สายการบินยุโรปหลายแห่งประกาศระงับการบินเหนือน่านฟ้าเบลารุส หลังเกิดกรณีที่ โรมัน โปรเตเซวิช นักข่าวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกจับกุมตัวเมื่อวันอาทิตย์ ด้วยการที่รัฐบาลเบลารุสส่งเครื่องบินขับไล่บินประกบเครื่องบินโดยสารของสายการบิน Ryanair ที่โปรเตเซวิชโดยสารอยู่บนเครื่อง ก่อนบังคับให้เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางไปลงจอดที่กรุงมินสก์และเข้าจับกุมตัวนักข่าวรายนี้ในที่สุด
Air France เป็นสายการบินใหญ่รายล่าสุดที่สั่งห้ามเที่ยวบินบินผ่านเขตน่านฟ้าเบลารุส (Overflight) จนกว่าจะมีประกาศให้ทราบต่อไป
ด้าน KLM ซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติเนเธอร์แลนด์, สายการบิน Lufthansa ของเยอรมนี, SAS ของสแกนดิเนเวีย, สายการบิน Finnair ของฟินแลนด์ และอีกหลายสายการบินประกาศหยุดให้บริการในลักษณะเดียวกันในวันจันทร์
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเบลารุสอย่างยูเครนและโปแลนด์ หยุดให้บริการเที่ยวบินทั้งหมดที่บินเข้าออกเบลารุส
โดย Lot ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของโปแลนด์ เปิดเผยว่า ทางสายการบินได้ระงับเที่ยวบินไปกลับจากกรุงมินสก์ และ ดีมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน กล่าวว่า ยูเครนสั่งห้ามสายการบินของประเทศบินผ่านหรือเข้าออกเบลารุสแล้ว
นอกจากสายการบินยุโรปแล้ว Singapore Airlines ก็เป็นอีกสายการบินหนึ่งที่เปลี่ยนเส้นทางการบินเพื่อหลีกเลี่ยงเบลารุส
ความเคลื่อนไหวของสายการบินต่างๆ ของ EU มีขึ้นหลังจากที่ผู้นำ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เรียกร้องให้สายการบินของประเทศสมาชิกงดบินผ่านเขตน่านฟ้าเบลารุส ทั้งยังขอให้ประเทศสมาชิกระงับใบอนุญาตทำการบินสำหรับสายการบิน Belavia ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของเบลารุสด้วย
ขณะเดียวกันสหราชอาณาจักรซึ่งไม่ใช่สมาชิก EU เปิดเผยว่า สายการบินต่างๆ ของเบลารุสจะไม่ได้รับอนุญาตให้บินเข้าน่านฟ้าของสหราชอาณาจักรเช่นกัน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ด้านสายการบิน Belavia เปิดเผยว่าจะระงับเที่ยวบินไปยังสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม
ทั้งนี้แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่เบลารุสมีพรมแดนติดกับสามประเทศในสหภาพยุโรป ดังนั้นเที่ยวบินจำนวนมากที่บินระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปจึงใช้น่านฟ้าของเบลารุส โดยข้อมูลจากหน่วยงานจราจรทางอากาศของยุโรป Eurocontrol ระบุว่า มีเที่ยวบินใช้น่านฟ้าเบลารุสราว 400 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเที่ยวบินที่ให้บริการโดยสายการบินของสหภาพยุโรปหรือสหราชอาณาจักร
สำหรับสาเหตุที่ EU ออกมาเรียกร้องให้สายการบินหยุดบินเหนือน่านฟ้าเบลารุสนั้นมีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมารัฐบาลเบลารุสได้ส่งเครื่องบินขับไล่บินประกบเที่ยวบินที่ FR4978 ของสายการบิน Ryanair ซึ่งเดินทางออกจากกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ และมุ่งหน้าไปยังกรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย โดยบังคับให้เครื่องบินโดยสารลำดังกล่าวเปลี่ยนเส้นทางบินไปลงจอดที่เมืองหลวงของเบลารุสโดยอ้างว่าอาจมีระเบิดบนเครื่อง จนกระทั่งเที่ยวบินดังกล่าวลงจอดที่กรุงมินสก์ เมื่อเวลา 13.16 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอาทิตย์
จากนั้นตำรวจได้เข้าควบคุมตัวโปรเตเซวิช ขณะที่ผู้โดยสาร 126 คนกำลังทยอยลงจากเครื่อง ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่าโปรเตเซวิชดู “หวาดกลัวสุดขีด” โดยเขาถูกจับพร้อมกับ โซเฟีย ซาเปกา แฟนสาว
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกประณามอย่างรุนแรงจากทั่วโลก โดยประเทศต่างๆ เรียกร้องให้เบลารุสปล่อยตัวนักข่าวรายนี้ทันที และขอให้มีการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ
รัฐบาลเบลารุสชี้แจงว่า เที่ยวบินถูกเปลี่ยนเส้นทาง เนื่องจากมีการขู่วางระเบิดจากกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ แต่ฮามาสปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์นี้ ด้านนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี กล่าวว่าข้ออ้างของเบลารุสนั้น “ไม่น่าเชื่ออย่างสิ้นเชิง”
แม่ของซาเปกากล่าวกับ BBC ว่า ลูกสาววัย 23 ปีของเธอถูกนำตัวไปฝากขังในเรือนจำแห่งหนึ่งในมินสก์ โดยข้อกล่าวหาที่มีต่อซาเปกานั้นไม่ชัดเจน
“ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาจะตั้งข้อหาอะไรกับเธอได้ ด้วยโทษฐานไปเที่ยวพักผ่อนกับโรมัน โปรเตเซวิชอย่างนั้นหรือ” แม่ของซาเปกากล่าว
นอกจากแบนเที่ยวบินแล้ว ประเทศสมาชิก EU ยังให้คำมั่นว่าจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเบลารุสต่อไป โดยปัจจุบันเจ้าหน้าที่เบลารุสหลายสิบคน ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงการห้ามเดินทางและการอายัดทรัพย์สิน เพื่อตอบโต้การใช้กำลังปราบปรามฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
ทั้งนี้ผู้นำเบลารุสวัย 66 ปีเดินหน้าปราบปรามกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับชัยชนะของเขาในการเลือกตั้งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายคนถูกจับกุม ในขณะที่อีกหลายคนขอลี้ภัยไปต่างประเทศ
โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เบลารุสได้ตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหว 7 คนเป็นระยะเวลา 4-7 ปี ด้วยข้อหาเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับ โรมัน โปรเตเซวิช ซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการของ Nexta ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในลิทัวเนียเมื่อปี 2019 โดยโปรเตเซวิชรายงานข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุสในปี 2020 มาจากลิทัวเนีย จนทำให้เขาถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายและปลุกระดมการจลาจลในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ Nexta นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในช่วงของการเลือกตั้ง และยังคงดำเนินต่อไปหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลเซ็นเซอร์ข่าวสาร
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางการเบลารุสเผยแพร่วิดีโอของโปรเตเซวิช ซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกบันทึกไว้ภายใต้การข่มขู่
โปรเตเซวิชเผชิญกับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวการเลือกตั้งเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และการประท้วงของฝ่ายค้านซึ่งเกิดขึ้นในเวลาต่อมา โดยเขาเผยว่าเขากลัวโทษประหารชีวิตหลังจากมีชื่อของเขาปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้เบลารุสเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ยังคงประหารชีวิตนักโทษ
ในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่หลังการจับกุม โปรเตเซวิชบอกว่าเขามีสุขภาพดี และดูเหมือนว่าเขาจะยอมรับผิดต่อข้อกล่าวหา
แต่บรรดานักเคลื่อนไหว รวมถึงผู้นำพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศ วิพากษ์วิจารณ์วิดีโอดังกล่าวและเชื่อว่าโปรเตเซวิชถูกกดดันให้ยอมรับผิด ขณะที่ ดีมิทรี โปรเตเซวิช พ่อของโปรเตเซวิชกล่าวกับ BBC ว่า เขากลัวว่าลูกชายอาจถูกทรมาน
ภาพ: Sean Gallup / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: