×

จุดเปลี่ยนวงการ ‘นางงาม’ กลายเป็นธุรกิจหารายได้อย่างเต็มตัว อนาคตนางงามจะขายสวยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องขายของได้ด้วย!

06.06.2023
  • LOADING...
การประกวดนางงาม

“โฉมเอย โฉมงาม อร่ามแท้ แลตะลึง ได้เจอครั้งหนึ่ง เสน่ห์ซึ้งตรึงใจ” 

 

ได้ยินเพลงนี้ทีไรทำให้นึกถึงการประกวดนางงามในอดีตทุกครั้ง แต่วันนี้เวทีนางงาม ไม่ใช่แค่การประชันความสวยกันแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว

 

หลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า วงการนางงามนั้นได้กลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว และนับวันยิ่งมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการหารายได้ในเชิง Commercial ที่วันนี้เรามักจะเห็นนางงามออกมาไลฟ์ขายสินค้าผ่านช่องทางโซเซียลมากขึ้น

 

เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของ Miss Grand Thailand ที่มักจะเห็นว่ามีนางงามออกมาไลฟ์ขายสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์ความงาม อาหารเสริม สินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงน้ำพริกปลาสลิด และนั้นเป็นบริบทใหม่

 

“ที่ผู้เข้าประกวด Miss Grand Thailand จะต้องเป็นมากกว่านางงาม คือต้องเป็นแม่ค้าออนไลน์ได้ด้วย” ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานและผู้อำนวยการกองประกวด Miss Grand Thailand กล่าวผ่านผู้จัดการออนไลน์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เรียกได้ว่าการหารายได้จากแค่การจัดประกวดก็คงไม่พอ ทำให้วงการนางงามต้องยกระดับธุรกิจให้เป็นมากกว่าแค่การจัดประกวด และนอกจากการหาสปอนเซอร์แล้ว ทางผู้จัดเองก็เป็นต้นสังกัดให้กับเหล่านางงาม ทั้งการออกงาน พรีเซนเตอร์ และถ่ายโฆษณา และยิ่งนางงามมีชื่อเสียงมากเท่าไร ค่าตัวก็จะยิ่งแพงขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นค่ายเพลงที่ดูแลศิลปินเลยทีเดียว

 

จุดกำเนิดของวงการนางงามเริ่มบูมมาตั้งแต่อดีต

 

ธเนษฐ ลักษณะวิลาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกวดนางงาม กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การประกวดนางงามสมัยก่อนเริ่มต้นขึ้นที่อเมริกาใต้ โดยจัดการประกวดขึ้นมาเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว กระตุ้นให้คนเดินทางเข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศ แต่จุดพลิกผันจริงๆ เริ่มจากการที่มีนางงามบางคนไม่ยอมใส่ชุดว่ายน้ำในรอบการประกวด ซึ่งเป็นชุดว่ายน้ำของแบรนด์ Catalina

 

ธเนษฐ ลักษณะวิลาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกวดนางงาม

ภาพ: Taneth Laksanavilas / Facebook

 

เป็นเหตุให้แปซิฟิก นิตตี้ง มิลส์ บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เจ้าของแบรนด์ชุดว่ายน้ำ Catalina ตัดสินใจจัดเวทีประกวด Miss USA ขึ้นมาเองทันที 

 

ดังนั้นการประกวดนางงามจึงอยู่คู่กับธุรกิจมาตั้งแต่ต้น เพราะการจัดประกวดในแต่ละครั้งได้สร้างอานิสงส์ให้กับธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และแฟชั่น เป็นอย่างมาก

 

“เช่นเดียวกับประเทศไทย จุดเริ่มต้นของการประกวดนางงามมาจากงานวัด ธิดาสงกรานต์ นางนพมาศ เพื่อโปรโมตให้คนออกมาเที่ยวในจังหวัด แต่ไทยมีการประกวดจริงจังขึ้นมาครั้งแรกคือ การประกวดนางสาวไทย ซึ่งจัดขึ้นมาเพื่อให้คนรู้จักประชาธิปไตย

 

“ช่วงแรกก็ยังไม่เชิงว่าจะเป็น Commercial เพียงแต่ต้องการดึงให้คนออกมาเที่ยวตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้คนไทยรู้จักประชาธิปไตย แต่หลังจากเวลา 60 ปีที่ผ่านมา วงการนางงามของไทยเริ่มเฟื่องฟูอย่างมาก มีเวทีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หลังจากนางสาวไทย ก็ยังมี Miss Universe Thailaind และต่อมาก็มี Miss Thailand World และ Miss Grand Thailand เข้ามามีบทบาทมากขึ้น”

 

การประกวดนางงาม

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD

 

ในช่วงนั้นวงการนางงามอาจซบเซาลงบ้างจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่ก็พลิก กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในปี 2015 หลังจาก แนท-อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ได้เข้ารอบการประกวด Miss Universe ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเวทีการประกวดนางงามที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก 

 

แน่นอนว่าสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้อย่างมาก และทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจ จากนั้นกระแสก็เริ่มแรงมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ไทยเริ่มกลายเป็นเจ้าของเวที ที่หลายคนรู้กันดีนั่นก็คือ Miss Grand Thailand และ Miss Universe Thailand

 

วงการนางงามเชื่อมโยงกับธุรกิจมานาน

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกวดนางงามกล่าวต่อไปว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น จึงต้องการประชาสัมพันธ์ถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวไปซื้อลิขสิทธิ์ตัวแทนการส่งนางงามไทยไปประกวด Miss Universe เพื่อเผยแพร่ความเป็นไทย 

 

ถึงตอนนั้นเริ่มมีผู้เข้ามาสนับสนุน ทั้งในนามของห้าง โรงเรียนสอนตัดเสื้อ และบริษัทต่างๆ เข้ามาสนับสนุนในนามสปอนเซอร์อย่างล้นหลาม

 

จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานางงามอาจดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกับธุรกิจ แต่จริงๆ แล้วมีการเชื่อมโยงกับธุรกิจมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนนั้น แม้กระทั่งตอนที่ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ขึ้นเป็นนางงามจักรวาลในปี 1988 ช่วงนั้นปุ๋ยไม่ได้มาในนามจังหวัดฉะเทริงเทรา แต่มาในนามของโรงแรม Little Duck 

 

สถานีโทรทัศน์แข่งกันจัดประกวดนางงามดึงฐานคนดู

 

นอกจากนี้ในช่วงที่นางงามกำลังบูม สถานีโทรทัศน์ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ต่างพากันต้องการนำนางงามมาดึงฐานคนดู

 

“เพราะการประกวดนางงามในไทยคนดูเยอะมาก ขณะที่รายการประกวดร้องเพลงล้มหายตายจากไปแล้ว แต่การประกวดนางงามฆ่ายังไงก็ไม่ตาย”

 

ทำให้นางงามเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ใหม่ที่สถานีโทรทัศน์ต้องการอยากมีไว้ครอบครอง ซึ่งนอกจากจะดึงคนดูแล้ว ยังสามารถดึงสปอนเซอร์ได้อีกด้วย 

 

กระทั่งปัจจุบัน อิทธิพลสถานีโทรทัศน์ลดลงไปอย่างมาก เมื่อมีช่องทางออนไลน์เข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ ก็เหลือเพียง Miss Universe Thailand เวทีเดียวที่ถ่ายทอดสดผ่าน PPTV ขณะที่เวทีอื่นๆ เน้นขึ้นไปอยู่บนช่องทางออนไลน์ บริบททุกอย่างได้เปลี่ยนไป เพราะใครๆ ก็สามารถสร้างช่องทางโซเซียลเป็นของตัวเองได้ 

 

ต่อไปนางงามจะขายสวยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องขายของได้ด้วย

 

สืบเนื่องมาจากฝั่งผู้จัดหรือเจ้าของเวทีได้พยายามสร้างช่องทางรายได้ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่การประกวดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสร้างแบรนดิ้งและผลิตภัณฑ์ตัวเองขึ้นมา เพื่อให้นางงามเป็นอินฟูเอ็นเซอร์ช่วยขายผ่านช่องทาง Facebook และ TikTok เนื่องจากนางงามแต่คนจะมีแฟนคลับหรือที่เรียกว่าแฟนด้อม ทั้งกลุ่ม LGBTQIA+, ผู้หญิง และคู่จิ้นสายวาย ที่ต่างเข้ามาสนับสนุนงานของนางงามที่ตอนเองชื่นชอบ 

 

ทั้งนี้ อนาคตของธุรกิจนางงามจะไปต่อได้และรักษากระแสได้มากน้อยแค่ไหน ต่างขึ้นอยู่กับเจ้าของเวทีว่าจะบริหารจัดการอย่างไร 

 

ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่รู้ว่าอนาคตจะมีอะไรเข้ามาดิสรัปต์อีกหรือไม่ เพราะทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องควบคุมคุณภาพของการประกวดให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

 

สปอนเซอร์ยังสนใจสนับสนุนนางงามหากมีฐานลูกค้าที่ตรงกัน

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คอนเทนต์นางงามได้รับความน่าสนใจมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่าปีที่ผ่านมาคอนเทนต์นางงามไม่ได้เป็นคอนเทนต์ระดับแมสเหมือนสมัยก่อน 

 

การประกวดนางงาม

ภาพ: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD

 

จึงฉายภาพให้เห็นว่า วันนี้นางงามเป็นคอนเทนต์ของเฉพาะเซกเมนต์ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบนางงาม ผู้หญิง หรือ LGBTQIA+ ที่เข้ามาหล่อเลี้ยงให้คอนเทนต์ยังได้รับความสนใจอยู่ ซึ่งไม่ได้เหมือนกับการแข่งขันกีฬาบางประเภทที่ทุกคนในประเทศให้ความสนใจ

 

และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบันหลายๆ เวทีไม่ได้รับการตอบรับในแง่ของการลงโฆษณาทางทีวี แต่สปอนเซอร์ส่วนใหญ่กลับให้การตอบรับผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากกว่า หากมองแล้วว่าฐานแฟนคลับตรงกับกลุ่มเป้าหมายท่ีแบรนด์วางไว้

 

เป้าหมายเวทีใหญ่ Miss Grand และ Miss Universe มุ่งนำธุรกิจนางงามเข้าตลาดหุ้น

 

เรียกได้ว่าการประกวดนางงามนั้นเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากในไทย จนทำให้ปัจจุบันมีเวทีจัดประกวดนางงามมากถึง 9 เวทีด้วยกัน เช่น นางสาวไทย, Miss Universe Thailand, Miss Grand Thailand, Miss Thailand World และ Miss Tiffany เป็นต้น

 

แต่เวทีที่ออกมาเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้งคงหนีไม่พ้น 2 ค่ายใหญ่ๆ อย่าง บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้จัดประกวด Miss Grand Thailand (MGI) ภายใต้การนำทัพของ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ตามมาด้วย บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ผู้จัดประกวด Miss Universe (MUO) ภายใต้การนำทัพของ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์

 

โดยทั้งสององค์กรมองเป้าหมายใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันคือ การขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทั้งสองค่ายนำธุรกิจนางงามเข้าตลาดหุ้น เพื่อระดมทุนแล้วนำไป ขยายธุรกิจในอนาคต

 

ก่อนหน้านี้มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกินสัดส่วน 28.57% ของหุ้นทั้งหมด 

 

การประกวดนางงาม

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

 

มีเป้าหมายนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ซื้ออาคารและปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารสำนักงานใหม่ ควบคู่กับการขยายธุรกิจ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ในทุกช่องทาง

 

เช่นเดียวกับ Miss Universe Organization (MUO) ที่เตรียมเข้าระดมทุนซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กภายในปี 2025 ภายใต้ชื่อบริษัท JKN Metaverse

 

เจาะเบื้องลึกธุรกิจนางงาม กับรายได้ที่มีมากกว่าการประกวด

 

หากเจาะลึกลงมาถึงธุรกิจนางงามของ Miss Grand Thailand (MGI) บริษัทมีธุรกิจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งที่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ได้แก่ Miss Grand MGI และ NangNgam ตามด้วยธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์

 

ถัดมาคือธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจซื้อเวลาออกอากาศของรายการ ทูเดย์โชว์, ครัวคุณต๋อย และ เพชรรามา ไปขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจจะโฆษณาสินค้า ส่วนธุรกิจบันเทิงที่เป็นการเปิดให้กลุ่มลูกค้าได้มีส่วนร่วมกับนางงามและศิลปินของบริษัทและธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน โดยบริษัทจะทำสัญญากับผู้ชนะการประกวดให้เป็นศิลปินในสังกัดเพื่อทำงานต่างๆ ได้แก่ งานรีวิวสินค้า พิธีกร โชว์ตัว เดินแบบ และแสดงภาพยนตร์ ฯลฯ

 

ขณะที่ธุรกิจ Miss Universe (MUO) มีรายได้จากการอนุญาตสิทธิ์ให้แต่ละประเทศจัดประกวดนางงามและให้ประเทศต่างๆ เป็นเจ้าภาพ, รายได้จากการรับจ้างผลิตงานประกวด, รายได้จากผู้สนับสนุนหลัก, รายได้จากการจำหน่ายหรือให้สิทธิ์ผลิตสินค้าแบรนด์ และรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการประกวด

 

เรียกได้ว่าอนาคตวงการนางงามในไทยยังมีโอกาสเฟื่องฟูอีกมากเลยทีเดียว

 

ภาพปก: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising