉพาะเรื่องเกาะกูด จังหวัดตราด
ภูมิธรรมตอบในประเด็นนี้ว่า MOU 2544 เราทำได้ดีแล้ว คนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีก็คือ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น โดยยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาโดยตลอด และไม่เคยมีปัญหาว่ากัมพูชาต้องการแบ่งเขตแดน พร้อมระบุว่า สาเหตุที่เกิด MOU 2544 ไม่ใช่ข้อตกลงว่าจะให้ทำเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน แต่เป็นข้อตกลงที่จะให้ไม่ทำ
“สิ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่องเส้นเขตแดน โดยข้อเท็จจริงแล้วเส้นเขตแดนมาตามเกาะกูดและอ้อมเกาะกูดลงมา โดยไปตามแนวของเกาะกูด เพียงเราอยากเห็นการปักเส้นเพียงนิดเดียว คือแทนที่เส้นนี้จะล้อมรอบเกาะกูด แต่ก็ตรงออกมาเลย และขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่เป็นเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน” ภูมิธรรมกล่าว
ภูมิธรรมอธิบายว่า เนื่องจากทุกประเทศมีหลักการที่ใช้คือวัดจากไหล่ทวีปมา 200 ไมล์ทะเล และเนื่องด้วยพื้นที่อ่าวไทยแคบ เมื่อมีการประกาศ 200 ไมล์ทะเลเราก็ปฏิบัติตาม จึงทำให้ต่างฝ่ายต่างมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งในโลกนี้มีหลายประเทศ เช่น มาเลเซียและเวียดนาม ประเทศดังกล่าวก็ใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อตกลงผลประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายถึงเรื่องดินแดน
ภูมิธรรมเน้นย้ำว่า เรื่องดินแดนของเราในเกาะกูดชัดเจนมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่ต้องห่วงว่าจะเสียเกาะกูดหรือไม่ ขออย่าหลงประเด็น สิ่งสำคัญคือใต้ทะเลที่มีประโยชน์และน้ำมันใช้ได้ ซึ่งอีก 10 ปีจะลดความสำคัญลง และกว่าจะตกลงกันตรงนี้ได้ หากเอาผลประโยชน์ขึ้นมาก็ใช้เวลากว่า 5 ปี หากไม่ทำอะไรภายใน 10 ปีก็ไม่มีความหมาย เพราะปัจจุบันมีรถไฟฟ้า นี่คือเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศชาติจะต้องสูญเสียทรัพยากรตรงนี้ไป
ภูมิธรรมกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ซึ่งในรัฐบาลนี้เข้าใจว่าตนน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบและมองว่าเรื่องนี้ต้องเจรจากัน แต่ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชน อย่าขยายเป็นเรื่องการยึดดินแดนหรือเสียดินแดน เพราะจะเป็นการปลุกความคลั่งชาติขึ้นมา อีกทั้งทำลายผลประโยชน์ที่ประเทศควรได้รับ
“อยากให้ลดอารมณ์ความรู้สึกที่เหมือนกับความคลั่งชาติ และต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีประเด็นขายชาติหรือขายดินแดน สิ่งที่แตกต่างกันก็ยังยืนยันอยู่ ไม่มีการล่วงล้ำอะไร สิ่งที่จะดูก็คือจะแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไรที่ทั้ง 2 ชาติสามารถอ้างอิงได้” ภูมิธรรมระบุ
ภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า หากตนเข้ามารับผิดชอบคณะกรรมการชุดนี้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หลังจากนั้นอาจต้องปรับให้มีหน่วยงานที่กว้างขึ้นมากกว่ากระทรวงการต่างประเทศ อาจต้องดึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้มองภาพรวมได้กว้างขวางมากขึ้น
ส่วนความกังวลเรื่องความสัมพันธ์ของบุคคลในรัฐบาลไทยและกัมพูชาที่มีความใกล้ชิดกัน จึงอาจมีการเจรจาด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าจินตนาการเรื่องผลประโยชน์ ประเทศชาติต้องมาก่อนเรื่องอื่นอยู่แล้ว อยากให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงดีกว่า