“กูปิดมึงเปิดกูเปิดมึงปิด กูปิดมึงเปิดมึงเปิดกูปิด”
“อีเหี้……….. อีสั………. อีดอกกกกกกก”
คำด่าทั้งหลายนี้ แม้พิมพ์ออกมาแล้วอาจจะดูไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่เชื่อเถอะว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้ดู เบน-ชลาทิศ ตันติวุฒิ พ่นมันออกมาอย่างพรั่งพรูในรายการ ล้างตู้เย็น พร้อมๆ กับการโชว์เสน่ห์ปลายจวักหรือทะเลาะกับรถเข็นอาหารบนเครื่องบินคงจะหักห้ามใจไม่ให้ยิ้มและเผลอหลุดหัวเราะออกมาไม่ได้
ใครจะไปคิดว่าบทสนทนาในวงสังสรรค์กับคนสนิทเมื่อ 2 ปีที่แล้วของเบนจะเดินทางมาไกลจนกลายเป็นรายการอาหารที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดรายการหนึ่งบนโลกออนไลน์ มีสปอนเซอร์รุมล้อมแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย ถึงขนาดที่เจ้าตัวเอ่ยปากบอกกับเราว่าการทำรายการล้างตู้เย็น คือช่องทางรายได้หลักแซงหน้าการร้องเพลงไปแล้ว!
บ่ายวันหนึ่งที่อากาศในกรุงเทพฯ ร้อนเกินจะบรรยาย เรามีนัดกับเบนที่ออฟฟิศบริษัท Gooddeal Entertainment ย่านพร้อมพงษ์ แม้จะสังเกตเห็นความอ่อนเพลียจากการถ่ายรายการตลอดวัน ทั้งยังต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าช่วยประคองแขกรับเชิญ ไปจนถึงคราบเปื้อนน้ำผลไม้บนเสื้อที่เกิดขึ้นด้วยความทุ่มเทล้วนๆ แต่ศิลปินความสามารถจัดจ้านวัย 36 ปีผู้นี้ก็ยังคงยิ้มแย้มต้อนรับพวกเราด้วยน้ำเสียงที่เป็นกันเองทันทีที่เรากล่าวทักทายกัน
ตลอดบทสนทนาในครั้งนี้นอกจากจะทำให้เราได้ทราบเรื่องราวที่ไปที่มาและเบื้องหลังความสำเร็จของรายการล้างตู้เย็นแล้ว เรายังได้เรียนรู้ว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เบนยังต้องผ่านอะไรมามากมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด เขาไม่เคยหลอกความรู้สึกตัวเองหรือเลี่ยงการมองดูโลกแห่งความเป็นจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว…
เราแค่รู้สึกว่าอยากทำรายการที่ไม่ซีเรียส ถ้าพูดถึงเรื่องรายการทำอาหาร ทำไมทุกคนต้องซีเรียสเรื่องเตรียมวัตถุดิบ
รายการล้างตู้เย็นเกิดขึ้นได้อย่างไร
คือจริงๆ มันเกิดมาจากวงเหล้า (หัวเราะ) ที่ผมกับคุณชัช (ชัชวาล วิศวบำรุงชัย ครีเอทีฟคอนเสิร์ต) เราค่อนข้างจะสนิทกันและแฮงเอาต์กันบ่อยๆ พอเสร็จงานต่างคนก็จะมานั่งแชร์ว่าไปทำอะไรมาบ้าง วันหนึ่งเราก็คิดขึ้นมาว่าน่าจะทำรายการเยี่ยมบ้านแขกรับเชิญแล้วไปขุ้ยๆ ตู้เย็นเขามาทำอาหารชื่อรายการ ‘ล้างตู้เย็น’ แล้วหลังจากนั้นมันก็กลายเป็นการคุยเล่นกัน กระทั่งทั้งชัชและโค้ด (อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล) ก็ติดต่อเรามาว่าอยากจะทำรายการนี้ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งเขาก็อยากให้เรามามีส่วนร่วม
คิดไว้ว่ารูปแบบรายการจะผ่อนคลายๆ ไม่ได้ซีเรียสจริงจังมาตั้งแต่แรก
ใช่ (ตอบเร็วมาก) เราแค่รู้สึกว่าอยากทำรายการที่ไม่ซีเรียส ถ้าพูดถึงเรื่องรายการทำอาหาร ทำไมทุกคนต้องซีเรียสเรื่องเตรียมวัตถุดิบ ต้องพูด “สวัสดีครับคุณผู้ชมครับ” เรารู้สึกว่ามันมีรายการทำอาหารในประเทศไทยเป็น 100 กว่ารายการ แล้วรูปแบบรายการมันก็เหมือนๆ กัน แค่เปลี่ยนหน้าพิธีกรและพ่อครัว ถ้าเราจะมีรายการเป็นของตัวเอง เราอยากให้มันเป็นรายการที่พูดถึงความเป็นตัวเรา
ยุคปัจจุบันมันไม่จำเป็นจะต้องไปอยู่ในสื่อใหญ่ๆ อย่างเดียว มันมีช่องทางโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราอยู่ใกล้ชิดกับคน สื่อสารได้เร็วมากขึ้นและเข้าถึงง่ายกว่าเดิม ซึ่งถ้าเราเข้าไปอยู่ในจุดที่คนสามารถดูเราได้ตลอดเวลา อยากดูเมื่อไรก็ได้ดู เราก็อยากเป็นเหมือนเพื่อนหรือพี่น้องที่สนิทสนมมาคุยกับเขามากกว่าที่จะมา “สวัสดีครับ สบายดีหรือเปล่าครับ?” (เก๊กเสียง) เราอยากจะ “เฮ้ย เป็นยังไงมึง” เหมือนเวลาอยู่กับน้องหรือเพื่อนที่เราสนิท รูปแบบรายการมันเลยค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัวมากๆ เป็นรายการที่ไม่เหมาะสำหรับคนที่ไม่สนิทกับเรามาดู
ถ้าเราจะมีรายการเป็นของตัวเอง เราอยากให้มันเป็นรายการที่พูดถึงความเป็นตัวเรา
ช่วงที่คิดรายการขึ้นมา คุณคิดจากความเป็นตัวเองหรือคิดจากสิ่งที่มีหรือไม่มีในตลาดรายการทำอาหาร
มันมาจากตัวตนของเรามากกว่า เราแค่เป็นคนที่ชอบกินมาก ถ้าคนที่สนิทกับเราจะรู้ว่าเราเป็นคนสรรหากิน ไปกินทุกที่ที่ใครบอกว่าอร่อย ใครบอกไม่อร่อยก็ต้องไปกิน ใครบอกแพงก็จะกิน คืออยากจะกินทุกอย่าง เราเป็นคนค่อนข้างที่จะอยู่ใกล้ชิดกับการทำอาหารเพราะแฟนเราเขาก็ชอบทำอาหาร
เทปแรกที่คุณต้องไปค้นตู้เย็นบ้านแขกรับเชิญแล้วเอาวัตถุดิบมาทำอาหารจริงๆ รู้สึกมั่นใจหรือเปล่า
ไม่มั่นใจเลย (น้ำเสียงอ่อนลง) เมื่อก่อนเราเป็นคนชอบกินและชอบคุยกับเพื่อน แต่ไม่ได้เป็นคนทำ แล้วพอถึงเวลาที่เราต้องมาทำอาหารจริงๆ มันก็ไม่มั่นใจ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ท้าทายและสนุกดีเหมือนกันครับ
เราทำอยู่ได้ประมาณ 1 ปีก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นตัวเรา ทำไมในทุกๆ วันที่เราจะต้องไปถ่ายรายการ เรารู้สึกว่าไม่อยากไป มันมีความรู้สึกว่าเราไม่อยากคุยกับแขกรับเชิญ เรามีความรู้สึกว่าการทำงานบางอย่างที่มันต้องฝืนตัวเองมากเกินไปมันไม่สนุกสำหรับเรา
ถ้าสังเกตที่ผ่านมาคุณก็เคยผ่านการทำรายการกับช่องสถานีหลักๆ มาก่อน พอต้องมาทำรายการรูปแบบนี้ด้วยตัวเอง (ออนแอร์บนโซเชียล) ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
มีหลายรายการที่เราเคยทำไม่ว่าจะเป็นกรรมการตัดสินในรายการต่างๆ รวมถึงได้เป็นพิธีกรหลักในรายการ BIG BEN SHOW ทางช่องเวิร์คพอยท์ (2558) เราทำอยู่ได้ประมาณ 1 ปีก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นตัวเรา ทำไมในทุกๆ วันที่เราจะต้องไปถ่ายรายการ เรารู้สึกว่าไม่อยากไป มันมีความรู้สึกว่าเราไม่อยากคุยกับแขกรับเชิญ ไม่อยากต่อเพลงที่เราไม่อยากต่อ คือเรามีความรู้สึกว่าการทำงานบางอย่างที่มันต้องฝืนตัวเองมากเกินไปมันไม่สนุกสำหรับเรา หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้ทำ BIG BEN SHOW ต่อ
รวมไปถึงวันหนึ่งที่เราได้ไปเป็นกรรมการในหลายๆ รายการมากเสียจนรู้สึกว่ามันก็เป็นแพตเทิร์นแพตเทิร์นเดียวกัน ต้องพูดอะไรแรงๆ เพื่อให้มันมีประเด็นในสังคม รายการจะได้มีเรตติ้ง สุดท้ายเรารู้สึกว่าก็ไม่เห็นจะมีรายการไหนที่ทำให้เราได้ต่อยอดอะไร มันเริ่มมีความรู้สึกอิ่มตัวกับอะไรพวกนี้ แต่พอเราได้มาล้างตู้เย็นมันทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นตัวเองมากๆ เป็นตัวเองในด้านที่คนอื่นอาจจะไม่เคยเห็น อาจจะไม่สุภาพและไม่ใช่ด้านที่ทุกคนควรจะเห็น แต่เรามีความรู้สึกว่าจุดแข็งของรายการล้างตู้เย็นคือการคุยกับเพื่อน เป็นรายการที่ทำให้เพื่อนดู มันไม่จำเป็นต้องมาเน้นเรื่องทำอาหารหรือเรื่องกิน ถ้าใครได้ดูก็จะรู้สึกว่าได้ดูเพื่อนหรือพี่ที่สนิทคุยกับเรา ซึ่งอาจจะพอช่วยทำให้เขาหายเหงาได้บ้าง
แสดงว่าทุกวันนี้ไม่มีความรู้สึกว่ามาทำงานแล้วเบื่อ หรือไม่อยากทำอีก
ใช่ คือเมื่อก่อนถ้าถามแฟนผมจะรู้เลยว่าผมไม่อยากเจอแขกรับเชิญคนนี้ ไม่อยากคุยกับคนนี้ ขนาดผมอยู่บ้านผมยังไม่ค่อยคุยกับใครเลย จะชอบอยู่เงียบๆ เล่นเกม แต่ขณะเดียวกันถ้าอยู่กับคนเยอะๆ ก็จะเป็นโรคให้คนอื่นไม่สนุกกับเราไม่ได้ ต้องเอ็นเตอร์เทน แล้วเวลาต้องไปคุยหรือเจอกับคนแปลกหน้า เรารู้สึกว่าตัวเองจะต้องใช้พลังงานมาก ยิ่งถ้าเป็นงานที่ไม่อยากทำมันก็จะยิ่งไม่สนุก
พอเป็นล้างตู้เย็น มาเลยใครก็ได้ มันก็เหมือนได้กรองมาระดับหนึ่งแล้วว่าถ้าเขาจะมาล้างตู้เย็น เขาจะต้องรู้อยู่แล้วว่าจะต้องมาเจออะไร เราเลยค่อนข้างฟรีมากขึ้น ไม่ต้องฝืนตัวเองถามแขกรับเชิญ “เอ่อ…ตอนนี้ผลงานของพี่เป็นยังไงบ้างครับ ช่วงที่ผ่านมาผมรู้สึกชื่นชมมากเลย” ทั้งๆ ที่กูไม่มีอะไรในหัวเกี่ยวกับเขาเลย ซึ่งรายการทีวีที่มันต้องทำเป็นประจำมันเลยต้องทำไง แต่กับล้างตู้เย็นมันก็แค่เรื่องสัพเพเหระ “เฮ้ย เป็นยังไงบ้างตอนนี้ แล้วมีลูกแล้วเหรอ? อยู่บ้านทำกับข้าวบ้างหรือเปล่า?” มันคือเรื่องที่คนจะคุยกันจริงๆ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันรีแล็กซ์มากๆ
เพราะมันเป็นรายการที่เกิดจากตัวคุณด้วยหรือเปล่า ทุกอย่างเลยเข้ากรอบตัวเองไปหมดเลย
คือต้องบอกว่ามันไม่ได้มาที่ผมฝั่งเดียว มันมาจากทุกๆ ส่วนร่วมกัน ทีมงานทุกๆ คน ครีเอทีฟและน้องๆ ทุกคนที่เขาพยายามจะทำงานให้ออกมาดีเหมือนทุกวันนี้ซึ่งเรายังไม่รู้เลยว่าถ้าทำเองคนเดียวมันจะออกมาเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แต่พอเราได้ดูรายการล้างตู้เย็นในวันนี้ เราก็รู้สึกว่ามันดีจังเลย มันผ่อนคลายจังเลย และมันต้องอยู่ในความสนุกๆ ของน้องๆ ทีมงานแต่ละคนด้วย ต้องให้เครดิตกับพวกเขาด้วย
คิดว่าน้ำเสียงในการสื่อสารกับคนดูมีผลทำให้เขาติดรายการคุณไหม
ผมว่าเสน่ห์ของมันคือความสนิทสนม อย่างตอนนี้ถ้าเรามานั่งสัมภาษณ์กัน ผมก็จะใช้น้ำเสียงอีกแบบหนึ่ง เราก็คุยกันในรูปแบบที่ค่อนข้างจะโมโนโทนหน่อยๆ (ทำเสียงนิ่งๆ) ก็ค่อนข้างจะเป็นทางการประมาณหนึ่ง แต่พอเป็นรายการล้างตู้เย็นขนาดเทปที่สปอนเซอร์ลงซึ่งก็ควรจะเป็นทางการแต่เราก็ “อ่ะ อีดอก กิน” (จิกเสียงพูดเหมือนในรายการล้างตู้เย็น) มันเหมือนเพื่อนมาคุยกัน เรื่องที่เป็นทางการมันก็ดูไม่เป็นทางการได้ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่เพื่อนๆ คุยกัน “เฮ้ย ร้านนี้มันอร่อยมากเลยนะมึง ต้องไปกินนะเว้ย”
ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในรายการที่มีช่วงขายของแต่คนดูกลับไม่แอนตี้
จากความรู้สึกเราก็คิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าเราตั้งใจทำรายการนี้ให้คนสนิทดู ผู้ชมที่อาจจะมีฟีดแบ็กกลับมาว่าเราพูดจาไม่เหมาะสม หรือที่บอกว่า “ทำไมถึงไม่พูดจาให้ไพเราะมากกว่านี้คะ มันแสดงถึงว่าเราโตมาอย่างไรเลยนะคะ” ก็อาจจะเป็นเพราะเขาไม่สนิทกับเราและเขาก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเรา
เหมือนคุณมองว่าความหยาบคายไม่ใช่เรื่องผิด
ไม่รู้อ่ะ ก็ตอนเด็กๆ เราอยู่กับเพื่อนก็คุยกูมึงอะ ผมไม่รู้ว่าเวลาคนอื่นอยู่กับเพื่อนเขาคุยกูมึงหรืออีดอกไหม แต่ว่าผมอยู่กับเพื่อน ผมก็คุยแบบนี้ แล้วคอนเซปต์ของรายการนี้คือเพื่อนคุยกัน สมมติเวลาที่ใครมาคอมเมนต์ว่ามีเด็กๆ รอดูอยู่นะ คุณพ่อคุณแม่ที่ดูอยู่ด้วยก็อาจจะบอกเด็กๆ ได้เลยว่าเราเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
จุดมุ่งหมายสูงสุดคือเราทำสิ่งที่คนดูอยากดู เราอาจจะต้องหาให้เจอว่าสิ่งที่คนเขาอยากดูคืออะไร
ตลอดระยะเวลาเกือบๆ 16-17 ปีที่อยู่ในวงการบันเทิง การได้มาทำรายการล้างตู้เย็น เปลี่ยนมุมมองการทำงานของคุณบ้างไหม
คือมันอาจจะเปลี่ยนมุมมองของคนที่รู้จักผมหรือมองเข้ามาที่ตัวผมมากกว่ามุมมองของตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ถ้าย้อนกลับไปสักประมาณ 15-10 ปีที่แล้ว เบน ชลาทิศ คือนักร้อง แต่ถ้าย้อนไปสัก 10 ปีที่แล้ว เบน ชลาทิศ คือนักร้องตลกอารมณ์ดี ถ้าย้อนกลับไปอีกสัก 8-9 ปีที่แล้ว เบน ชลาทิศ คือนักร้องเกย์ และย้อนกลับไป 5-6 ปีที่แล้ว เบน ชลาทิศ คือกรรมการที่ดุมาก หรือถ้าย้อนกลับไปเร็วๆ นี้ก็จะเห็นเบน ชลาทิศ เล่นละครตลก เล่นเป็นนางเอกจูบกับพี่เต๋า (สมชาย เข็มกลัด) จนกระทั่งผ่านมาถึงปัจจุบันผมก็ถือว่าที่ผ่านมามันคือการเดินทางของตัวผม แล้วมันยังเป็นการเปิดประตูให้คนได้รู้จัก เบน ชลาทิศ ในมุมที่หลากหลายมากขึ้น คือผมรู้จักตัวเองอยู่แล้วแต่เราอาจจะมีมุมที่คนอื่นยังไม่ได้รู้จักอีก
การทำรายการที่ไม่ได้ออนแอร์ทางสื่อกระแสหลักมีกฎการทำงานหรือหลักคิดตายตัวหรือเปล่า
นั่นน่ะสิ มันมีกฎไหมอ่ะ นี่มันก็ทำลายทุกกฎที่เราเคยเข้าใจหมดแล้วนะ อย่างเรื่องห้ามพูดคำหยาบ มีเทปหนึ่งที่สปอนเซอร์ซื้อแล้วเรากลัวว่าจะพูดคำหยาบไม่ได้เดี๋ยวจะโดนเขาตำหนิ เราเลยไม่พูดคำหยาบทั้งเทปเลย ปรากฏว่าลูกค้าคอมเมนต์ ทำไมคุณเบนไม่พูด ‘อีเหี้_’ เลย เขาอยากให้เราเป็นตัวเอง เราเลยเข้าใจว่าตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ก็อยากจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเพื่อนของเราเพราะฉะนั้นมันเลยทำลายทุกกฎเกณฑ์ไปหมด แบรนด์เองก็อยากจะสนิทสนมกับผู้บริโภคมากขึ้นเหมือนกัน บางทีการมาสวัสดีครับแล้วพูดๆ แนะนำสินค้ามันก็อาจจะหาดูได้ทั่วๆ ไป
มันทำให้คุณเข้าใจโลกการทำคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้นหรือเปล่า
แพตเทิร์นของมันคือการไม่มีแพตเทิร์น จุดมุ่งหมายสูงสุดคือเราทำสิ่งที่คนดูอยากดู เราอาจจะต้องหาให้เจอว่าสิ่งที่คนเขาอยากดูคืออะไร โลกปัจจุบันนี้เขาไม่ต้องมานั่งรอ 6 โมงเย็นเพื่อนั่งดูละครพร้อมกันหน้าจอทีวีแล้ว เขาอยากดูเมื่อไรเขาก็ต้องได้ดู เขามีอำนาจอยู่ในมือที่เลือกจะชมคอนเทนต์อะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำสิ่งที่เขาอยากดู
ผมคิดว่าลูกค้าเข้ามาหาเราจากความแปลกใหม่ นะ เพราะถ้าเขาไปที่อื่นก็จะเจอแต่สิ่งเดิมๆ ยกเว้นอีรายการนี้ที่พูดในเรื่องเดียวกันแต่คนละภาษา
แล้วรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ทำคือสิ่งที่คนอยากดูและอยากรู้
เพราะเราค่อยๆ เรียนรู้จากการทำงานของเรา เริ่มจากการอยากเป็นตัวเองก่อน ถ้าสิ่งที่เราเป็น คนดูไม่ชอบ มันก็ต่อยอดไม่ได้ พอมันเริ่มจากการเป็นตัวเรามาจนถึงคลิปเล่นเกม Don’t Stop Eight Note แล้วฟีดแบ็กมันดีเกินไปจนสปอนเซอร์เข้ามา สปอนเซอร์เองเขาก็มีคอมเมนต์ต่างๆ ของเขา ทุกๆ อย่างมันคือการค่อยๆ คลำหาทางของมัน จริงๆ มันอาจจะมีแพตเทิร์นของมันเหมือนการทำเพลงก็ได้นะ แต่สิ่งสำคัญคือเราจะมีซิกเนเจอร์ตรงไหนที่ทำให้เราต่างจากคนอื่น
อย่างตอนนี้ผมยังติดรายการพี่สู่ขวัญมากๆ เลย คือเขาไม่ต้องมาด่าหรือโวยวายเหมือนเบน แต่เราดูแล้วยิ้ม นี่คือการขายความเป็นตัวตนของเขา ถ้าไลฟ์สไตล์หรือความคิดความอ่านของเรามันเข้าถึงคนได้ก็คิดว่ามันน่าจะเป็นแกนหลักที่ทำให้จุดอื่นๆ มาเสริมแล้วต่อยอดไปได้อีก นั่นเพราะว่าพวกเขามีคาแรกเตอร์ที่คนดูสนใจไง
ช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำรายการ เราเห็นคุณไปเยี่ยมบ้านแขกรับเชิญบ่อยมากเมื่อเทียบกับช่วงหลังๆ ปัจจุบันรูปแบบรายการเปลี่ยนไปไหม แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ล้างตู้เย็นเป็นที่นิยม
รูปแบบรายการมันก็ยังเหมือนเดิมนะ แต่ที่ไปบ้านแขกรับเชิญน้อยลงเพราะว่าส่วนใหญ่แขกรับเชิญไม่ยอมให้เราไปบ้าน (หัวเราะ) เราเลยแยกออกมาเป็นช่วงอิ่ม Tips ช่วงทำกับข้าวหรือช่วงรีวิวอาหาร ซื้อของมาฝากเบน อย่างตอนนี้ก็มีช่วงครัวลงแขกที่ไปหาสถานที่ทำกับข้าวอร่อยๆ แจกคน
ตั้งแต่เราทำล้างตู้เย็นมา ทั้งทีมงานและเราก็เหมือนได้เรียนรู้คนดูของเราไปด้วยว่าเขาต้องการอะไร อย่างไวรัลแรกที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือช่วงที่เราโทรไปคอลเซ็นเตอร์ร้านฟาสต์ฟู้ดเจ้าต่างๆ ว่าถ้ามีเงิน 100 บาทเราจะกินอะไรได้บ้าง นี่มันคือเรื่องที่คนอยากรู้ว่าสรุปแล้วร้านไหนมันถูกกว่ากันวะ ที่ไหนเราจะได้อาหารที่เยอะที่สุด มันคือจุดประกายแรกว่าต้องเป็นเรื่องอาหารการกินที่หยิบจับและเข้าถึงได้ง่าย ต่อมาเราทำคอนเทนต์ที่บ่งบอกความป็นตัวตนของล้างตู้เย็นคือคลิปเล่นเกม Don’t Stop Eight Note ที่ให้ตัวละครกระโดดด้วยเสียงพูด ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับการทำอาหารด้วยซ้ำ แต่มันเหมือนเป็นการแนะนำให้คนดูรู้ว่า เบน ชลาทิศ เป็นคนอย่างนี้นะ หลังจากคืนที่เราลงคลิปนี้ไป ยอดคนดูมันก็เพิ่มเป็นล้านกว่าๆ และทำให้ยอดคนติดตามเพจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
กับล้างตู้เย็นเราแค่คิดว่ามันคือเรื่องสนุกๆ ที่มาทำเล่นๆ เพื่อให้คนอื่นได้เห็นเราในอีกแง่มุม แต่กลายเป็นว่ารายได้จากช่องทางนี้คือรายได้หลักของเราไปแล้ว
ส่วนตัวรู้สึกว่าช่วงซื้อของมาฝากเบนประสบความสำเร็จมากๆ ในแง่การให้คนดูได้มีส่วนร่วมผลิตคอนเทนต์ คุณมองอย่างไร
มันเกิดขึ้นจากแนวคิดที่เราอยากให้แฟนๆ ได้มีการสื่อสารกับเรา เพราะถ้าเราทำรายการในเฟซบุ๊กก็จะเห็นอยู่แล้วว่าคนดูอยากได้อะไร เขาสามารถสื่อสารกันได้โดยตรงไม่เหมือนทีวีที่ต้องรอ SMS หรือส่งจดหมายเข้ามา เราเลยทำช่วงนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนดูได้มีส่วนร่วมกับเรา เอาอาหารหรือขนมมาให้เราลองชิมและก็ได้รับกระแสตอบรับดีมากๆ มีอยู่วันหนึ่งที่เราถ่ายซื้อของมาฝากเบน ทีมงานออฟฟิศมีประมาณ 20-30 คน ทุกคนต้องขนของฝากกลับบ้านสองมือเต็ม เพราะว่ามันเยอะมาก ของฝากแต่ละครั้งนี่เกินหลักร้อยหมด (จำนวน)
พอเริ่มมีโฆษณาหรือสปอนเซอร์เข้ามา คุณต้องเปลี่ยนวิธีในการทำงานร่วมกับลูกค้ามากน้อยแค่ไหน
ถ้าว่ากันตามความรู้สึก ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของน้องๆ ที่เขาจะเข้าไปคุยกับลูกค้า แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาหาเราก็เพราะว่าเขาเห็นตัวตนของเรา ผมไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ไม่เคยมีลูกค้าคนไหนห้ามผมพูดคำหยาบ ซึ่งอย่างที่บอกมันเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่เราเคยเข้าใจมาทั้งหมด ผมคิดว่าลูกค้าเข้ามาหาเราจากความแปลกใหม่ นะ เพราะถ้าเขาไปที่อื่นก็จะเจอแต่สิ่งเดิมๆ ที่มีเหมือนกันประมาณ 500 บริษัท 1,000 รายการ ยกเว้นอีรายการนี้ที่พูดในเรื่องเดียวกันแต่คนละภาษา
จากเทปแรกที่ออนแอร์ช่วงประมาณเดือนตุลาคมปี 2016 ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะมีสปอนเซอร์เข้ามา
นั่นน่ะสิ ใช้เวลานานไหม (หันไปถามทีมงานในห้องก่อนได้รับคำตอบว่า 4 เดือน)
แต่จนถึงปัจจุบันมันก็เข้ามาเรื่อยๆ จริงๆ จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมเคยรู้สึกว่าตอนแรกการทำล้างตู้เย็นมันเป็นงานสนุกๆ ตอนนี้มันเหมือนกลายเป็นรายได้หลักของตัวเองไปเลย ทำไมถึงได้เงินเยอะขนาดนี้วะ นี่มันคือรายการออนไลน์ในสื่อโซเชียลมีเดียนะ เราไม่เคยคิดว่าจะทำเงินกับเรื่องแบบนี้ ที่ผ่านมาเรารู้ว่าการทำงานร้องเพลง เป็นพิธีกรมันช่วยทำให้เรามีรายได้ แต่กับล้างตู้เย็นเราแค่คิดว่ามันคือเรื่องสนุกๆ ที่มาทำเล่นๆ เพื่อให้คนอื่นได้เห็นเราในอีกแง่มุม แต่กลายเป็นว่ารายได้จากช่องทางนี้คือรายได้หลักของเราไปแล้ว
บางทีรู้สึกว่าถ้ามันจะไม่ฮาร์ดเซลหรือไม่ขายของ ทีมงานและเราก็อยู่ไม่ได้ แล้วมันจะทำยังไงล่ะให้สินค้า คนดู และรายการมาเจอกันในจุดตรงกลาง ที่คนดูรายการเราแล้วมีความสุข ตัวรายการแปลกใหม่และกลมกล่อมในแบบที่เขาไม่เคยเจอ
เป็นรายได้หลักของคุณไปแล้ว?
จะพูดอย่างนั้นก็ได้
บอกได้ไหมว่ารายได้หลักที่ว่า เฉลี่ยแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณเท่าไร
โห… ก็บางที เราแค่ไปอัดอยู่ 2-3 ครั้งแล้วเขาก็ส่งเช็คให้เรา 7 หลักก็มีนะ
เราไม่ได้คิดว่าจะต้องขายสปอนเซอร์ทุกเทป แต่ปัจจุบันก็ขอสารภาพเลยว่าเราเริ่มรู้สึกเบื่อรายการตัวเองด้วยที่สปอนเซอร์มันเยอะมากเกินไป
ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าห้ามลูกค้าเข้ามาแล้ว
ไม่ได้ห้ามสปอนเซอร์เข้ามา เขาเข้ามาได้แต่เรากำลังพยายามจะดีลกับมันเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเบื่ออยู่ เพราะตอนนี้ความรู้สึกมันเริ่มจะกลับมาเหมือนเดิม ต้องมาพูดเรื่องที่เราไม่อยากพูดเหมือนตอนทำรายการช่องใหญ่ๆ ต้องมาพูดว่า “อร่อยมากเลย” มันถึงต้องทำให้เรามีรายการช่วงใหม่ๆ เข้ามา อย่างครัวลงแขก ซื้อของมาฝากเบน แล้วก็กำลังจะคิดทำอะไรใหม่ๆ เพื่อให้ล้างตู้เย็นมันยังอยู่ได้ เพราะมันไม่ใช่แค่ตัวเราแล้ว คือถ้าเราไม่สนุก ฟีดแบ็กคนดูเขาจะสนุกได้ไง บางทีรู้สึกว่าถ้ามันจะไม่ฮาร์ดเซลหรือไม่ขายของ ทีมงานและเราก็อยู่ไม่ได้ แล้วมันจะทำยังไงล่ะให้สินค้า คนดู และรายการมาเจอกันในจุดตรงกลาง ที่คนดูรายการเราแล้วมีความสุข ตัวรายการแปลกใหม่และกลมกล่อมในแบบที่เขาไม่เคยเจอ เราเลยต้องพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อให้คนไม่เบื่อกับรูปแบบรายการ รวมถึงช่วงแนะนำรีวิวสินค้า เราจะพยายามไม่ให้ล้างตู้เย็นโดนฉุดให้เป็นรายการขายของและไม่อยากให้คนดูรู้สึกแบบนั้น
ปัจจุบันที่ล้างตู้เย็นเป็นช่องทางทำรายได้หลัก คุณมองมันว่าอย่างไร เป็นธุรกิจหรือเปล่า
นั่นน่ะสิ พออยู่ดีๆ มันก็พรวดพราดขึ้นมา ผมก็เลยไม่รู้ว่าคนดูจะอยากสนิทกับเราไปอีกนานเท่าไร เพราะรายการมันก็มีช่วงขึ้นและลง เราก็แค่พยายามทำตัวเองให้ใหม่สดเสมอเพื่อให้คนดูเขาอยู่กับเรา มีความสุขกับเรานานๆ รวมถึงให้มีคนดูใหม่ๆ เข้ามาด้วย
มองปรากฏการณ์ที่ดาราและใครๆ ก็สามารถลุกขึ้นมามีรายการเป็นของตัวเองบนโลกออนไลน์ว่าอย่างไร
รู้สึกดีนะครับ เพราะมันคือสิ่งที่เราสามารถทำได้ มันไม่ใช่เฉพาะดาราแต่ใครก็ทำได้ ใครก็สามารถจะมีพื้นที่ของตัวเองได้ แต่ใครต่างหากจะมีเสียงที่ดังมากกว่า หรือมีคาแรกเตอร์ที่ดึงดูดคนดูได้มากกว่ากัน ผมว่าดีซะอีกเพราะส่วนตัวก็ไม่เคยคิดว่าคนอื่นจะได้มาเจอผมในมุมที่อยู่กับเพื่อน ปัจจุบันเวลาเจอเพื่อนทุกคนจะอิจฉาผมมากๆ ที่เบนด่าคนดูแล้วคนดูไม่โกรธ มันอาจจะเป็นเพราะเราได้ล้างตู้เย็นมันเลยทำให้คนได้รู้จักเราที่เป็นเราจริงๆ คือบางทีถ้าเราไปพูดมึงกูในที่แปลกๆ เขาอาจจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนคนนี้วะ
ไม่ใช่เฉพาะดาราแต่ใครก็ทำได้ ใครก็สามารถจะมีพื้นที่ของตัวเองได้ แต่ใครต่างหากจะมีเสียงที่ดังมากกว่า หรือมีคาแรกเตอร์ที่ดึงดูดคนดูได้มากกว่ากัน
ทุกวันนี้คนทำคอนเทนต์ออนไลน์แข่งกันที่อะไร
(หยุดคิด) ... คนอื่นแข่งกันที่อะไรไม่รู้นะ แต่สำหรับเบนคือแข่งกันที่เราต้องหาคอนเทนต์ที่คนเขาอยากรู้ อยากเห็น อยากดูมากที่สุดให้เจอ สำหรับคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องที่เขาสนใจ ไอที วัฒนธรรม แต่สำหรับผม เราไม่ได้ยึดติดแค่เรื่องทำอาหาร มันจะเป็นอะไรก็ได้แต่ต้องเป็นเรื่องที่คนอยากรู้
ดูเหมือนล้างตู้เย็นจะมีแต่กราฟขาขึ้น เคยมีวันแย่ๆ บ้างไหม
มี… (นิ่งไปสักพัก) มันก็มาทุกช่วงแหละครับ แค่ตอนแรกผมเจอคอมเมนต์ว่าคุณเบนพูดจาหยาบคาย ผมก็รับไม่ได้แล้ว คือเราก็รู้ว่ากริยาส่อภาษาที่เขาว่าเรา เขาก็คงจะด่าลามไปถึงพ่อแม่ไม่ส่ังสอน ทำไมเราถึงเป็นคนหยาบคายแบบนี้ แต่มันก็บั่นทอนเราพอสมควรนะ มีคนมาว่าเราว่ารายการมีเด็กดู ทำไมทำอะไรไม่แคร์สังคมเลย เป็นพวกรายการขยะ คือเรามีความรู้สึกว่ามันต้องย้อนกลับไปถึงความตั้งใจแรกของเราที่อยากทำรายการอยากคุยกับเพื่อน เลยใช้วิธีคิดว่าเราอาจจะคุยกับเพื่อนเสียงดังเกินไปแล้วป้าเขาผ่านมาได้ยินพอดี เราก็ต้องเบาเสียงของเรานิดหนึ่งรอให้เขาเดินผ่านไปก่อน แล้วค่อยอีเหี้_กันต่อ
แล้วมันก็อาจจะเพราะเป็นช่วงนี้ด้วยแหละที่ผมรู้สึกว่าล้างตู้เย็นมันเริ่มเข้าขั้นวิกฤต ด้วยความที่ว่ามันยังพีกจนสปอนเซอร์เข้ามาเยอะเกิน ซึ่งผมมองว่ามันคือวิกฤตอย่างหนึ่งนะ ขนาดตัวเราเองยังเบื่อเลย แล้วจะพยายามปรับยังไงไม่ให้คนดูเขาเบื่อว่าผมขายของอีกแล้ว เรายังรู้สึกเลยว่าขายของอีกแล้วเหรอ มึงไม่คุยเรื่องสนุกๆ กันแล้วเหรอ โจทย์ตอนนี้คือจะต้องทำอย่างไรให้เรามีสปอนเซอร์แล้วยังสนุกต่อไปได้
เวลาเจอคอมเมนต์แย่ๆ มีวิธีการดีลหรือจัดการกับตัวเองอย่างไร
ถ้าเป็นผู้ใหญ่มาคอมเมนต์ว่าอยากให้น้องเบนพูดจาสุภาพหน่อย อันนี้เราเข้าใจ แต่เราแก้ให้ไม่ได้เพราะมันไม่ใช่รายการนี้ ถ้าเป็นรายการอื่นผมก็ไม่ได้พูดแบบนี้ ปกติถ้าไปอยู่ในรายการช่อง 3 ช่อง 7 หรือเวิร์คพอยท์ ผมก็ไม่ได้พูดคำหยาบ เพราะฉะนั้นล้างตู้เย็นมันคือพื้นที่ในส่วนนี้ เราเปลี่ยนอะไรมันไม่ได้
- รายการล้างตู้เย็น คือหนึ่งในรายการภายใต้การผลิตโดยบริษัท Gooddeal Entertainment ที่มี โค้ด-อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเสือร้องไห้นั่งแท่นเป็นผู้บริหาร
- ปัจจุบันเพจล้างตู้เย็นมียอดไลก์อยู่ที่ประมาณ 965,910 มียอดวิวรวมของทุกวิดีโอในเพจที่ราวๆ 110,583,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุกๆ คลิปจะมียอดผู้ชมเฉลี่ยละประมาณ 604,000 ครั้ง (จากจำนวนวิดีโอทั้งหมด 183 ตัว, สถิตินับจนถึงวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2561)
- เทปแรกของรายการล้างตู้เย็นออนแอร์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 แขกรับเชิญคือ เจนนิเฟอร์ คิ้ม
- ‘แม็กซ์’ แขกรับเชิญขาประจำของรายการ เป็นหนึ่งในทีมงานบริษัท Gooddeal Entertainment ในตำแหน่งสวัสดิการประจำกองถ่ายและโซเชียลเอดิเตอร์ของเพจ โดยทุกครั้งที่มีการพูดคุยขายคอนเทนต์กับสปอนเซอร์ ลูกค้ามักจะเรียกร้องให้แม็กซ์เข้ามามีส่วนร่วมเสมอๆ