×

BGRIM – แนวโน้มกำไรกลับสู่ภาวะปกติ

18.08.2023
  • LOADING...
หุ้น bgrim

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) รายงานกำไรสุทธิ 2Q66 ของ BGRIM อยู่ที่ 678 ล้านบาท ฟื้นตัวจากขาดทุนสุทธิ 193 ล้านบาทใน 2Q65 และเพิ่มขึ้น 70%QoQ เพราะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง กำไรสุทธิจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 189%YoY และ 53%QoQ เนื่องจากมาร์จิ้นของไฟฟ้าที่ขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) กว้างขึ้น เพราะต้นทุนก๊าซ (ลดลง 16%QoQ) ลดลงในอัตราที่เร็วกว่าราคาขายไฟฟ้า (ลดลง 9%QoQ) การใช้พลังงานลดลง (ลดลง 3.8%YoY) ก็ช่วยให้ต้นทุนพลังงานลดลง YoY ด้วยเช่นกัน 

 

ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้ลูกค้า IU ลดลง 11%QoQ โดยเฉพาะจากลูกค้ากลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน, กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรม แม้ว่าบริษัทได้เชื่อมเข้าระบบของลูกค้า IU รายใหม่จำนวน 12.2 เมกะวัตต์ใน 1H66 

 

กำไร 1H66 มีจำนวน 1.1 พันล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากขาดทุน 170 ล้านบาทใน 1H65 และประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลอยู่ที่ 0.18 บาทต่อหุ้น (XD วันที่ 28 สิงหาคม) หรือคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยต่อปีราว 1%          

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น BGRIM ปรับตัวลดลง 1.36%WoW อยู่ที่ระดับ 36.25 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.41%WoW อยู่ที่ระดับ 1,528.81 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

ผู้บริหาร BGRIM มองบวกต่อแนวโน้ม 2H66 โดยได้แรงหนุนจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ และโครงการ SPP Replacement และธุรกิจโซลาร์ในเกาหลีใต้ (23.5 MW) บริษัทวางแผนเซ็น PPA เพิ่มกับลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหม่ราว 50-60 MW ภายในสิ้นปี 2566 (12.2 MW ใน 1H66) เพิ่มขึ้นจาก 33 MW ในปี 2565 ต้นทุนก๊าซใน 2H66 คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ < 400 บาทต่อ mmbtu โดยอิงกับราคาก๊าซเฉลี่ยเต็มปีที่บริษัทมองไว้ที่ 400-450 บาทต่อ mmbtu ปริมาณการใช้ก๊าซ/โรงไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงจากโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 7 แห่ง และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ

 

สำหรับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพแห่งใหม่ BGRIM มองบวกมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าของเกาหลี โดยล่าสุดได้เริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 23.5 MW ภายใต้การดำเนินงานของ KOPOS (BGRIM ถือหุ้น 49.9%) นอกจากนี้ BGRIM ยังได้เข้าซื้อหุ้น 21.27% (มีสิทธิได้รับเงินปันผล 33.85%) ในโครงการโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิต 98.99 MW ในเกาหลีใต้ด้วย 

 

ผู้บริหารคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจโซลาร์ในเกาหลีใต้น่าจะอยู่ที่ 0.5-0.8 ล้านบาทต่อ MW หรือเท่ากับ 16-26 ล้านบาทต่อปีจากสองโครงการนี้ บริษัทได้เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในท้องถิ่นหลายโครงการ ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการในปี 2568-2571 โดยมีกำลังการผลิตรวมกันเกือบ 560 MW (กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือ)

 

ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนสู่ > 50% ของพอร์ต BGRIM ตั้งงบลงทุนสำหรับปี 2566-2573 ไว้ที่ 4.25 แสนล้านบาท โดยจะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินสดภายในกิจการและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นหลัก (78%) ส่วนที่เหลือจะได้มาจากหลายทางเลือกในการระดมทุน (พันธบัตร Perpetual Bond และ asset monetization) การลงทุนจะมุ่งเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียน (94% ของงบลงทุนทั้งหมด) ในตลาดต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ (พลังงานลมนอกชายฝั่ง) ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุกำลังการผลิตติดตั้ง 10 GW ภายในปี 2573 โดยมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตเหล่านี้จะเป็นพลังงานหมุนเวียน

 

โดยสรุป กำไรสุทธิจากการดำเนินงานของ BGRIM ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากใน 1H66 หลังจากขาดทุนเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 และเชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรจะกลับมาเป็นปกติ เนื่องจากต้นทุนพลังงานลดลงสู่แนวโน้มระยะยาว และมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริงเป็นส่วนใหญ่ 

 

บริษัทยังคงเดินหน้าตามแผนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายในการมีกำลังการผลิตรวม 10 GW ภายในปี 2570 โดยส่วนใหญ่เป็นพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมาย Net Zero และปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนกำไรที่สำคัญในระยะยาว 

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาหุ้น BGRIM ปรับตัวลดลง 9%YTD สอดคล้องกับ SET (ลดลง 9%) แต่ Outperform หุ้นกลุ่มเดียวกัน (ลดลง 21%) ซึ่งมองว่าสะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกที่ตลาดมีต่อผลประกอบการของบริษัท แม้ว่า Sentiment ตลาดโดยรวมจะไม่สนับสนุนก็ตาม ด้านกลยุทธ์การลงทุน InnovestX Research ยังคงเรตติ้ง Neutral สำหรับ BGRIM ด้วยราคาเป้าหมาย 48 บาทต่อหุ้น อ้างอิงวิธี DCF

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ต้นทุนก๊าซสูงกว่าคาด และความล่าช้าในการปรับค่า Ft เพื่อชดเชยต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X