×

เตรียมรับมือภาวะตลาดหมี สถิติชี้ต้องใช้เวลา 27 เดือนกว่าจะฟื้นกลับมาเท่าเดิม ย้ำลงทุนช่วงนี้ควรใช้เงินเย็น

15.06.2022
  • LOADING...
ภาวะตลาดหมี

กระแสความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นของบรรดานักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งผลให้สถานการณ์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทก้าวเข้าสู่ภาวะตลาดหมีเรียบร้อยแล้ว

 

โดยนักวิเคราะห์มองว่าความพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ บวกกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังส่งผลให้ราคาหุ้นในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงผู้ผลิตรถยนต์ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาวะผันผวนมากขึ้นในมูลค่าของหุ้นเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนคุ้นเคยกันมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่ตลาดวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะตลาดหมีคือเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของไวรัสโควิด แต่ด้วยมาตรการเชิงรุกของ Fed ทำให้ราคาหุ้นกระเตื้องขึ้น ช่วยให้นักลงทุนโกยเงินเข้ากระเป๋าได้ด้วยดี

 

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มสั่นคลอนนับตั้งแต่ก้าวย่างเข้าสู่ปี 2022 โดยเริ่มจากสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่างคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งปรับตัวลดลงจากราคาเกือบ 68,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ในระดับต่ำกว่า 23,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับภาวะตลาดหมีนี้ ใช้เพื่ออธิบายว่าดัชนีหุ้นอย่าง ดัชนี S&P 500 หรือดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 20 % จากระดับสูงสุดครั้งล่าสุด

 

ในสหรัฐอเมริกา สำหรับดัชนี S&P 500 ถูกมองว่าเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีท ซึ่งดัชนีดังกล่าวร่วงลงเกือบ 4% ในวันจันทร์ (13 มิถุนายน) และต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยทำไว้มากกว่า 20% ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลงเกือบ 3% ในวันจันทร์ และแนสแด็ก ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ร่วงลงเกือบ 5%

 

แม้ว่า Fed จะพยายามสร้างสมดุลระหว่างภาวะเงินเฟ้อกับความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้หุ้นราคาร่วงลงกว่านี้ได้ และภาวะตลาดหมีมีแนวโน้มจะลากยาว

 

ในขณะที่ที่ปรึกษาหลายคนกล่าวว่าการที่ราคาผันผวนเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน โดยหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่แข็งแกร่งในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินในตอนนี้ หรือต้องการล็อกการสูญเสีย การเทขายหุ้นที่ถือครองอยู่ในเวลานี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามแต่อย่างใด

 

ปัจจุบันเหล่าที่ปรึกษาแนะนำให้นักลงทุนเข้าลงทุนในหุ้นเพิ่มเติมก็ต่อเมื่อไม่มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเป็นเวลาหลายปี

 

ส่วนคำถามที่ว่าภาวะตลาดหมีจะสิ้นสุดเมื่อใดนั้นเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่โดยเฉลี่ยแล้วนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดหมีมักใช้เวลา 13 เดือนในการปรับลดจากระดับสูงสุดไประดับที่ตำ่ที่สุด และใช้เวลาอีก 27 เดือนในการฟื้นตัวจนกว่าจะได้มูลค่าเดิมกลับคืนมา

 

ขณะนี้ ดัชนี S&P 500 ลดลงโดยเฉลี่ย 33% โดยเกณฑ์ตัดสินภาวะตลาดหมีก็คือการที่ดัชนีในตลาดวอลล์สตรีทปรับตัวร่วงลงกว่า 20% จากระดับสูงสุด ซึ่งตลาดหมีที่กินเวลายาวนานที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปี 2007-2009 ที่ดัชนี S&P 500 ลดลงถึง 57% ขณะที่ตลาดหมีที่สั้นที่สุดเกิดขึ้นในปี 2020 ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 23 มีนาคม ซึ่งดัชนี S&P 500 ลดลงเกือบ 35%

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เมื่อวานนี้ (14 มิถุนายน) ปิดตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยเป็นผลจากการที่เหล่านักลงทุนส่วนใหญ่ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะใช้แนวทางที่แข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับลดอัตราเงินเฟ้อที่ล่าสุดยังคงพุ่งสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีล่าสุด โดยเพิ่มขึ้น 0.11% มาอยู่ที่ 3.483% ทำสถิติแตะระดับสูงสุดที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่เดือนเมษายน 2011

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี พุ่งขึ้นเกือบ 0.16% มาอยู่ที่ 3.437% และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี เพิ่มขึ้น 0.6% เป็น 3.428% ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเคลื่อนไหวผกผันกับราคา

 

นับตั้งแต่วันสุดท้ายของเดือนพฤษภาคมที่อัตราตอบแทนแตะระดับ 2.74% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีการปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเดือนนี้ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงร้อนแรงทำให้นักลงทุนเลิกขายพันธบัตรพร้อมคาดการณ์ว่า Fed จะยกระดับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีในขณะนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากจุดเริ่มต้นเมื่อตอนต้นปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 1.51%

 

ทิโมธี เลสโก (Timothy Lesko) ที่ปรึกษาความมั่งคั่งของ Mariner Wealth Advisors ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

 

ด้านตลาดทองคำยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเทขายของเหล่านักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าราคาทองคำมีสิทธิ์ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากตลาดเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้นโยบายการเงินที่แข็งกร้าวมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

ขณะนี้คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังหารือถึงความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระลอกใหม่ ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะปรับขึ้นที่ 0.50% แต่ด้วยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มาตรวัดประจำปีแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 8.6% เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

จากข้อมูลของ CME FedWatch Tool ตลาดเห็นโอกาส 90.5% ที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า นี่จะเป็นครั้งแรกที่ Fed เคลื่อนไหวอย่างจริงจังในรอบ 27 ปี ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่านโยบายที่แข็งกร้าวของ Fed จะไม่เป็นผลดีต่อราคาทองคำในระยะสั้น

 

โอเล ฮันเซน (Ole Hansen) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ที่ Saxo Bank กล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากภาพทางเทคนิคของทองคำ ราคามีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ราว 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาหลุดจากกรอบดังกล่าว ทองคำก็มีสิทธิ์ร่วงแตะระดับ 1,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้

 

อย่างไรก็ตาม ฮันเซนมองว่า โดยรวมแล้วยังมีปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนราคาทองคำอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายผันผวนในตลาดการเงิน การคุกคามของอัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา

 

ความเห็นดังกล่าวของฮันเซน สอดคล้องกับนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งที่มองว่า แม้ราคาทองคำในห้วงเวลานี้จะปรับตัวลดลง แต่ตลาดโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง และราคาทองคำที่ลดลงในเวลานี้น่าจะเป็นโอกาสซื้อเพื่อทำกำไร โดยนักวิเคราะห์จาก Blue Line Futures ระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่เงินเฟ้อคลี่คลาย และ Fed สามารถจัดการควบคุมให้อยู่ในเป้าหมายที่กำหนด เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่ทองคำจะกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X