×

ก้าวไกลเปิดเบื้องหลัง กมธ.งบประมาณฯ 67 สภามีอำนาจน้อย ถกจริงจังแค่ 41%

โดย THE STANDARD TEAM
15.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (15 มีนาคม) ที่อาคารอนาคตใหม่ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ชยพล สท้อนดี สส. กทม. พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข้อสังเกตที่ได้จากการทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

 

ศิริกัญญากล่าวว่า การพิจารณางบประมาณในปีนี้รวดเร็ว เนื่องจากปีนี้เป็นปีพิเศษที่งบประมาณออกล่าช้าไปประมาณ 6 เดือน และด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ปีนี้ได้มีการอนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการใช้งบประมาณไปพลางก่อน โดยนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามคำแนะนำของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณที่อนุมัติหลักเกณฑ์ว่าสามารถที่จะขอได้ 2 ใน 3 ของงบประมาณปี 2566 หรือราว 2 ล้านล้านบาท และเมื่อหน่วยงานส่งแผนงานมาจริงๆ ผอ.สำนักงบประมาณก็ได้อนุมัติไปทั้งสิ้น 58.8% 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่ออนุมัติไปแล้วหน่วยงานก็เริ่มใช้งบประมาณไปตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา และเมื่อสภาเข้ามาพิจารณางบประมาณปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท ก็จะมีราวๆ เกือบ 2 ล้านล้านบาทที่ถูกอนุมัติและมีการใช้ไปแล้ว ดังนั้น ในความเป็นจริงสภามีอำนาจที่จะพิจารณาอย่างจริงจังเพียงแค่ 41% เท่านั้น นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพิจารณางบประมาณในปีนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า แต่วิธีการแบบนี้ก็มีปัญหามีช่องโหว่อยู่เช่นกัน แม้จะเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และในขั้นตอนอนุมัติหลักเกณฑ์นายกรัฐมนตรียังเป็นผู้ที่ต้องเข้ามาเห็นชอบด้วย แต่ก็มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจอนุมัติ นั่นคือ ผอ.สำนักงบประมาณ ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจในการอนุมัติงบประมาณตกไปอยู่ที่ ผอ.สำนักงบประมาณที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งที่ควรจะต้องได้รับการอนุมัติโดย ครม. หรือนายกฯ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบในงบประมาณในส่วนที่สภาไม่สามารถเข้าไปปรับลดได้นี้

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ในห้องอนุกรรมาธิการที่ไปตัดโครงการบางโครงการแล้วจำเป็นที่จะต้องมาคืนในภายหลัง เพราะหน่วยงานบอกว่ามีการใช้ไปพลางก่อนแล้ว นี่จึงเป็นความพิเศษของปีงบประมาณนี้ และไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หรืออีก 4 ปีข้างหน้า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเหมือนปีที่ผ่านมา เราก็อาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้อีก จึงอยากให้เป็นบทเรียนว่า คนที่จะมีอำนาจในการอนุมัติแผนงานการใช้งบประมาณไปพลางก่อนควรจะต้องเป็นคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับผิดรับชอบกับงบที่ใช้ไปแล้วโดยไม่ได้ผ่านสภา

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า ตามปกติแล้ว ในทุกๆ ปีคณะกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งมีราว 70 กว่าคน จะมีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาทำงานแทน เพราะมีเรื่องที่จะต้องลงรายละเอียดในรายโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการแบ่งตามรายการ แต่ปีนี้มีเรื่องแปลกใหม่คือ แม้ทางกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลจะพยายามจะผลักดันให้มีการแบ่งอนุกรรมาธิการตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ แต่ก็ไม่เป็นผล แล้วก็สรุปจบที่การแบ่งกันตามกระทรวง

 

ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่า แต่ละอนุกรรมาธิการจะมีความเป็นเจ้าของของแต่ละรัฐมนตรีที่มาจากสังกัดพรรคการเมืองเดียวกันอยู่ ทำให้มีข้อกังวลมาจากกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการด้วยเช่นเดียวกันว่า การจัดแบบนี้อาจจะทำให้เกิดการเข้ามาปกป้องงบประมาณของรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งจากการสังเกตการณ์จะพบว่า ในบางอนุกรรมาธิการจะมีผู้ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี หรือกระทั่งเลขานุการรัฐมนตรี มานั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการแบ่งอนุกรรมาธิการแบบนี้มาตั้งแต่ต้น และสิ่งนี้ควรจะเป็นบทเรียนว่าในปีหน้าไม่ควรจะมีการจัดอนุกรรมาธิการเช่นนี้อีก

 

ศิริกัญญายังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการตัดงบประมาณในชั้นกรรมาธิการ โดยระบุว่า สิ่งที่สังเกตเห็นได้ก็คือ มีความพยายามที่จะเร่งตัดกันในช่วงวันสุดท้ายหรือสัปดาห์สุดท้ายของการพิจารณาในห้องอนุกรรมาธิการ และยังมีอีกหลายรายการที่มาตัดกันต่อในห้องกรรมาธิการใหญ่ ทำให้น่าสังเกตว่าอาจจะมีการตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะต้องตัดได้ถึงเท่าไรหรือไม่ เมื่อไม่ถึงเป้าจึงต้องมาเร่งทำยอดกันในวันท้ายๆ ที่น่าสังเกตประการต่อมาคือ การที่แผนบูรณาการเป็นแผนที่ถูกตัดมากที่สุด โดยในห้องอนุกรรมาธิการมีการตัดไปประมาณ 3 พันล้านบาท แต่หน่วยงานกลับมาอุทธรณ์เพื่อขอคืนงบประมาณ 24 รายการ แทบจะเยอะที่สุดในบรรดาอนุกรรมาธิการทั้งหมด สุดท้ายก็คืนงบไป 2 พันล้านบาท

 

ศิริกัญญากล่าวสรุปว่า กรรมาธิการตัดงบประมาณไปได้ราว 9.2 พันล้านบาท ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติทั่วไปก็จะส่งต่องบประมาณในส่วนที่ตัดได้ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ขอเข้ามาเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปลงที่งบกลางราว 8 พันกว่าล้านบาท ในปีนี้กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลเห็นชอบด้วย เพราะอย่างที่ตนได้อภิปรายในการพิจารณางบประมาณวาระ 1 ว่า ปีนี้มีงบประมาณที่เรียกว่าเงินชดใช้เงินคงคลังอยู่ที่ประมาณเกือบ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเยอะมากเป็นประวัติการณ์ และทำให้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นมาเกือบ 3 แสนล้านบาทใช้ไม่ได้จริงทั้ง 3 แสนล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งต้องเอาไปคืนเงินคงคลัง จากการใช้งบประมาณแต่ละปีไม่พอแล้วต้องไปล้วงเอาเงินคงคลังออกมาใช้ 

 

ซึ่งเงินที่เอามาใช้ตรงนี้ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น เพราะเราควรจะต้องตั้งงบประมาณไว้อย่างพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนข้าราชการ แต่ในปีนี้ก็ยังจัดสรรพลาดอยู่เช่นเดียวกัน เช่น บำเหน็จบำนาญ หากเทียบกับงบที่เบิกจ่ายปีที่แล้วพบว่าตั้งงบขาดไปถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของข้าราชการขาดไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อมีการตัดลดงบประมาณได้ สำนักงบประมาณเองจึงเป็นผู้ที่เสนอสองรายการนี้เข้ามา ก็เลยมีการอนุมัติให้ แต่เนื่องจากว่าตัดมาได้น้อย ก็เลยแบ่งให้กับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้แค่ประมาณ 3 พันล้านบาท 

 

นอกจากนี้ยังมีการใส่เงินลงไปที่เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น ซึ่งก็คืองบกลางเจ้าปัญหาที่ตรวจสอบได้ยาก และนายกฯ มีอำนาจเต็ม แต่เมื่อขอมาแค่ 1 พันล้านบาท ก็เลยขอแลกกับการที่จะเพิ่มเงินในกองทุนประกันสังคมที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอแทน ถือว่าเป็นการเข้าไปเจรจาต่อรองและประนีประนอมกับทั้งสองฝั่ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราอยากได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X