วันนี้ (13 พฤษภาคม) ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM เปิดเผยว่าบริษัทประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 11,223 ล้านบาท เติบโต 9.4% มาจากขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องรวม 944 เมกะวัตต์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากปี 2563 มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการ และการซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 แห่ง (โครงการ SPP1)
ขณะที่เดือนมีนาคม 2563 มีโครงการโรงไฟฟ้าอ่างทองเพาเวอร์ ขนาด 123 เมกะวัตต์ ในภาพรวมปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะมีสัดส่วนอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และกลุ่มลูกค้ามีการเติบโต ได้แก่
- กลุ่มบรรจุภัณฑ์โต 15.1%
- กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 13.2% จากลูกค้าใหม่
- กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้น 8%
- กลุ่มยางรถยนต์เพิ่มขึ้น 3.2%
ขณะที่อัตรากำไร EBITDA เพิ่มสู่ระดับสูงที่ 29.2% จากการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น ผลจากการทยอยปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซเป็นโครงการที่ 3 ในช่วงต้นปีนี้ และการรับรู้ผลการดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม ด้านกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกำไร/ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากมูลค่าทางบัญชีของเงินกู้สกุลต่างประเทศ) อยู่ที่ 1,158 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 682 ล้านบาท เติบโตถึง 54% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยบวกดังที่กล่าวมา
อย่างไรก็ดี ทางบริษัทมีการกู้เงินสกุลต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงในส่วนของรายได้สกุลต่างประเทศ (Natural Hedge) โดยในช่วงไตรมาส 1/2563 เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จึงเกิดรายการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน 886 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่กระทบกระแสเงินสด เป็นสาเหตุหลักทำให้กำไรสุทธิจากอยู่ที่ 159 ล้านบาทและ 81 ล้านบาทในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่
ด้านการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 นั้น บริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่งมีเงินสดในมือถึง 2.1 หมื่นล้านบาท มีการประเมินกระแสเงินสดอย่างละเอียดภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ต่างๆ ขณะเดียวกันบริษัทยังได้รับวงเงินสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม 4 พันล้านบาท รวมเป็น 9 พันล้านบาท พร้อมรับหากวิกฤตโควิด-19 มีความยืดเยื้อ
ทั้งนี้ บี.กริม จัดตั้งทีมงานผู้รับผิดชอบเพื่อติดตามปฏิบัติการตอบสนองนโยบายภาครัฐอย่างใกล้ชิด มาตรการต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงาน โดยไม่มีการปลดพนักงาน ด้านธุรกิจรายได้ส่วนใหญ่มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 สำหรับส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมคงที่จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีลูกค้าใหม่ทยอยเข้ามาอีกในช่วงที่เหลือของปีรวม 30 เมกะวัตต์ตามสัญญาการซื้อขายไฟ
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์