ฟุตบอลไทยลีกแม้จะยังเหลือการแข่งขันอีก 6 นัดจะจบฤดูกาล แต่ก็ตัดสินตำแหน่งสำคัญที่สุดคือแชมป์ประจำฤดูกาล 2020-21 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นทีม ‘บลู แมชชีน’ หรือเครื่องจักรสีน้ำเงิน บีจี ปทุม ยูไนเต็ด มหาอำนาจลูกหนังแห่งเมืองปทุมที่คว้าแชมป์ไปครอง
แชมป์ครั้งนี้ถือเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรกของสโมสร และเป็นแชมป์ประวัติศาสตร์เนื่องจากได้แชมป์เร็วที่สุด โดยที่ยังเหลือเกมการแข่งขันอีก 6 นัด โดยที่ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ยังมีโอกาสสร้างตำนานขั้นสุดยอดด้วยการคว้าแชมป์แบบไร้พ่าย ไม่นับว่าเป็นสโมสรที่ได้แชมป์ลีกสูงสุดของไทยเร็วที่สุดหลังใช้เวลาในการก่อตั้งสโมสรเพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น
ความสำเร็จนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และจะยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกเมื่อหวนมองย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พวกเขาอยู่ในจุดตกต่ำที่สุดถึงขั้นตกชั้นไปเล่นในระดับไทยลีก 2 ซึ่งหมายถึงพวกเขาใช้เวลา 1 ปีในการกลับมา และอีก 1 ปีสู่แชมป์
การคืนชีพที่ยิ่งใหญ่ราวกับนกฟีนิกซ์ที่เผาไหม้และกลับมีชีวิตใหม่จากเถ้าถ่านอีกครั้ง เกิดขึ้นได้อย่างไร?
มาลองถอดบทเรียนไปด้วยกัน
ภาพ: BG Pathum United /Facebook
1. ซูเปอร์ทีมออลสตาร์
ย้อนหลังกลับไปในช่วงของการตกชั้น (5 เหตุผลที่ทำให้ บางกอกกล๊าส เอฟซี ตกชั้น) หลายฝ่ายเป็นกังวลกับอนาคตของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ว่าจะกลายเป็นทีมยักษ์แพแตกหรือไม่ เพราะในช่วงนั้นพวกเขาเสีย ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ กองกลางตัวเก่งไปให้กับ โออิตะ ทรินิตะ สโมสรในเจลีกด้วย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือสโมสรเก็บแกนหลักของทีมเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ จุดนี้ทำให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่ลีกสูงสุดได้ภายในเวลาแค่ปีเดียว เพราะคุณภาพของทีมถือว่าดีกว่าระดับไทยลีก 2 มากอยู่แล้ว
นอกจากนี้ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ยังเดินหน้าต่อด้วยการเสริมทัพด้วยผู้เล่นระดับคุณภาพคับแก้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักเตะต่างชาติระดับท็อปคลาสอย่าง ดิโอโก หลุยส์ ซานโต, อันเดรส ตูนเญซ และตัวที่มาจากสายสัมพันธ์กับเซเรซโซ โอซากะ อย่าง มิตสึรุ มารุโอกะ รวมถึงสตาร์ทีมชาติไทยอย่าง สารัช อยู่เย็น, เจนรบ สำเภาดี, สิโรจน์ ฉัตรทอง และคนล่าสุดคือ ธีรศิลป์ แดงดา
เรียกได้ว่า บีจี ปทุม ยูไนเต็ด แทบจะกลายเป็นซูเปอร์ทีมของวงการฟุตบอลไทยที่แข็งแกร่งที่สุด เรื่องนี้แม้อาจจะถูกมองว่าใช้เงินเพื่อสร้างความสำเร็จก็ได้ แต่สิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการมีเงินให้ใช้คือการใช้เงินให้ถูกต้อง ซึ่ง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เสริมทัพได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกว่าจิ้มถูกตัว
ภาพ: BG Pathum United /Facebook
2. ความไว้วางใจในตัวโค้ช
บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เคยขึ้นชื่อว่าเป็นสโมสรที่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งโค้ชมากที่สุดทีมหนึ่ง (แม้ความจริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรของวงการฟุตบอลไทย) โดยในช่วงก่อนจะตกชั้นในฤดูกาล 2017 และ 2018 พวกเขามีการเปลี่ยนโค้ชมากถึง 5 คนด้วยกัน
แต่นับตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้วเป็นต้นมา บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ให้ ‘โค้ชโอ่ง’ ดุสิต เฉลิมแสน อดีตแบ็กซ้ายดาราเอเชียได้ทำทีมอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายให้โค้ชโอ่งใช้ประสบการณ์ที่เคยพาการท่าเรือและตราด เอฟซี เลื่อนชั้นกลับมาลีกสูงสุด
ปรากฏว่าโค้ชโอ่งพาทีมเลื่อนชั้นกลับมาได้จริง และกลายเป็นโค้ชคนแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรที่ได้อยู่คุมทีมจนครบจบฤดูกาล ทำให้ทางฝ่ายบริหารไว้วางใจให้โอกาสในการทำทีมต่อไปในฤดูกาลนี้
และผลลัพธ์ที่ได้ก็อย่างที่เห็น ทีมเป็นแชมป์ ซึ่งทำให้มีโอกาสจะอยู่คุมทีมต่อไปในฤดูกาลหน้าหากฟ้าไม่ผ่ากลางสโมสรก่อน
จุดนี้สำคัญเพราะในการทำงานจริงบางครั้งคนทำงานควรได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากในวงการฟุตบอลปัจจุบันเพราะราคาที่ต้องจ่ายสูง ผู้บริหารอาจจะอดทนรอความสำเร็จไม่ไหวหรืออดทนน้อยเกินไป
ภาพ: BG Pathum United /Facebook
3. ความตั้งใจของผู้บริหาร
ปัญหาคลาสสิกสำหรับวงการฟุตบอลไม่ว่าจะเมืองไทยหรือเมืองนอกคือการที่ผู้บริหารอาจจะมีความรัก ความชื่นชอบในเกมฟุตบอล แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจเกมฟุตบอล
และยากกว่านั้นต่อให้เข้าใจก็ไม่ใช่ผู้บริหารสโมสรทุกทีมจะทุ่มเทเต็มที่เกินร้อยให้กับสโมสร เพราะการลงทุนกับทีมฟุตบอลนั้นมันต้อง ‘เสียก่อนจะได้’ และมีความเสี่ยงที่จะ ‘เสียแล้วเสียอีก’
โชคดีสำหรับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ที่ผู้บริหารของสโมสรมีความตั้งใจจริงในการทำทีม ซึ่งวัดได้จากช่วงวิกฤตทีมตกชั้นที่มีจุดยืนชัดเจนในการรักษาแกนหลักของทีมเพื่อจะกลับมาเลื่อนชั้นให้ได้เร็วที่สุด และยังอนุมัติงบมากมายมหาศาลในการเสริมทัพผู้เล่น ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่สโมสรทุกแห่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนทำให้แฟนบอลไม่สามารถกลับเข้าสนามได้เหมือนยามปกติ
ระหว่างนั้นทีมก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่จากบางกอกกล๊าส เอฟซี มาเป็น บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นมากกว่าจะยึดติดกับบริษัท (ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่แม้แต่ลีกจีนเองก็มีกฎแบบเดียวกันทำให้หลายๆ ทีมต้องเปลี่ยนชื่อกันยกใหญ่)
เรียกได้ว่าเป็นการบริหารที่เริ่มต้นจากความรัก ความเข้าใจ และอยู่บนวิสัยทัศน์ที่ดี
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลหลักๆ ที่เราถอดบทเรียนแชมป์ของ ‘บลู แมชชีน’ ได้ ไม่นับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ปีโควิด-19 ที่ทำให้หลายสโมสรใหญ่ประสบปัญหา ไม่ว่าจะการเงินหรือการเตรียมทีม ซึ่งก็หยิบยกมาพูดคุยประกอบกันได้
แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือพวกเขาได้เป็นแชมป์ของไทย ด้วยผลงานเข้าขั้นมหัศจรรย์ และจะเป็นเรื่องราวให้แฟนบอลได้เก็บไว้เล่าให้ลูกหลานฟังได้ ไม่ต่างอะไรจากนิทานก่อนนอนเรื่องกระต่ายบนดวงจันทร์
ขอแสดงความยินดีด้วยอีกครั้งกับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด 🙂
และแน่นอนว่าเหล่าผู้เล่นคนที่ 12 ที่ยืนหยัดเคียงข้างทีมเสมอก็สำคัญไม่แพ้กัน
ภาพ: BG Pathum United /Facebook
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- ยังมีสถิติที่น่าสนใจอีกมากมายในแชมป์ของบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เช่น การสร้างสถิติชนะรวดติตต่อกันมากที่สุดถึง 11 นัด (25 ตุลาคม- 17 กุมภาพันธ์)
- แชมป์ไทยลีก เป็นแชมป์รายการที่ 5 ของสโมสรต่อจากถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ (2010), สิงคโปร์คัพ (2010), เอฟเอคัพ (2014) และแชมป์ไทยลีก 2 (2019)