×

Ben & Jerry’s ประกาศยุติการขายไอศกรีมในปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล อ้าง ‘ขัด’ ต่อคุณค่าทางสังคม

26.07.2021
  • LOADING...
Ben & Jerry’s

หลังเกิดการปะทะช็อกโลก 11 วันในดินแดนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครั้งล่าสุด ที่ลากยาวมาจากการประท้วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนบั่นทอนระบบเศรษฐกิจอิสราเอลอย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกันการปะทะครั้งนั้นก็เป็นการชี้นัยสำคัญให้กับกลุ่มธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาเปิดตลาดที่นี่ว่าต้อง ‘เลือกข้าง’ ให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นอาจต้องตกอยู่ในความลำบาก 

 

ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทไอศกรีมชื่อดังสัญชาติอเมริกันอย่าง Ben & Jerry’s ได้ออกมาแถลงว่าจะยุติการขายไอศกรีมในดินแดนของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง (Occupied Territories) โดยจะวางขายจนถึงปลายปี 2022 จนครบสัญญากับแฟรนไชส์โดยไม่มีการต่อสัญญาอีก

 

Ben & Jerry’s ให้เหตุผลว่า การดำเนินกิจการในพื้นที่ดังกล่าว (ในที่นี่คือเขตเวสต์แบงก์และฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นเขตนิคมตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเขตปาเลสไตน์) ไปขัดต่อคุณค่าทางสังคมที่แบรนด์ยึดมั่นมาตลอด จึงตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจหลังเข้ามาบุกตลาดในอิสราเอลได้ 34 ปี นับตั้งเเต่ปี 1987 

 

ทั้งนี้ Ben & Jerry’s ซึ่งอยู่ในเครือ Unilever เป็นที่รู้จักกันดีในการสนับสนุนแนวคิด ‘ประชานิยมฝ่ายซ้าย’ ซึ่งตรงข้ามกับทิศทางบ้านเกิดอย่างสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำด้านขวาประชานิยมเกือบเต็มตัว 

 

เห็นได้จากในเดือนมิถุนายน ปี 2020 บริษัทชี้แจงว่า ได้ผันงบส่วนหนึ่งที่เดิมใช้หนุนกรมตำรวจ เอาไปลงทุนในการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ, การรักษาสันติภาพและความปลอดภัย ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน

 

ประกอบกับก่อนหน้านี้บริษัทได้ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านความรุนแรงในคนผิวดำครั้งใหญ่อย่าง Black Lives Matter โดยมีการยื่นหนังสือถึงประธานาธิบดี โดนัลด์  ทรัมป์ ให้มีการยกเลิกแนวคิด White Supremacy ที่ทรัมป์สนับสนุนอยู่ ซึ่งว่าด้วยเรื่องของชาติพันธุ์คนผิวขาวต้องได้รับมีสิทธิพิเศษและอยู่เหนือคนเชื้อสายอื่น ชนชาติอื่น  

 

ต่อมาในเดือนธันวาคม บริษัทก็ได้ออกไอศกรีมรสชาติใหม่ที่ชื่อว่า Change the Whirled โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก โคลิน เคเปอร์นิก นักฟุตบอลผิวสีที่คุกเข่าต่อหน้าธงชาติสหรัฐฯ ก่อนการแข่งขัน เพื่อแสดงจุดยืนทางสัญลักษณ์ว่าอยากให้คนผิวสีได้รับความยุติธรรม แต่หลังจากนั้นก็ต้องหมดอนาคต โดนฉีกสัญญาจากทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนท์เนอร์สไป 

 

การออกมาประกาศยุติกิจการในอิสราเอลครั้งนี้ของ Ben & Jerry’s ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ หลังหลายปีก่อนหน้ามีแฟนคลับหลายคนออกมาเตือนถึงการดำเนินธุรกิจในอิสราเอล โดยเฉพาะในเขตเวสต์แบงก์ที่เป็นข้อพิพาทว่าเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติของอิสราเอล

 

ท่าทีสำคัญครั้งนี้แสดงออกถึงจุดยืนของ Ben & Jerry’s ที่อยู่ข้างชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มตัว และไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลที่ขัดแย้งต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เคียงข้างเสรีนิยม

 

อย่างไรก็ดี Ben & Jerry’s ระบุว่า ไอศกรีมของบริษัทจะยังคงวางจำหน่ายอยู่ในอิสราเอลต่อไป แต่อยู่ในการจัดการที่ต่างออกไป ส่วนรายละเอียดนั้นจะแจ้งให้กับลูกค้าต่อไปในอนาคต

 

หลังเรื่องนี้ประกาศออกไป ก็มีบรรดานักการเมืองอิสราเอลจำนวนมากออกมาถล่มแบรนด์จนย่อยยับ ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่าง นัฟตาลี เบนเนตต์ ที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า Ben & Jerry’s ต้องเรียกแบรนด์ตัวเองว่าเป็น Anti-Israel Icecream พร้อมส่งสัญญาณไปถึงซีอีโอของ Unilever ว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะต้องมีผลกระทบในทางกฎหมายและอื่นๆ ที่ร้ายแรงตามมา

 

อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อเยเลต เช็ก ที่ออกมาโพสต์เหยียดหยามแบรนด์บนทวิตเตอร์ ว่า “ไอศกรีมคุณมันไม่ถูกปากพวกเรา” และ “เราจัดการได้โดยไม่ต้องมีคุณ”

 

3 วันถัดมาเรื่องนี้ก็ร้อนถึงแม่ทัพใหญ่อย่าง Unilever อาณาจักรที่ดูแล Ben & Jerry’s ทำให้ผู้บริหาร อลัน โจป ต้องออกมาแถลงการณ์ถึงกรณีนี้ ระบุว่า

 

“การประกาศของ Ben & Jerry’s เป็นการตัดสินใจของบริษัทลูกเอง Unilever ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น โดยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการที่ทำร่วมกันตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา” พร้อมย้ำว่า “Unilever จะยังคงดำเนินธุรกิจในดินแดนอิสราเอลต่อไป”

 

สำหรับความหนักใจของการดำเนินธุรกิจในดินแดนแห่งความขัดเเย้งนี้ Ben & Jerry’s ก็ไม่ใช่แบรนด์แรกที่ต้องเผชิญ โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2018 Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ได้วางแผนที่จะไม่ให้นำที่พักในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งอิสราเอลอ้างว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของตัวเอง มาลงให้เช่าในแพลตฟอร์มเช่นกัน

 

สำหรับจุดเริ่มต้นของฉนวนความขัดแย้งของดินแดนนี้เกิดจากปมการแบ่งเขตแดนในเยรูซาเล็มที่ไม่ลงตัวของชาวอาหรับ (ปาเลสไตน์) เเละชาวยิว (อิสราเอล) ที่มีมาช้านานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1  

 

แต่การปะทะครั้งล่าสุดนี้ย้อนกลับไปเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว หลังศาลเยรูซาเล็มตัดสินให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 12 ครอบครัว ในย่านชีค จาร์ราห์ ย้ายออกจากที่อยู่อาศัยภายในวันที่ 2 พฤษภาคม เมื่อครบกำหนดเส้นตาย กองกำลังอิสราเอลได้จู่โจมบ้านเรือนเหล่านั้นโดยใช้วิธีรุนแรงให้คนออกมา 

 

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก ต่อมาเริ่มมีการรวมตัวของชาวปาเลสไตน์ที่ทางเข้ามัสยิดอัลอักซอเพื่อทำพิธีละหมาด แต่ถูกทางการอิสราเอลปิดกั้นไม่ให้เข้า สร้างความไม่พอใจและเกิดการประท้วงที่ลุกลามจนเป็นการโจมตีที่รุนแรงในเวลาต่อมาระหว่างกลุ่มฮามาสที่ปกป้องชาวอาหรับและอิสราเอล สร้างความเสียหายและความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ตลอด 11 วันเต็ม 

 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศ ตนยืนเคียงข้างอิสราเอลมาช้านาน พร้อมทั้งมีส่วนขายอาวุธนำวิถีรุ่นใหม่ให้กับอิสราเอล เพื่อใช้ในการตอบโต้กลุ่มฮามาสด้วย 

 

เรื่องนี้ย้ำได้จากประโยคเด็ดตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ในงานเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพของอิสราเอลประจำปี ครั้งที่ 67 ณ กรุงเยรูซาเล็ม ว่า “ผมชื่อ โจ ไบเดน และทุกคนรู้ว่าผมรักอิสราเอล” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X