×

BDMS – เยี่ยมชมกิจการโรงพยาบาลที่จังหวัดระยอง

06.06.2023
  • LOADING...
BDMS

เกิดอะไรขึ้น:

หลังเยี่ยมชมกิจการโรงพยาบาลของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักที่บริษัทวางแผนขยายเครือข่ายโรงพยาบาลและมีความต้องการใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น สอดรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ในปี 2566-2568 BDMS วางแผนเพิ่มจำนวนเตียงตามโครงสร้างโรงพยาบาลประมาณ 600 เตียง โดย 30% จะอยู่ในจังหวัดระยอง 

 

ปัจจุบัน BDMS เป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายสำคัญในจังหวัดระยอง โดยมีโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง (เปิดให้บริการปี 2546), โรงพยาบาลศรีระยอง (เปิดให้บริการปี 2558), โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพระยอง (บริการ OPD เปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566) และโรงพยาบาลกรุงเทพปลวกแดง (จำนวนเตียงโครงสร้าง 180 เตียง โดยเฟสแรกมี 59 เตียง จะเปิดให้บริการวันที่ 15 มิถุนายน 2566)

 

เครือข่ายโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งในจังหวัดระยองของ BDMS ซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยในวงกว้างและให้บริการทางการแพทย์ครบวงจร ถือเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหม่ โดยโรงพยาบาลกรุงเทพระยองให้บริการเฉพาะทางด้วย ‘ศูนย์ความเป็นเลิศ’ ด้านอุบัติเหตุ อาชีวเวชศาสตร์ มะเร็ง และกระดูก  

 

ในขณะที่โรงพยาบาลศรีระยองมุ่งเน้นด้านกุมารเวชศาสตร์ ส่วนโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพระยองให้บริการเคมีบำบัดซึ่งมีความต้องการใช้บริการสูง โดยเฉพาะบริการรังสีรักษาซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีบริการนี้ในจังหวัดระยอง ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางไปรับการรักษาที่จังหวัดชลบุรีแทน และโรงพยาบาลกรุงเทพปลวกแดงตั้งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด และมีแผนที่จะให้บริการผู้ป่วยโครงการประกันสังคม (SC) ในปี 2567 โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วย SC 50,000-70,000 คน (จากผู้ประกันตนในระบบ SC ประมาณ 515,000 คน ในจังหวัดระยอง) 

 

นอกจากนี้ BDMS ยังมีคลินิก 12 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อให้บริการด้านการแพทย์ทั่วไปและส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ในปี 2565 เครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดระยองมีรายได้ 3.2 พันล้านบาท หรือประมาณ 3% ของรายได้รวม การขยายจำนวนเตียงและเพิ่มบริการเฉพาะทางด้านมะเร็งคาดว่า จะหนุนให้รายได้เพิ่มขึ้น 4% สู่ 3.6 พันล้านบาทในปี 2566 และ 5 พันล้านบาทในปี 2568

 

ทั้งนี้ จังหวัดระยองมีประชากร (ตามทะเบียน) ประมาณ 751,300 คน (ข้อมูลปี 2564) แต่มีผู้อยู่อาศัย (รวมถึงคนงานในนิคมอุตสาหกรรม) จำนวน 1.5-2.0 ล้านคน โดยอิงกับการประเมินของ BDMS ข้อมูลที่รวบรวมได้แสดงให้เห็นว่า ในปี 2564 มีจำนวนเตียงให้บริการ 1,744 เตียง (โรงพยาบาล 14 แห่ง) ในจังหวัดระยอง แบ่งเป็น 1,349 เตียงในโรงพยาบาลรัฐ และ 395 เตียงในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคิดเป็น 2.3 เตียงต่อประชากร 1,000 คน แต่จะลดลงเหลือ 1.2 เตียงต่อประชากร 1,000 คน หากใช้จำนวนผู้อยู่อาศัยที่ประเมินได้ที่ 1.5 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 2.6 และกรุงเทพฯ ที่ 5.3 ค่อนข้างมาก บ่งชี้ถึงจำนวนเตียงโรงพยาบาลระดับต่ำในจังหวัดระยอง

 

นอกจากนี้ BDMS มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง ภายใต้สัญญา Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 50 ปี เนื่องจาก BDMS เชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยขยายฐานผู้ป่วยและเป็นศูนย์ส่งต่อผู้ป่วย BCH และ CHG ก็สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการนี้เช่นเดียวกัน แต่ไทม์ไลน์ของโครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจน

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BDMS ปรับลดลง 2.56%MoM อยู่ที่ระดับ 28.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 0.18%MoM สู่ระดับ 1,531.20 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

หลังจากฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2565 InnovestX Research คาดว่า กำไรปกติของ BDMS จะเติบโต 12%YoY ในปี 2566 สู่ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยอิงกับรายได้ที่เติบโต 7% และ EBITDA Margin ที่ 25.3% (เพิ่มขึ้นจาก 24.7% ในปี 2565) และคาดว่ากำไรปกติ 2Q66 จะเติบโต YoY แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนให้คำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือนสำหรับ BDMS ที่ Outperform ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF ที่ 34 บาทต่อหุ้น และเลือกให้เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มการแพทย์

 

ปัจจัยที่ต้องจับตาในปี 2566 คือ ผลกระทบเชิงบวกจากพัฒนาการในตลาดต่างประเทศใหม่ๆ โดย BDMS กำลังดำเนินการร่วมกับ Ping An Health Insurance Company of China, Ltd. (Ping An Health) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ประกันสุขภาพ แพ็กเกจสุขภาพหลังโควิด รวมถึงแพ็กเกจที่เน้นการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Care) ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นใน 3Q66 นอกจากนี้ BDMS ยังได้เปิด BDMS Saudi Arabia Collaboration Center เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการตลาดและกิจกรรมด้านสุขภาพในซาอุดีอาระเบียและภูมิภาคตะวันออกกลางอีกด้วย

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ เหตุการณ์ไม่คาดคิดที่จะส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยชะลอการเข้าใช้บริการ การแข่งขันที่รุนแรง การขาดแคลนบุคลากร และความเสี่ยงด้านกฎหมาย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X