วันนี้ (1 สิงหาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา เบญจา แสงจันทร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามกรณีแผนการแก้ไขปัญหาความเชื่อมโยงของ ปตท. และ ปตท.สผ. ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ตอบ และได้ขอเลื่อนการตอบกระทู้ออกไปด้วย
ทำให้เบญจาลุกขึ้นอภิปรายว่า ตนตั้งใจถามนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทยเสนอตัวเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ท่ามกลางสถานการณ์สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของไทยที่ยังตกต่ำและยังอ้ำอึ้ง ลับๆ ล่อๆ ต่อสถานการณ์การก่ออาชญากรรมสงคราม และการเข่นฆ่าประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านของเรา
เบญจากล่าวต่อไปว่า ไม่ได้แปลกใจ แต่ผิดหวังต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เดียวที่จะตัดสินใจต่อการดำเนินงานของ ปตท. และ ปตท.สผ. ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่ง และถูกกล่าวหาว่ามีเอี่ยวในการสนับสนุนเงินทุนให้ทหารเมียนมาซื้ออาวุธทำสงครามปราบปรามประชาชน ซึ่งสภาจะเป็นพื้นที่ให้นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อประชาชนและสังคมโลก
“เวลานี้องค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติพยายามใช้มาตรการทุกวิถีทางเพื่อแสวงหาสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา ทั้งการประณาม คว่ำบาตร กดดัน แต่ประเทศไทยที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของเมียนมาได้พยายามทำอะไรแล้วหรือยังในวันนี้ ซ้ำร้ายสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอาจเป็นการบั่นทอนสิ่งที่นานาชาติกำลังแก้ไขปัญหานี้” เบญจากล่าว
เบญจาระบุต่อไปว่า กลไกสำคัญที่ทำให้ทหารเมียนมายังทำสงครามอยู่ได้ ไม่ใช่เพียงธนาคารพาณิชย์ไทยเท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของกองทัพเมียนมา แต่ยังมีรัฐวิสาหกิจไทยที่รัฐบาลถือหุ้นอย่าง ปตท. และ ปตท.สผ. ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนกองทุนให้รัฐบาลทหารเมียนมา ผ่านการจ่ายเงินค่าก๊าซจากการลงทุนในโครงการที่ตั้งอยู่ในเมียนมา
“ดิฉันอยากฟังคำตอบจากท่านนายกรัฐมนตรีว่าจะหยุดส่งเงินให้รัฐบาลทหารเมียนมาได้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้รายได้ทั้งหมดนี้รั่วไหลไปสู่คณะรัฐประหาร และกลายเป็นเครื่องมืออาวุธในการใช้เข่นฆ่าประชาชน” เบญจากล่าว
เบญจากล่าวด้วยว่า พรรคก้าวไกลเองมีคดีอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และจะวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 แม้ตนเองจะเชื่อมั่นในข้อต่อสู้ของพรรค และจะไม่ถูกยุบพรรคตามที่สังคมตราไว้ แต่อย่างที่ประชาชนทราบกันดีว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ การอภิปรายครั้งนี้จึงอาจเป็นครั้งสุดท้ายในสภาก็เป็นได้
“จนถึงวินาทีนี้ ดิฉันไม่ได้เสียดายเลยที่อาจไม่ได้ทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ต่อไป แต่จะเสียดายอย่างมากที่ในวินาทีที่ดิฉันยังสามารถทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้แทนพี่น้องประชาชนได้อยู่ แต่ดิฉันไม่สามารถแสวงหาหนทางสร้างสันติสุขให้กับเพื่อนมนุษย์ได้ ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นความเป็นประชาธิปไตยให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้” เบญจากล่าว
เบญจาทิ้งท้ายว่า จะมีโอกาสสักกี่ครั้งที่จะสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ ตนคิดว่านี่คือโอกาสนั้น จึงขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีโดยหวังว่าท่านจะรับฟังเสียงนั้น ปัญหาในเมียนมาเป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าพรรคก้าวไกล แต่เป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อมวลมนุษยชาติ จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย อย่าให้เงินทุกบาทของประชาชนไทยกลายเป็นเครื่องมือเข่นฆ่าประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่เบญจาอภิปราย มี สส. พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วง เช่น วิสุทธิ์ ไชยณรุณ และ ไชยวัฒนา ติณรัตน์ เพื่อขอให้สมาชิกระมัดระวังในการกล่าวถึงประเด็นที่พาดพิงต่างประเทศ พร้อมชี้ว่า หากจะพูดถึงเรื่องนี้จริงก็ควรเป็นการประชุมแบบลับ