วันนี้ (10 กรกฎาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการประชุม ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ว่า ถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ส่วนประเด็นเรื่องการโหวตเป็นประเด็นหนึ่งที่จะนำมาหารือในที่ประชุมด้วย จะเป็นการรับฟังความเห็นของ ส.ส. พรรคทุกคน และหารือถึงสถานการณ์การเมืองต่างๆ ว่าจะมีทิศทางในการลงมติอย่างไร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะมีท่าทีอย่างไร อนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยได้มีแถลงการณ์ในนามพรรคชัดเจนแล้ว โดยที่ไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใด เพราะทุกคนที่เป็น ส.ส. ประชาชนเลือกเข้ามา จึงต้องดูเรื่องประสบการณ์และแนวทางของพรรคการเมืองว่าหากเป็นแบบนี้แล้วเราจะไปด้วยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด เราก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แนวทางของพรรคภูมิใจไทยจะงดออกเสียงหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ความชัดเจนอยู่ในแถลงการณ์ของพรรคภูมิใจไทย ขณะนี้ไม่ควรพูดอะไรที่ตอกย้ำ พรรคภูมิใจไทยยืนยันเจตนารมณ์ตามแถลงการณ์
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยืนยันเสนอชื่อพิธา พรรคภูมิใจไทยให้โอกาสโหวตกี่ครั้ง อนุทินกล่าวว่า ยังไม่ทราบ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติของพิธา จะกระทบการโหวตของพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เราเกี่ยวข้อง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองท่าทีของพรรคก้าวไกลอย่างไร ในกรณีที่พยายามเดินสายพบประชาชนเพื่อทำความเข้าใจกรณีการโหวตนายกฯ ที่จะต้องอาศัยเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. เพื่อให้เลือกพิธาเป็นนายกฯ อนุทินกล่าวว่า เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะสื่อสารเรื่องต่างๆ เดี๋ยวทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น แต่ละพรรคการเมืองต่างมีแนวทาง เราคงไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า ส.ส. และ ส.ว. จะไม่กลัวการถูกล่าแม่มดภายหลังการโหวตนายกฯ ใช่หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ทำไมต้องกลัว ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้มีวิจารณญาณ เป็นผู้มีเอกสิทธิ์ และไม่ทราบว่าแต่ละคนจะมีความเห็นเป็นอย่างไร สำหรับคำว่ากลัว คำว่าขู่ ทำกันไม่ได้อยู่แล้ว อย่างนั้นไม่มีประโยชน์ ทำให้เกิดความแตกแยกเปล่าๆ ทุกคนต่างมีจุดยืนอยู่แล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จนถึงขณะนี้พรรคที่ได้เสียงมากจะจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ก็ต้องให้กำลังใจทุกคน หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างราบรื่นก็เป็นผลดี ส่วนทำอย่างไรให้ราบรื่นและได้รับการโหวตสนับสนุนจากทุกฝ่ายมันก็ดี ตรงไหนถอยได้ก็ถอยบ้าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในซีกพรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังคาดหวังจะเกิดการพลิกผันหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีซีกไหน เพราะทุกซีกจบไปตั้งแต่การเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านก็จบไปตั้งแต่การเลือกตั้ง และขณะนี้มีการรับรอง ส.ส. แล้ว จึงถือว่ายังไม่มีฝ่ายค้านหรือรัฐบาล มีแต่พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่มีจุดยืนอย่างไร อย่างพรรคภูมิใจไทยก็มีจุดยืนตามแถลงการณ์ คือไม่เอาการแก้ไขมาตรา 112 และไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็ชัดเจนในตัวเอง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหลักการของพรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างนี้ สรุปแล้ว 71 เสียงจะโหวตให้ใคร อนุทินกล่าวว่า เราก็ต้องฟังว่าในวันโหวตจะเสนอใครเป็นนายกฯ พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคอันดับ 3 ยังไม่มีส่วนเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคอันดับ 1 และ 2 ยังร่วมกันจัดอยู่ ยังไม่ใช่บทบาทของพรรคภูมิใจไทย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามยํ้าว่า การที่ 71 เสียงจะไปรวมกับใคร จะต้องไม่เข้าเงื่อนไขการแก้มาตรา 112 และการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยใช่หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ใช่ เรื่องนี้เราพูดชัดเจนอยู่แล้ว พรรคภูมิใจไทยพูดแล้วทำ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้จัดตั้งรัฐบาล และแคนดิเดตนายกฯ เป็นของพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทยจะรับได้หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ก็ต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมกับใคร พรรคภูมิใจไทยไม่ได้บอกว่าจะรับหรือไม่รับตัวบุคคล เราพูดถึงแนวทางและนโยบายของพรรคการเมือง ว่าพรรคไหนร่วมงานกันได้ หรือพรรคไหนที่เรามีความลำบากใจในการทำงานร่วมกัน รอให้ถึงวันนั้นก่อน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าการโหวตเลือกนายกฯ ควรมีกี่ครั้งจึงจะเหมาะสม และทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ อนุทินกล่าวว่า ก็ควรจะโหวตครั้งเดียว และเมื่อได้ผู้นำรัฐบาล ตามหลักประชาธิปไตยถ้าใครได้รับเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูญ คือ 376 เสียง เราก็ต้องยอมรับ และหากตรงนั้นไม่มีพรรคภูมิใจไทยอยู่ เราก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เราเคารพกติกาทุกอย่าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน และครั้งที่สองยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ควรมีครั้งต่อไปใช่หรือไม่ อนุทินกล่าวว่า อยู่ที่บทบัญญัติ ก็ต้องไปตีความกัน และอยู่ที่ผู้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าจะวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งมีคนส่งบทบัญญัติมาให้ตนดู คิดว่าก็ต้องตีความ แต่ถ้าจะเสนอคนเดิมซ้ำก็ต้องมีการขอญัตติ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ประธานสภาวินิจฉัย ส่วนการวินิจฉัยจะมีความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาด้วยหรือไม่ ก็ต้องไปตีความ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ทางฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีการพูดคุยเรื่องทิศทางโหวตหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดพูดคุยแต่อย่างใด ทุกคนก็รอดูว่าจำเป็นต้องโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ซีกเดิมไม่มีอยู่แล้ว มันจบไปแล้ว ถ้ามารวมตอนนี้ก็มี 188 เสียง ถ้าจะไปโหวตแข่งกันจะเอาตรงไปแข่ง เพราะพรรคภูมิใจไทยบอกแล้วว่าจะไม่ยอมให้ได้รัฐบาลมาโดยมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันค้านกับจุดยืนที่พรรคได้พูดไว้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการปิดประตูของซีกนี้เลยหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า อย่าไปบอกว่าปิดประตูเลย เราต้องทำตามระบอบประชาธิปไตย ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก่อน ถ้า 188 เสียงไปรวมกันโดยมีวุฒิสภามาโหวตให้ ถ้าวุฒิสภาส่งตัวเสร็จ เราก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที แล้วต่อไปจะทำงานอย่างไร ก็จะไม่พ้นลาออกหรือต้องยุบสภา ก็ต้องเดือดร้อนประชาชนและงบประมาณอีก