×

Beatles ‘64 (2024) สารคดีน่าดูว่าด้วยเสียงกรี๊ด ทรงผมม็อบถูพื้น โทรทัศน์ และการบุกอเมริกาของสี่เต่าทอง

12.12.2024
  • LOADING...
The Beatles

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • การปรากฏตัวครั้งแรกของวงดนตรีบันลือโลกจากเกาะอังกฤษ ‘The Beatles’ ในรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ชื่อดัง The Ed Sullivan Show เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 1964 หรือราว 2 เดือนเศษๆ ภายหลังความตายของประธานาธิบดี John F. Kennedy เรียกอย่างอื่นไม่ได้นอกจากปรากฏการณ์ทางโทรทัศน์ที่เรตติ้งพุ่งกระฉูดเป็นประวัติการณ์ ประมาณกันว่าการออกอากาศครั้งนั้นสามารถดึงคนดูได้มากมายมหาศาลถึง 73 ล้านคน (หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ) และ George Harrison สมาชิกของวง ถึงกับให้สัมภาษณ์อย่างติดตลกว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่พวกเขาออนแอร์ กระทั่งอาชญากรยังเว้นวรรคการทำงาน
  • Beatles ‘64 ผลงานการกำกับโดย David Tedeschi และมี Martin Scorsese เป็นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งเพิ่งจะสตรีมทางช่อง Disney+ Hotstar ก็เป็นภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องของ The Beatles ซึ่งจะว่าไปแล้วในส่วนของข้อมูลข่าวสารก็ไม่ได้หยิบยื่นเนื้อหาแปลกใหม่สำหรับคนดูที่เป็นสาวกแต่อย่างใด ขณะที่กรอบการเล่าเรื่อง การมาเยือนอเมริกาครั้งแรกเพื่อออกรายการวาไรตี้โชว์ของพิธีกรชื่อดัง ซึ่งในมิติทางประวัติศาสตร์ มันคือจุดเริ่มต้นของกระแสความคลั่งไคล้ The Beatles ที่แพร่กระจายไปทั่วอเมริกายิ่งกว่าไฟลามทุ่ง อีกทั้งยังเป็นการเปิดศักราชให้กับวงดนตรีจากเกาะอังกฤษได้แจ้งเกิดหลายต่อหลายวง

The Beatles

 

ว่ากันว่าคนอเมริกันยุคบุปผาชนล้วนแล้วแต่จดจำได้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนหรือกำลังทำอะไรในตอนที่รับรู้ข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดี John F. Kennedy ซึ่งออกอากาศทั้งทางวิทยุ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1963 หรือเมื่อราว 61 ปีที่แล้ว และกล่าวได้ว่าห้วงเวลาที่ Walter Cronkite ผู้ประกาศข่าวซึ่งเป็นตำนานของช่อง CBS รายงานข่าวการเสียชีวิตของประธานาธิบดี John F. Kennedy ด้วยเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้า ก็กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นนั้นไม่มีวันลืมเลือน

 

เหตุลอบสังหารผู้นำสูงสุดของประเทศอย่างอุกอาจและชวนให้เสียขวัญก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ควรหมายเหตุควบคู่ไปด้วยก็คือ คนอเมริกันคงจะไม่รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นของเหตุการณ์ดังกล่าวถึงเพียงนี้หากพวกเขาไม่ได้เกาะติดสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนาทีต่อนาที หน้าจอภาพขาวดำ ร่วมสวดมนต์ภาวนาเอาใจช่วยให้ผู้นำของพวกเขารอดพ้นจากอันตราย และเมื่อคำอธิษฐานไม่สัมฤทธิ์ผล การถ่ายทอดสดงานรัฐพิธีศพของประธานาธิบดี John F. Kennedy ซึ่งจัดขึ้นในอีก 3 วันต่อมา ก็เปิดโอกาสให้ผู้คนทั้งชาติได้ร่วมไว้อาลัย

 

ไม่มีข้อสงสัยว่านั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่โทรทัศน์เล่นบทบาทสำคัญซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของมวลชน และในขณะที่โทรทัศน์มีส่วนช่วยกระตุ้นเร้าความโศกเศร้าให้แผ่ปกคลุมไปทั่วทั้งประเทศ อีกด้านหนึ่งมันก็สามารถพลิกฟื้นอารมณ์ความรู้สึกที่ดำดิ่งอยู่ในความเหี่ยวแห้งอับเฉาให้กลับมาคึกคักสนุกสนานในช่วงที่ห่างกันชั่วครู่ยามได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

 

The Beatles

 

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การปรากฏตัวครั้งแรกของวงดนตรีบันลือโลกจากเกาะอังกฤษ ‘The Beatles’ ในรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ชื่อดัง The Ed Sullivan Show เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 1964 หรือราว 2 เดือนเศษๆ ภายหลังความตายของประธานาธิบดี John F. Kennedy เรียกอย่างอื่นไม่ได้นอกจากปรากฏการณ์ทางโทรทัศน์ที่เรตติ้งพุ่งกระฉูดเป็นประวัติการณ์ ประมาณกันว่าการออกอากาศครั้งนั้นสามารถดึงคนดูได้มากมายมหาศาลถึง 73 ล้านคน (หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ) และ George Harrison สมาชิกของวง ถึงกับให้สัมภาษณ์อย่างติดตลกว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่พวกเขาออนแอร์ กระทั่งอาชญากรยังเว้นวรรคการทำงาน

 

แต่จำนวนหรือปริมาณของคนดู หรือระดับเดซิเบลของเสียงกรีดร้องอย่างอื้ออึงของแฟนๆ The Beatles ก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของผลกระทบทางวัฒนธรรม แง่มุมที่ชวนครุ่นคิดจริงๆ มาจาก Paul McCartney ผู้ซึ่งคำบอกเล่าของเขาในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Beatles ‘64 ช่วยเชื่อมโยงให้คนดูมองเห็นว่า การถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันของประธานาธิบดี John F. Kennedy กับการบุกพิชิตอเมริกาของ The Beatles (ซึ่งได้รับอานิสงส์จากพลังอำนาจของโทรทัศน์) ไม่ได้เป็น 2 ปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ โดยเจ้าตัวตั้งข้อสังเกตในทำนองที่ว่า บางทีการมาถึงของสี่เต่าทองพร้อมกับเสียงเพลงที่มองโลกในเชิงบวก น่าจะมีส่วนเยียวยาความโศกเศร้าของผู้คนไม่โดยตรงก็โดยอ้อม และนำพาให้คนหนุ่มสาวอเมริกันได้ ‘ออกทุกข์’ อย่างเป็นทางการ

 

The Beatles

The Beatles

 

ตามเนื้อผ้า Beatles ‘64 ผลงานการกำกับโดย David Tedeschi และมี Martin Scorsese เป็นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งเพิ่งจะสตรีมทางช่อง Disney+ Hotstar ก็เป็นภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องของ The Beatles ซึ่งจะว่าไปแล้วในส่วนของข้อมูลข่าวสารก็ไม่ได้หยิบยื่นเนื้อหาแปลกใหม่สำหรับคนดูที่เป็นสาวกแต่อย่างใด หรือว่ากันตามจริง ฟุตเทจที่คนทำภาพยนตร์ใช้เป็นโครงหลักก็นำมาจากภาพยนตร์สารคดีแนว Direct Cinema เรื่อง What’s Happening! The Beatles in the U.S.A. (1964) ของสองพี่น้อง Albert และ David Maysles (คนที่ทำ Gimme Shelter ภาพยนตร์สารคดีคอนเสิร์ตวง The Rolling Stones ที่ลงเอยด้วยเหตุฆ่ากันตาย) ขณะที่กรอบการเล่าเรื่องก็ตามนั้นเลย การมาเยือนอเมริกาครั้งแรกเพื่อออกรายการวาไรตี้โชว์ของพิธีกรชื่อดัง ซึ่งในมิติทางประวัติศาสตร์ มันคือจุดเริ่มต้นของกระแสความคลั่งไคล้ The Beatles ที่แพร่กระจายไปทั่วอเมริกายิ่งกว่าไฟลามทุ่ง อีกทั้งยังเป็นการเปิดศักราชให้กับวงดนตรีจากเกาะอังกฤษได้แจ้งเกิดหลายต่อหลายวง

 

ข้อที่น่าพูดถึงเกี่ยวกับฟุตเทจของสองพี่น้อง Maysles ก็คือวิธีการที่พวกเขาและทีมงานฝังตัวอยู่กับเหล่าสมาชิกวงในห้องสวีทของโรงแรม ซึ่งในแง่หนึ่งมันคือสถานการณ์ที่ทั้ง 4 หนุ่มจากลิเวอร์พูลไปไหนมาไหนไม่ได้ และถูกจองจำให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ เกือบตลอดเวลา เนื่องจากสถานที่ที่พวกเขาพำนักอาศัยตกอยู่ในวงล้อมของแฟนๆ ที่เฝ้าคอยว่าเมื่อไรไอดอลที่หมายปองจะโผล่มาให้ยลโฉมสักที (ฟุตเทจของ Maysles ถึงกับบันทึกให้เห็นว่าหญิงสาว 2 คนเล็ดลอดระบบรักษาความปลอดภัยและโผล่ไปเกือบจะถึงห้องพัก จนเมื่อถูกจับได้ทั้ง 2 คนก็ยังโกหกว่าเป็นแขกที่พักอาศัยอยู่ในโรงแรม) และภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าคนดูก็แทบจะทำให้พวกเราหลงลืมไปว่ามีกล้องจับจ้องอยู่ตรงนั้น และสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงซึ่งแทบจะปราศจากการปรุงแต่งก็ค่อยๆ เผยตัวมันเอง

 

The Beatles

 

หนึ่งในห้วงเวลาแบบนั้นได้แก่ตอนที่เราได้เห็น Paul McCartney ซึ่งนั่งอยู่ในรถลิมูซีน เฝ้ามองกลุ่มแฟนเพลงที่เกาะกระจกและส่งเสียงกรีดร้องในระยะประชิด โดยเจ้าตัวทำอะไรไม่ได้มากนักนอกจากโบกมือให้และส่งยิ้มหวานด้วยท่าทีเป็นมิตร และทีละน้อยกล้องของพี่น้อง Maysles ก็เปิดโอกาสให้คนดูได้ลิ้มรสชาติของสิ่งที่เรียกว่า ‘A Day in the Life’ หรือวันหนึ่งในชีวิตของการเป็นซูเปอร์สตาร์ ที่พร้อมจะถูกแฟนๆ รุมทึ้งตลอดเวลา

 

แน่นอนว่ามันคงจะเป็นเรื่องน่าสนุกในช่วงเริ่มต้น แต่สีหน้าของ Paul McCartney และชาวคณะ บอกโดยอ้อมว่านี่ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นหรือเหนือความคาดหมายอีกแล้ว หรือว่ากันตามจริง ในปีเดียวกันนั้นเอง พวกเขาก็เล่นภาพยนตร์ที่บอกเล่าชีวิตที่ต้องวิ่งหนีการไล่ล่าของเหล่าแฟนเพลงอย่างชนิดหัวซุกหัวซุน อันได้แก่ ภาพยนตร์เพลงเรื่อง A Hard Day’s Night (1964) นั่นเอง

 

ขณะที่เนื้อหาในส่วนที่ David Tedeschi คนทำภาพยนตร์สารคดี Beatles ‘64 สร้างสรรค์และตีความขึ้นใหม่ ก็ช่วยไขความกระจ่างและชักชวนให้คนรุ่นหลังมองปรากฏการณ์เมื่อครั้งนั้นด้วยสายตาที่สร่างจากความมัวเมาลุ่มหลงทีเดียว ไล่มาตั้งแต่พฤติการณ์ส่งเสียงกรีดร้องอย่างคลุ้มคลั่ง ซึ่งได้รับคำอธิบายจากอดีตแฟนเพลง 2-3 คน หนึ่งในนั้นได้แก่ Jamie Bernstein ลูกสาวของวาทยกรชื่อก้องโลกอย่าง Leonard Bernstein ที่บอกว่าเพลงของ The Beatles ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นเร้าตามธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด และจำเป็นต้องพรั่งพรูความรู้สึกด้วยการส่งเสียงที่ไม่เป็นภาษาคน

 

The Beatles

The Beatles

 

ส่วนอีกหนึ่งฟุตเทจเก่าที่ถูกนำมาร้อยเรียงได้อย่างน่าสนใจก็คือถ้อยคำของ Betty Friedan นักเขียนผู้ล่วงลับ ที่อธิบายรูปโฉมโนมพรรณของทั้ง 4 คนในมิติของเพศสภาพทำนองว่า The Beatles นำเสนอภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเหล่าชายแท้ที่หมกมุ่นอยู่กับมัดกล้ามใหญ่โต ความกำยำล่ำสันและบึกบึน การใช้พละกำลังและความรุนแรงเพื่อพิสูจน์ความแมน ตรงกันข้าม พวกเขาสะท้อนบุคลิกที่อ่อนไหวและอ่อนโยน หรือแม้กระทั่งอ่อนแอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอับอายเสมอไป ขณะที่ใครอีกคนก็พูดคล้ายๆ กันว่า รูปลักษณ์ของ The Beatles ไม่ได้ขับเน้นความเป็นชายหรือหญิงอย่างสุดขั้ว พวกเขาเหมือนกับอยู่ตรงกลาง หรือไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วม (ซึ่งในแง่หนึ่งก็ต้องยกเครดิตเรื่องการใส่สูทผูกเนกไทและตัดผมทรง Mop Top หรือม็อบถูพื้นของ The Beatles ว่าเป็นวิสัยทัศน์อันล้ำเลิศของ Brian Epstein ผู้จัดการวง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบังอีกแล้วว่าเขาเป็นเกย์ และกล่าวได้ว่า The Beatles ก็เป็นเหมือนร่างทรงของเขาด้วยเหมือนกัน)

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามาก็ดูจะเป็นเรื่องปลีกย่อยเมื่อเทียบกับเนื้อหาในส่วนที่ David Tedeschi ชวนคนดูไปสำรวจรากเหง้าทางดนตรีของสี่เต่าทอง Smokey Robinson นักร้องและนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ บอกว่า The Beatles เป็นศิลปินผิวขาวกลุ่มแรกที่พูดอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาชื่นชอบดนตรีของคนผิวดำและเติบโตมากับการฟังเพลงของศิลปินค่าย Motown (หนึ่งในวงขวัญใจของพวกเขาก็คือ The Miracles) อีกทั้งการเลือกเพลงของนักร้องผิวดำมา Cover เพลงแล้วเพลงเล่า (You’ve Really Got A Hold On Me, Roll Over Beethoven หรือ Twist And Shout) ก็บอกโดยอ้อมถึงจุดยืนและอุดมการณ์ในประเด็นความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติและสีผิว ซึ่งก็รู้ๆ กันว่านี่เป็นเรื่องอ่อนไหวและเปราะบางในสังคมอเมริกัน

 

The Beatles

 

แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ทุกภาคส่วนที่อ้าแขนต้อนรับ The Beatles สื่อมวลชนสายอนุรักษนิยมเปรียบการมาเยือนอเมริกาของ The Beatles ว่าเหมือนกับโรคหัดเยอรมันที่แพร่ระบาดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น “มันทำให้คนเหล่านั้นมีอาการผื่นคันและแสดงออกด้วยการชักดิ้นชักงอ” หรือเจ้าหน้าที่ของ Carnegie Hall ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตของวงดนตรีชั้นสูง พบเมื่อสายเกินไปแล้วว่า The Beatles ไม่ใช่วงเครื่องสาย ใครคนนั้นถึงกับเอ่ยปากกับ Sid Bernstein คนจัดคอนเสิร์ต ทำนองว่า “คราวหน้าไม่ต้องติดต่อมาเล่นดนตรีที่นี่อีกแล้ว” หรืออีกเรื่องน่าอัปยศได้แก่การที่เจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในกรุงวอชิงตันพูดจาเหยียดหยามทั้ง 4 หนุ่ม เพราะพวกเขามาจากลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นเมืองของคนใช้แรงงาน หรือพูดรวมๆ ทั้ง 3 กรณีและรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ภาพยนตร์สอดแทรกก็ชวนให้สรุปว่า The Beatles เป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอม และการมาถึงของพวกเขาสั่นคลอนสิ่งที่เรียกว่า Status Quo หรือระบบระเบียบดั้งเดิมที่ผู้คนรุ่นก่อนหน้ายึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน

 

The Beatles

 

หรือถ้าจะขมวดประเด็นที่เล่ามาทั้งหมดอย่างกะทัดรัดจริงๆ ก็คงต้องบอกว่า Beatles ‘64 ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพยนตร์สารคดีบันทึกความเป็นมาเป็นไปของ The Beatles อีกเรื่อง (ซึ่งถูกสร้างออกมานับไม่ถ้วน) เพราะในขณะที่ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยบอกเล่าการมาถึงอเมริกาของวงดนตรีบันลือโลก ทีละน้อยมันกลับลงเอยด้วยการกะเทาะให้เรามองเห็นสังคมอเมริกันในช่วงเวลาที่สายลมของความเปลี่ยนแปลงกำลังโหมกระพือ

 

Beatles ‘64 (2024)

ผู้กำกับ: David Tedeschi

นักแสดง: John Lennon, Paul McCartney, George Harrison และ Ringo Starr

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X