×

ระวังพายุค่าเงิน

01.07.2024
  • LOADING...

ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นที่เป็นที่กล่าวขานกันมากคือประเด็นค่าเงินเอเชีย โดยเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 34 ปีที่ 160 เยน ทำให้สำนักข่าว Reuters เสนอข่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าเตรียมจะทำมาตรการดูดสภาพคล่อง (Quantitative Tightening: QT) ขนาดใหญ่ และอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อ และหยุดการไหลของค่าเงิน ด้านค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วหลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ วอนเกาหลี และรูปีอินเดีย อ่อนค่าลงแทบจะต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารกลางของอินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อพยุงค่าเงิน 

 

นอกจากสกุลเอเชียแล้ว ค่าเงินสกุลอื่นๆ ก็อ่อนค่าลงรุนแรงเช่นเดียวกัน ทั้งค่าเงินยูโร แคนาดา นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ไต้หวัน รูเปียห์อินโดนีเซีย ฟรังก์สวิส เปโซเม็กซิโก วอนเกาหลี ลีราตุรกี เปโซอาร์เจนตินา เรียลบราซิล ที่อ่อนลง 3.2-12.2% นับจากต้นปี ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนระดับกลางๆ ที่ 6.5% โดยล่าสุดอยู่ที่ 36.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

สาเหตุหลักที่เงินอื่นๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งเกินคาด ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจทำได้ช้าและน้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ (วัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือ PMI) ที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ยุโรป ที่เริ่มชะลอลงจากความกังวลการเมืองที่เพิ่มขึ้น โดยในสหรัฐฯ S&P Global US Composite PMI เพิ่มขึ้นเป็น 54.6 ในเดือนมิถุนายน จาก 54.5 ในเดือนพฤษภาคม สูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่ PMI ของยูโรโซนลดลงเหลือ 50.8 ในเดือนมิถุนายน จาก 52.2 ในเดือนพฤษภาคม โดย PMI ฝรั่งเศสลดลงมาอยู่ที่ 48.2 จากความไม่แน่นอน หลังมีการยุบสภาและเลือกตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ ขณะที่ PMI ของญี่ปุ่นลดลงเหลือ 50.0 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนีภาคบริการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองปี จากบริษัทต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นหลังเงินเยนอ่อนค่าลงรุนแรง ขณะที่ PMI ของอินเดียยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 60.9 จาก 60.5

 

แม้ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกนั้น เราจะมองว่าเป็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized Recovery) มากขึ้น โดยพัฒนาการการฟื้นตัวจะไล่มาจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ไล่มายุโรป และปัจจุบันคือเอเชีย โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกล่าสุดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียฟื้นตัวชัดเจนคล้ายในช่วงปี 2016-2018 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจอื่นๆ มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความเสี่ยงการเมืองในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ไม่สามารถได้เสียงเด็ดขาดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นเดือน ทำให้มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันเป็นไปได้ยากมากขึ้น หรือจะเป็นในฝรั่งเศสที่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก่อนครบกำหนดถึง 3 ปี ทำให้พันธบัตรฝรั่งเศสถูกเทขาย ซึ่งความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศอื่น ยกเว้นสหรัฐฯ (ในปัจจุบัน) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินทรัพย์ที่อื่นๆ ถูกเทขายและกลับไปถือดอลลาร์ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

 

นอกจากนั้น ความแตกต่างระหว่างนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ก็เป็นผลเช่นเดียวกัน การที่วัฏจักรดอกเบี้ยโลกกำลังเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลง โดยในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เริ่มลดดอกเบี้ยลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ (ลดแล้ว 2 ครั้ง) แคนาดา สวีเดน และยูโรโซน ต่างเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่อังกฤษจะลดดอกเบี้ยเดือนเมษายน ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เศรษฐกิจยังแข็งแกร่งกว่า แม้จะเริ่มชะลอลงในช่วงหลัง วัดจากตัวเลขสำคัญ เช่น ยอดค้าปลีก คำสั่งซื้อสินค้าคงทน และ GDP ไตรมาส 1 แต่ก็ยังแข็งแกร่งกว่าที่อื่นๆ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าที่อื่นๆ (เงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ที่ 3.3% ยุโรปอยู่ที่ 2.6%) ทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง โดยจะลดในช่วงปลายปี แต่การที่ประเทศอื่นๆ เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่ากว่าที่อื่นๆ 

 

ในส่วนค่าเงินบาทในปี 2024 ที่ปัจจุบันอ่อนค่าลงประมาณ 6.5% นับจากต้นปีนั้น เรามองว่าบาทจะอ่อนค่าลงอีกสู่ 37.5 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 3 จากดอลลาร์ที่แข็งค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง แต่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง (ช่วงปลายไตรมาส 3) ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดเริ่มมองว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งจะทำให้บาทแข็งค่าขึ้นได้ในไตรมาส 4 ท่ามกลางดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่จะสมดุล (จากดุลการค้าที่ขาดดุลแต่ดุลบริการเกินดุล) โดยบาทอาจแข็งค่ารุนแรงไปอยู่ที่ประมาณ 34.5 บาทต่อดอลลาร์

 

ขณะที่ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นทำ QT และขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ท่ามกลางแนวโน้มดอลลาร์ที่จะเริ่มอ่อนค่าลง จะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นอกจากนั้น เรามองว่าค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อยเพื่อช่วยเศรษฐกิจ (ปัจจุบันอ่อนลง 1.7% YTD) ซึ่งเยน / หยวนที่อ่อนจะเป็นแรงกดดันให้บาทยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ เรามองว่าความผันผวนของค่าเงินบาทจะเพิ่มขึ้นจากมุมมองของตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ

 

แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นมุมมองของเราที่คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าต่อไปอีกในไตรมาส 3 ก่อนอ่อนค่าลง แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะค่าเงินทั่วโลกจะผันผวนมากขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลกและการเมืองในสหรัฐฯ ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังเข้าสู่ช่วงเข้มข้น ซึ่งการประกาศนโยบายของผู้สมัครทั้งสอง (ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) จะทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น นักธุรกิจและนักลงทุนที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับเงินตราระหว่างประเทศต้องระวังและป้องกันความเสี่ยงค่าเงินอย่างเคร่งครัด

 

ขอให้นักลงทุนโชคดี

 

ภาพ: Hiroshi Watanabe / Getty Images

FYI
  • รวมทุกช่องทาง InnovestX Official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก: https://linktr.ee/InnovestX
  • เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน ดาวน์โหลดเลย คลิก: https://innovestx.onelink.me/23if/bywa6d5r
  • ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก: https://bit.ly/respublisher
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising