เกิดอะไรขึ้น:
BH วางแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่ในจังหวัดภูเก็ตคือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูเก็ต ใน 1H69 โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติ EIA ใน 2H67 และใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปี โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้จะมีจำนวนเตียงทั้งหมด 212 เตียง โดยในเฟสแรกจะมีเตียงเปิดให้บริการ 150 เตียง พร้อมกับบริการต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพทั่วไป, การรักษาโรคหัวใจ, การผ่าตัดกระดูกและกระดูกสันหลัง และการคลอดบุตร นอกจากนี้ โรงพยาบาลนี้จะเป็นศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปยังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในกรุงเทพฯ
โรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตของ BH จะทำให้จำนวนเตียงของบริษัทเพิ่มขึ้น 39% (จากจำนวนเตียงปัจจุบันที่ 538 เตียง) และเป็นการขยายเครือข่ายของบริษัทออกไปจากที่มีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดสำคัญในประเทศไทยที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักคือการท่องเที่ยว อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ภูเก็ตมีเตียงโรงพยาบาลให้บริการจำนวน 1,374 เตียง โดยส่วนใหญ่เป็นเตียงของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งคิดเป็น 66% ของจำนวนเตียงทั้งหมด และที่เหลืออีก 34% เป็นเตียงของโรงพยาบาลเอกชน
InnovestX Research มองว่าการแข่งขันจะเป็นความท้าทายสำหรับ BH เนื่องจาก BDMS มีสถานะที่แข็งแกร่งในภูเก็ตอยู่แล้ว โดยเปิดให้บริการโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 30% อย่างไรก็ดี จากภาพอุตสาหกรรมในฝั่งอุปทานเตียง ไม่คิดว่าการแข่งขันจะรุนแรงในพื้นที่ภูเก็ต โดยการศึกษาแสดงให้เห็นว่าภูเก็ตมีเตียงโรงพยาบาล 3.2 เตียงต่อจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 1,000 คน แต่จะลดลงสู่ 2.4 เตียงเมื่อรวมผู้พักอาศัยทั้งหมดเข้ามา ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศไทย แต่ต่ำกว่ากรุงเทพฯ ที่ 4.0 เตียง ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปทานเตียงโรงพยาบาลในภูเก็ตไม่ได้สูงจนเป็นที่น่ากังวล
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BH ปรับขึ้น 7.1% สู่ระดับ 271.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 10.1% สู่ระดับ 1,428.03 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
InnovestX Research ได้รวมโรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตเข้ามาไว้ในการประเมินมูลค่าของ BH ซึ่งหนุนให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 ที่คำนวณได้ด้วยวิธี DCF ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 300 บาทต่อหุ้น (เพิ่มขึ้น 11% จาก 270 บาทต่อหุ้น) โดยอิงกับ WACC ที่ 7.1% และการเติบโตระยะยาวที่ 3%
อย่างไรก็ดี ให้คำแนะนำ Neutral สำหรับ BH เนื่องจากแม้ว่าโรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตจะหนุนให้กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว แต่จะมีแรงกดดันต่อกำไรในระยะสั้น โดยประเมินได้ว่ากำไรปกติในปี 2567-2569 ของ BH จะเติบโตที่ CAGR 2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 7% และ BDMS (คู่แข่งโดยตรง) ที่ 8%
เนื่องจากผลขาดทุนในระยะแรกที่โรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตจะฉุดรั้งให้กำไรปกติของ BH ปรับตัวลดลง 1% ในปี 2569 ก่อนที่จะพลิกกลับมาเติบโต 10% ในปี 2570 และเติบโต 8% ในปี 2571 โดยได้แรงหนุนจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยใช้สมมติฐานว่าโรงพยาบาลใหม่ในภูเก็ตจะทำกำไรได้ในปี 2571 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการดำเนินงาน
ปัจจัยกระตุ้นคือ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดของโรงพยาบาลใหม่ ปัจจุบันหุ้น BH ซื้อขายที่ P/E ปี 2567 ระดับ 28 เท่า ค่อนข้างใกล้เคียงกับ BDMS (29 เท่า)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้เกิดการชะลอการรักษาโรคที่ไม่เร่งด่วน และความไม่สะดวกของผู้ป่วยต่างชาติที่จะเดินทางมารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย เนื่องจาก BH มีรายได้หลักมาจากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย (S) ซึ่ง BH ได้นำระบบบริหารคุณภาพต่างๆ มาใช้สำหรับกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง