×

ดาวเทียมดวงสุดท้ายของ ‘เป่ยโต่ว’ สู่ภารกิจสานฝันชิงบัลลังก์มหาอำนาจด้าน GPS ของจีน

โดย Mr.Vop
24.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ระบบ BDS ของจีน ที่สามารถส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของกลุ่มขึ้นไปสำเร็จเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนกลายเป็นคู่แข่งที่ทัดเทียมกับอเมริกาขึ้นมาทันทีในด้านการให้บริการบอกตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์บนผ่านระบบดาวเทียมนำร่อง
  • ชื่อ BDS นั้นย่อมาจาก Beidou Navigation Satellite System โดยคำว่า Beidou (北斗) หรือ ‘เป่ยโต่ว’ ที่เป็นชื่อดาวเทียมนั้น ได้มาจากชื่อของกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ตามวิธีเรียกของจีน ซึ่งจะตรงกับกลุ่มดาวจระเข้ของไทย และกลุ่มดาวหมีใหญ่ตามวิธีเรียกของชาติตะวันตก
  • ดาวเทียมดวงสุดท้ายของกลุ่มดาวเทียม BDS-3 ขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้จีนมีระบบดาวเทียมนำร่องที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลกของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาดาวเทียมของชาติอื่นอีกต่อไป และยังกลายเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่สามารถให้บริการบอกตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลนับแสนล้านบาทต่อจากสหรัฐอเมริกา

ประเทศมหาอำนาจต่างชิงกันเป็นผู้นำในการให้บริการบอกตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์ผ่านระบบดาวเทียมนำร่อง (Navigation Satellites) ที่นับถึงเวลานี้มีเพียงระบบดาวเทียม GPS ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้งานกันอยู่อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นระบบแรกที่สามารถให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยมีคู่แข่งสำคัญอันได้แก่ ระบบ GLONASS ของรัสเซีย และ Galileo ของยุโรป ที่ต่างก็ยังอยู่ในระหว่างการส่งดาวเทียมขึ้นไปเสริมเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ 

 

แต่ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ คือระบบ BDS ของจีน ที่สามารถส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของกลุ่มขึ้นไปสำเร็จเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนกลายเป็นคู่แข่งที่ทัดเทียมกับอเมริกาขึ้นมาทันที

 

หลังเลื่อนจากวันอังคารที่ 16 มิถุนายน จากปัญหาทางเทคนิค ในที่สุดสถานีโทรทัศน์ CCTV ของทางการจีนก็ได้เผยแพร่ภาพการปล่อยจรวดลองมาร์ช-3B ออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีฉางในมณฑลเสฉวน 08.43 น. เช้าวานนี้ (23 มิถุนายน) ตามเวลาในประเทศไทย 

 

จรวดพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของกลุ่มดาวเทียม BDS-3 ขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้จีนมีระบบดาวเทียมนำร่องที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลกของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาดาวเทียมของชาติอื่นอีกต่อไป และยังกลายประเทศที่ 2 ของโลกที่สามารถให้บริการบอกตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลนับแสนล้านบาทต่อจากสหรัฐอเมริกา 

 

 

ชื่อ BDS นั้นย่อมาจาก Beidou Navigation Satellite System โดยคำว่า Beidou (北斗) หรือ ‘เป่ยโต่ว’ ที่เป็นชื่อดาวเทียมนั้น ได้มาจากชื่อของกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ตามวิธีเรียกของจีน ซึ่งจะตรงกับกลุ่มดาวจระเข้ของไทย และกลุ่มดาวหมีใหญ่ตามวิธีเรียกของชาติตะวันตก

 

กองทัพจีนเริ่มมีแนวคิดจะลดการพึ่งพาระบบ GPS สหรัฐฯ มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 จึงได้เริ่มพัฒนาระบบดาวเทียมนำร่องของตนเองในเฟสแรก หรือ BDS-1 จนสามารถปล่อยดาวเทียมดวงแรกในเฟสนี้ขึ้นสู่วงโคจรปลายเดือนตุลาคม 2000 จากนั้นก็ปล่อยดาวเทียมตามไปอีก 2 ดวง จนระบบเริ่มใช้นำทางรถยนต์ เรือประมง และรถถังของจีนเองได้ในเฟสนี้ แต่ยังจำกัดพื้นที่แค่ในประเทศจีนเท่านั้น เนื่องจากมีดาวเทียมในเฟสแรกเพียง 4 ดวง (สำรอง 1 ดวง) 

 

ในเฟสต่อมา หรือ BDS-2 ทางการจีนก็ได้เพิ่มจำนวนดาวเทียมขึ้นไปอีกเพื่อให้สามารถบริการในเชิงพาณิชย์ จนเมื่อเดือนธันวาคม 2012 ก็ได้ขยายพื้นที่การบอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ในเฟสที่ 2 มาถึงกลุ่มประเทศอาเชียนและเอเชียแปซิฟิก จากดาวเทียมในเฟสนี้ทั้งหมด 20 ดวง

 

ในเฟสสุดท้าย หรือ BDS-3 ทางจีนตั้งใจให้สามารถบอกพิกัดภูมิศาสตร์ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลก กำหนดดาวเทียมไว้ทั้งกลุ่มถึง 35 ดวง ประกอบด้วยดาวเทียมในวงโคจรระดับกลาง หรือ Medium Earth Orbit (MEO) จำนวน 27 ดวง ดาวเทียมในวงโคจรประจำที่ตามระนาบศูนย์สูตร Geostationary Earth Orbit (GEO) จำนวน 5 ดวง และดาวเทียมในวงโคจรประจำที่ตามแนวเฉียง  Inclined Geosynchronous Orbit (IGSO) อีก 3 ดวง ดาวเทียมดวงแรกของ BDS-3 เริ่มเข้าสู่วงโคจรปลายเดือนมีนาคม 2015 จากนั้นทางจีนก็ทะยอยส่งดาวเทียมที่เหลือในเฟสนี้ขึ้นสู่วงโคจรในระดับความสูงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนถึงดวงสุดท้ายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ ถือเป็นการครบจำนวนทั้งหมดในเฟสสุดท้าย  35 ดวง สามารถเชื่อมต่อถึงกันครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกอย่างแท้จริง

 

ระบบดาวเทียมนำร่อง BDS-3 ควบคุมเวลาด้วยนาฬิกาอะตอมไฮโดรเจน (ระยะห่างของดาวเทียมแต่ละดวงกับวัตถุบนโลกจะไม่เท่ากันและแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา จึงต้องใช้นาฬิกาอะตอมเพื่อปองกันความคลาดเคลื่อน) แบ่งความแม่นยำในการบอกพิกัดออกเป็น 2 ระดับ ในการบริการแบบไม่คิดเงินสำหรับพลเรือนทั่วไป ระบบสามารถบอกพิกัดได้ถึงความแม่นยำระดับ 10 เมตร ส่วนระดับที่ใช้ทางการทหาร หรือต้องการความแม่นยำสูง ซึ่งมีการคิดค่าบริการ BDS-3 ให้ความแม่นยำถึงระดับ 1 เมตร 

 

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้บริการของเป่ยโต่ว ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างในคูเวต การเกษตรในเมียนมา การสำรวจที่ดินและทำแผนที่ในยูกันดา สำหรับประเทศไทยเราก็มีการใช้เพื่อติดตามการจราจรบริเวณท่าเรือ นำทางปฏิบัติการกู้ภัยระหว่างเกิดภัยพิบัติ และภารกิจอื่นๆ 

 

ทั้งนี้ทางจีนได้วางนโยบาย ‘เส้นทางสายไหมใหม่’ (New Silk Road) จุดประสงค์คือโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้เทคโนโลยีของตนมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากระบบ GPS ของสหรัฐฯ ท่ามกลางความตึงเครียดจากปัญหาต้นตอการระบาดของไวรัสโคโรนาระหว่างสองมหาอำนาจที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising