×

BEPS 2.0 ผลกระทบและความท้าทายจากการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีทั่วโลก

03.12.2021
  • LOADING...
BEPS 2.0

จากบทความที่แล้วเรื่อง ภาษีกับความท้าทายหลังยุคโควิด-19 ได้กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีกรอบความร่วมมือทางภาษี หรือ Inclusive Framework กับประเทศอื่นๆ อีกหลายร้อยกว่าประเทศทั่วโลกในปี 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาที่บริษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษีโดยวิธีกัดกร่อนฐานภาษีและเคลื่อนย้ายกำไร หรือ Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) โดยมีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกมาตรการ 15 ข้อ (15 BEPS action points) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม OECD เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการศึกษาหนทางผสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบแนวทางที่เรียกว่า BEPS 2.0 เพื่อพิชิตความท้าทายด้านการจัดเก็บภาษีในโลกยุคดิจิทัลและข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา OECD ประเทศกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่และสหภาพยุโรป (หรือ G20) และประเทศภาคี Inclusive Framework (รวมถึงประเทศไทย) ได้เห็นชอบร่วมกันให้มีการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีทั่วโลก โดยยึดตามกฎเกณฑ์ภายใต้ BEPS 2.0 ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างจากการแก้ไขกฎหมายภาษีเงินได้ของประเทศที่ร่วมลงนามทั่วโลกในอนาคตอันใกล้

 

BEPS 2.0 ถือได้ว่าเป็น Game Changer หรือสิ่งที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมของกลุ่มบริษัทข้ามชาติทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงแนวทางการวางแผนภาษีที่เคยมีในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง โดย BEPS 2.0 ตั้งอยู่บนสองเสาหลัก (Two Pillars) ดังนี้

 

  • เสาหลักแรก หรือ Pillar One เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ริเริ่มแนวคิดใหม่ให้แต่ละประเทศมีสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีโดยไม่ต้องคำนึงว่ามีตัวตนในทางกายภาพ (Physical Presence) ในประเทศดังกล่าว เช่น มีบริษัท สาขา หรือผู้ทำการแทนดังในอดีต 
  • กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้จากงบการเงินรวมมากกว่า 2 หมื่นล้านยูโร จะต้องมีการแบ่งสรรกำไรเพิ่มอีกร้อยละ 25 ในส่วนที่มีอัตราการทำกำไรก่อนภาษีเกินจากร้อยละ 10 ให้กับประเทศที่ทำการตลาดและขายกับลูกค้าปลายทาง (End Customers) ตัวอย่างเช่น ถ้ากลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้าเงื่อนไขและมีบริษัทลูกในไทยเป็นผู้ทำการขายและการตลาดกับลูกค้าในประเทศไทย (Market Jurisdiction) จะมีการแบ่งสรรกำไรจากบริษัทแม่ให้กับบริษัทลูกในไทยเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยจะได้ภาษีมากขึ้นจาก Pillar One
  • ในทางกลับกันบริษัทข้ามชาติจากประเทศไทยที่มีบริษัทลูกอยู่ต่างประเทศและเข้าเงื่อนไข Pillar One ก็ต้องแบ่งสรรกำไรและจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นใน Market Jurisdiction ที่บริษัทลูกดำเนินการขายและการตลาดให้กับ End Customers
  • ในส่วนของเสาหลักที่สอง หรือ Pillar Two เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศให้มีการกำหนดจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม (Top Up Tax) หากอัตราภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ซึ่งพิจารณาจากอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ในแต่ละประเทศนั้นต่ำกว่าร้อยละ 15
  • ตัวอย่างเช่น ถ้ากลุ่มบริษัทข้ามชาติของต่างประเทศมีรายได้จากงบการเงินรวมเกินกว่า 750 ล้านยูโร และมีบริษัทลูกอยู่ที่ประเทศไทยที่มีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่าร้อยละ 15 (อาจจะเนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI หรือมีการใช้ขาดทุนสะสม เป็นต้น) รัฐในประเทศแม่สูงสุดจะสามารถยื่นมือเข้ามามีอำนาจจัดเก็บภาษีจากกำไรในประเทศไทยเพื่อให้อัตราภาษีที่แท้จริงเป็นร้อยละ 15 
  • ในทางกลับกัน บริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทแม่สูงสุดอยู่ที่ประเทศไทยและมีบริษัทลูกอยู่ต่างประเทศพร้อมทั้งเข้าเงื่อนไข Pillar Two กรมสรรพากรไทยมีสิทธิ์ที่จะจัดเก็บภาษีถ้าบริษัทลูกที่อยู่ต่างประเทศโดยรวมมีอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่าร้อยละ 15 

 

ทั้งนี้ OECD อยู่ในระหว่างการพัฒนากฎเกณฑ์และวางแนวทางประกอบกับเงื่อนไขให้แต่ละประเทศแก้ไขกฎหมายภาษี รวมไปถึงอนุสัญญาภาษีซ้อน โดยมีกำหนดเวลาภายในต้นปี 2565 สำหรับ Pillar One และปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 สำหรับ Pillar Two

 

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางภาษี ขอสรุปผลกระทบและความท้าทายจาก BEPS 2.0 ในสามประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

 

1. ความไม่แน่นอนในการกำหนดต้นทุนทางภาษีของการดำเนินธุรกิจข้ามชาติ

BEPS 2.0 ประกอบด้วยกฎเกณฑ์ที่บรรดาประเทศภาคีต้องปฏิบัติตามภายใต้ข้อตกลงพหุภาคี (Multilateral Agreement) ซึ่งจะมีผลในการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนที่มีอยู่ระหว่างประเทศ รวมไปถึงกฎเกณฑ์ภายใต้กฎหมายภาษีในแต่ละประเทศ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปัจจุบันที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมีขึ้นช้าเร็วต่างกันในแต่ละประเทศ รวมถึงเงื่อนไขที่กำหนดอาจมีเนื้อหาและความละเอียดที่ต่างกัน ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบจาก BEPS 2.0 ในการทำธุรกรรมในแต่ละประเทศ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การจัดโครงสร้างการลงทุนและเคลื่อนย้ายเงินลงทุน รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายกำไรระหว่างประเทศ เมื่อคำนึงถึงต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นจากสิทธิในการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มมากขึ้นของหน่วยงานจัดเก็บภาษีในแต่ละประเทศ และความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างกันของแต่ละประเทศ (Exchange Of Information)

 

2. ความท้าทายของแต่ละประเทศในการกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ทางภาษีสำหรับบริษัทข้ามชาติ

ด้วยเหตุที่กฎเกณฑ์และเงื่อนไขรวมไปถึงการปรับใช้ BEPS 2.0 มีความละเอียดและซับซ้อน ทั้งในเชิงนโยบายและทางปฏิบัติ หน่วยงานจัดเก็บภาษีในแต่ละประเทศจึงอยู่ในช่วงที่เผชิญความท้าทายและแรงกดดันทางการเมืองในระดับระหว่างประเทศ ในการแก้ไขกฎหมายภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในทางที่สอดคล้องกับข้อตกลงภายใต้กรอบ BEPS 2.0 ซึ่งอาจมีผลกระทบเป็น Domino Effect ไปยังการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของบริษัทข้ามชาติในประเทศ

 

3. ความเป็นไปได้ของข้อพิพาททางภาษีที่จะเพิ่มมากขึ้น

เนื่องด้วย BEPS 2.0 เป็นเรื่องใหม่ทั้งในฝั่งของหน่วยงานจัดเก็บภาษีและผู้เสียภาษี โอกาสในการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศและการเกิดข้อพิพาททางภาษีเป็นไปได้ว่าจะมีเพิ่มสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนของการพิจารณาและตีความเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ภายใต้ BEPS 2.0 รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานจัดเก็บภาษีในการตรวจสอบและประเมินผู้เสียภาษี

 

ในฝั่งขององค์กรธุรกิจที่เป็นผู้เสียภาษี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบขนานใหญ่จาก BEPS 2.0 ที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ โดยลองเอา Design Thinking Framework มาประยุกต์ใช้

 

  • Empathize: โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงกฎเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้ BEPS 2.0 ในรายละเอียด
  • Define: โดยประเมินผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ทั่วโลกในภาพรวมต่อ Supply Chain และ Operating Model เพื่อกำหนดแนวทางในเชิงนโยบายและทางปฏิบัติด้านภาษีต่อกลุ่มบริษัท ควรใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน บัญชี และภาษี (Data & Analytics) เช่น ข้อมูลจาก Country-By-Country Reporting ที่มีการส่งกรมสรรพกรในปีที่ผ่านมา 
  • Ideate: โดยกำหนดแนวทางการบริหาร ปรับโครงสร้างองค์กรและการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอน และจากต้นทุนทางภาษีที่อาจเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 
  • Prototype: โดยทำ Financial Model/Simulation ขึ้นมาดูเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบในอนาคตจากการปรับรูปแบบโครงสร้างและธุรกิจต่างๆ ตลอดจนจัดเตรียมข้อมูล ข้อสรุปของการศึกษาผลกระทบ (รวมไปถึงการคำนวณที่เกี่ยวข้อง) และแนวทางของกลุ่มบริษัทเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนภาษีและบริหารความเสี่ยงทางภาษี และข้อพิพาททางภาษีที่อาจเกิดขึ้นในการตรวจสอบภาษีของหน่วยงานจัดเก็บภาษีในแต่ละประเทศ (Documentation and Substantiation)
  • Test: เริ่มมีการดำเนินการโครงสร้างธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ใหม่ก่อนที่ Pillar One และ Pillar Two มีการบังคับใช้ (OECD มีแผนที่จะเริ่มใช้เบื้องต้นในปี 2566) 

 

เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจ ทาง เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างและเงื่อนไขเบื้องต้นของ BEPS 2.0 เท่านั้น ในรายละเอียด เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีคณะทำงานที่ปรึกษาภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญประสบการณ์ และเครื่องมือในการให้คำปรึกษาองค์กรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในการศึกษาและรับมือผลกระทบจาก BEPS 2.0 ล่วงหน้า

 

ที่ได้กล่าวมาเป็นภาพรวมของ BEPS 2.0 อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจและบริษัทข้ามชาติยังคงต้องจับตาความเคลื่อนไหวและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีในประเทศไทยและต่างประเทศที่จะได้รับผลกระทบจาก BEPS 2.0 หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising