วันนี้ (16 สิงหาคม) จากกรณีที่มีตัวแทนบุคลากรด่านหน้าทางการแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กว่า 10 คน ออกมาร้องเรียนพร้อมกับเปิดเผยว่าพบข้อพิรุธในการจัดสรรวัคซีน Pfizer ของโรงพยาบาลหลายอย่าง โดยเฉพาะเอกสารรายชื่อผู้ได้รับวัคซีน Pfizer ของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ที่ไม่ได้มีแค่บุคลากรด่านหน้าเท่านั้น จึงทำให้รายชื่อบุคลากรด่านหน้าที่เป็นแพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิดโดยตรงประมาณ 100-200 คน ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน Pfizer บูสเตอร์โดสเข็ม 3
และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ท. ธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ ได้เรียกตัวแทนบุคลากรด่านหน้าทางการแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช มาพูดคุยทำความเข้าใจไปเรียบร้อยแล้ว
พล.อ.ท. ธนวิตต เปิดเผยว่า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชที่ปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยตามภารกิจตามภารกิจของกองทัพอากาศได้ดูแลอยู่สามโรงพยาบาลคือ
- โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
- โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน)
- โรงพยาบาลจันทรุเบกษา
- โรงพยาบาลสนามวัฒนาแฟคตอรี่
- โรงพยาบาลสนามที่รับผิดชอบ
“ในฐานะตัวแทนกรมการแพทย์ทหารขออภัย และขอรับความผิดชอบในความบกพร่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ระหว่างผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจนทำให้เกิดความไม่พอใจนั้น ยืนยันและขอให้ความมั่นใจกับบุคลากรว่าจะได้รับวัคซีน Pfizer เข็มที่ 3 ภายในสัปดาห์นี้ 100% จากที่ได้รับการจัดสรรมาจากกรมควบคุมโรค 3,700 เข็ม เรามีบุคลากรอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน ส่วนวัคซีนที่เหลือจะนำไปฉีดให้กับบุคลากรด่านสองและด่านสามต่อไป” พล.อ.ท. ธนวิตต กล่าว
พล.อ.ท. ธนวิตต กล่าวต่อไปด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องวัคซีน ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาต้องดูแลลูกน้อง หากลูกน้องยังไม่ได้รับ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะนำวัคซีนตรงนี้ไปฉีดให้กับกลุ่มวีไอพี ถ้ามีคนไปทำแบบนั้นก็คงโง่เต็มทน และไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องไปกับวัคซีนก็ไม่เคยเพื่อให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้ใหญ่ในกองทัพอากาศโทรมาขอวัคซีน Pfizer แต่อย่างใด
“ปีนี้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชครบรอบ 72 ปี เราทำงานมายาวนาน แต่เมื่อมีเรื่องที่ไม่เข้าใจ แพร่หลายไปในโซเชียล ทำให้ชื่อเสียงมัวหมอง ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ใส่กันเต็มเหนี่ยว ทำให้เราเสียใจ เพราะองค์กรของเราก็มีบุคลากรที่ดีทำงานให้กับองค์กร จึงไม่อยากให้โยงเป็นเรื่องวัคซีนทางการเมืองเพื่อไปกระทบกับรัฐบาล จากนี้จะไปปรับปรุงเรื่องระบบและการสื่อสารภายในองค์กร” พล.อ.ท. ธนวิตต กล่าว
ส่วนกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่าจะไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบและเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทหารอากาศตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ พล.อ.ท. ธนวิตต กล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร ขอให้เป็นเรื่องของศรีสุวรรณ แต่ในส่วนของตนได้เข้ามาแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้บังคับบัญชาบุคลากรด้านหน้าและผู้บริหารของโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุมทำความเข้าใจร่วมกันไปแล้ว และยืนยันว่าไม่ได้มีการคาดโทษทางวินัยอย่างที่โซเชียลนำไปเผยแพร่แต่อย่างใด ตั้งแต่เกิดเรื่องมาตนได้รายงานเรื่องให้ผู้บัญชาการทหารอากาศรับทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งท่านก็ไม่ได้สั่งการอะไรลงมาเป็นพิเศษ เพียงแต่ย้ำให้ไปแก้ไขปัญหาและทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ พล.อ.ต.หญิงอิศรญา สุขเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ยืนยันว่าการจัดลำดับในการจัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชมีความโปร่งใส โดยจะนำไปฉีดให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อที่จะได้รับวัคซีน Pfizer เป็นเข็ม 3 ทั้งนี้ได้มีการจำแนกกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ตามลำดับความเสี่ยง ซึ่งใครที่มีความเสี่ยงมากโดยการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจะได้รับวัคซีนก่อน เช่น เจ้าหน้าที่กองแพทย์ประจำโรคอุบัติใหม่ หรือ ICU ตลอดจนถึงห้องตรวจระบบทางเดินหายใจ เจ้าหน้าที่เปล เจ้าหน้าที่จุดคัดกรองและเจ้าหน้าที่ธุรการ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหมด
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดช่างโยธา ช่างซ่อมประปา และช่างซ่อมไฟฟ้าจึงได้รับสิทธิ์ด้วยนั้น เพราะคนกลุ่มนี้อยู่ในงานกลุ่มธุรการ หากระบบสาธารณูปโภคในโรงพยาบาลเสียก็ต้องให้กลุ่มความรู้เหล่านี้เข้ามาซ่อมแซม ยืนยันว่าไม่ได้ให้วัคซีนล่าช้า
พล.อ.ต.หญิงอิศรญา ยังกล่าวถึงการมีรายชื่อที่มีความซ้ำซ้อนและหลุดออกไปทางโซเชียลมีเดียนั้น เป็นรายชื่อที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ ทั้งนี้ต้องไปดูว่าข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไปได้อย่างไร รวมถึงจำนวนวัคซีนที่ทยอยเข้ามาจึงไม่สามารถที่จะแจ้งไปยังบุคลากรด่านหน้าได้ว่าจะได้รับวัคซีนในวันไหน จนอาจทำให้เกิดความเครียดและเกิดความไม่พอใจ จากนี้เราจะต้องทบทวนระบบใหม่ แต่ขอให้มั่นใจว่าภายใน 3 วันนี้เราจะฉีดบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าให้ครบทุกคน
“ยืนยันว่าไม่ได้มีการคาดโทษกับบุคคลที่นำข้อมูลมาเปิดเผย ทั้งนี้รายชื่อที่เกิดความซ้ำซ้อนเพราะมาจากการใช้ระบบ Google Forms ซึ่งบุคลากรที่ลงทะเบียนทำอาจจะไม่แน่ใจว่าใส่ชื่อไปแล้วหรือไม่ ทำให้ใส่เพิ่มไปอีก ในขณะเดียวกันหน่วยงานต้นสังกัดก็ส่งชื่อมาด้วยอีกทางหนึ่ง จึงทำให้เกิดรายชื่อซ้ำซ้อน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยึดตามเลขบัตรประชาชน ส่วนรายชื่อที่มีข้อสังเกตว่าทำไมมีคำขึ้นต้นด้วยนาย นาง และ นางสาว นั้น ทั้งที่บุคลากรเหล่านั้นมียศเป็นทหาร เนื่องจากเป็นการลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชน จึงทำให้ไม่มียศนำหน้าชื่อ” พล.อ.ต.หญิงอิศรญา กล่าว
ภาพ: Voice TV