×

ผู้ดำเนินรายการวิทยุ BBC ในเมืองนิวคาสเซิลป่วยหลังรับวัคซีน AstraZeneca ก่อนเสียชีวิต ครอบครัวระบุมีอาการลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนเอกสารการตายยังไม่ฟันธงสาเหตุ

29.05.2021
  • LOADING...
BBC radio host in Newcastle

เป็นข่าวบนหน้าสื่อมวลชนในอังกฤษ เมื่อ ลิซา ชอว์ ผู้ดำเนินรายการหญิงของสถานีวิทยุ BBC Radio Newcastle วัย 44 ปี เสียชีวิตลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (22 เมษายน) ทว่าล่าสุดมีแถลงการณ์จากครอบครัวของเธอที่ระบุว่า เธอมีอาการปวดศีรษะอย่างหนักหลังการรับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ได้หนึ่งสัปดาห์ จากนั้นจึงป่วยขั้นรุนแรงในอีกไม่กี่วันถัดมา และได้รับการรักษาอาการลิ่มเลือดอุดตันและมีเลือดออกในศีรษะ ก่อนที่จะเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งนำความเศร้าโศกมาสู่ครอบครัวเป็นอย่างมาก

 

“เธอได้รับการรักษาโดยทีมดูแลผู้ป่วยหนักของ Royal Victoria Infirmary สำหรับอาการลิ่มเลือดอุดตันและเลือดออกที่ศีรษะ น่าเศร้าที่เธอจากไปท่ามกลางครอบครัวของเธอในบ่ายวันศุกร์” แถลงการณ์ส่วนหนึ่งจากครอบครัวระบุ

 

อีกด้านหนึ่งสำนักข่าว BBC ระบุว่า ได้เห็นเอกสารที่ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตายฉบับชั่วคราวของชอว์แล้ว ซึ่งเอกสารฉบับนี้ออกให้โดย คาเรน ดิลค์ส เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพอาวุโสของเมืองนิวคาสเซิล เอกสารนี้ยืนยันว่าจะมีการสอบสวนการเสียชีวิตของชอว์ และระบุให้ ‘ภาวะแทรกซ้อนจากการรับวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นไปได้และจะถูกนำมาพิจารณา ทั้งนี้เอกสารนี้ไม่ได้บ่งชี้สาเหตุของการเสียชีวิต และสาเหตุจะไม่ถูกระบุจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

 

อนึ่ง ไม่มีการทราบมาก่อนว่าชอว์มีปัญหาสุขภาพประจำตัวใดๆ

 

สำนักงานควบคุมยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) ระบุว่า ประโยชน์ของวัคซีนนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงสำหรับคนส่วนใหญ่ โฆษกของ MHRA แสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของชอว์ และยืนยันว่ารายงานที่มีการเสียชีวิตจะถูกประเมินอย่างเต็มรูปแบบโดย MHRA เช่นเดียวกับอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่ต้องสงสัยอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการประเมินรายละเอียดของการชันสูตรศพด้วยหากมีข้อมูล

 

“การตรวจสอบอย่างละเอียดและเข้มงวดของเราเกี่ยวกับรายงานการเกิดลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำนั้นกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ” โฆษกของ MHRA ระบุ ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าจำนวนกรณีที่พบลิ่มเลือดอุดตันนั้นถือว่ายังต่ำมาก

 

การพบกรณีลิ่มเลือดอุดตันหลังการรับวัคซีน Oxford-AstraZeneca ในหลายประเทศนั้นเป็นเรื่องที่รับทราบกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว และอัตราการพบอาการดังกล่าวจะสูงกว่าเล็กน้อยในหมู่ประชากรที่มีอายุน้อย โดยสำหรับสหราชอาณาจักร พบผู้มีอายุ 40-49 ปีเกิดลิ่มเลือดอุดตัน 10.1 คนต่อวัคซีนล้านโดส และในผู้มีอายุ 30-39 ปีพบ 17.4 คนต่อวัคซีนล้านโดส แต่ทั้งนี้ต้องย้ำว่า MHRA ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เพียงแต่ระบุว่าความเชื่อมโยงระหว่างกันนั้นหนักแน่นมากขึ้น ซึ่งสหราชอาณาจักรมีแนวปฏิบัติตามข้อแนะนำล่าสุดระบุว่า ในกรณีที่เป็นไปได้และอัตราการระบาดอยู่ในระดับต่ำ ผู้มีอายุน้อยกว่า 40 ปีจะได้รับวัคซีนชนิดอื่นที่ไม่ใช่ Oxford-AstraZeneca

 

ส่วนคำอธิบายจากแพทย์ในประเทศไทยที่มีออกมาก่อนหน้านี้ รศ.นพ.นภชาญ เอื้อประเสริฐ สาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายผ่านรายการตอบโจทย์ของไทยพีบีเอสเมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุส่วนหนึ่งว่าขอแบ่งภาวะหลอดเลือดอุตตันจากการฉีดวัคซีนเป็นสองส่วน ส่วนแรกได้แก่ภาวะหลอดเลือดอุดตันโดยทั่วไป เช่น หลอดเลือดอุดตันที่สมองทำให้อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดอุดตันที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันและมีการหลุดลอยของลิ่มเลือดไปอุดตันที่ปอดทำให้เกิดการขาดออกซิเจนแบบเฉียบพลัน ซึ่งไม่พบว่ามีวัคซีนตัวใดเลยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตันโดยทั่วไปในลักษณะนี้ แต่อีกภาวะหนึ่งที่เป็นภาวะพิเศษคือภาวะหลอดเลือดอุดตันโดยเฉพาะหลอดเลือดดำที่สมองร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งมีรายงานตามหลังวัคซีน Oxford-AstraZeneca และ Johnson & Johnson แต่ข้อมูลปัจจุบันก็ถือว่าโอกาสเกิดก็ต่ำมากราว 1 ใน 1 แสน หรือไม่เกิน 1 ใน 5 แสนสำหรับผู้ฉีดวัคซีนดังกล่าว ซึ่งแม้จะเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน แต่เมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงแล้ว ความเสี่ยงจากการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากการเป็นโรคโควิด-19 นั้นสูงกว่าความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนมาก และอาจเป็นโชคดีว่าพันธุกรรมของคนเอเชียอาจจะมีความเสี่ยงกับการเกิดหลอดเลือดอุดตันน้อยกว่าคนยุโรปหรืออเมริกา

 

รศ.นพ.นภชาญ ยังระบุว่า ในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ไปมากกว่าแสนโดสแล้ว ซึ่งแม้จะยังเป็นจำนวนไม่มากและบอกไม่ได้ชัดเจน แต่ก็ยังไม่พบภาวะดังกล่าว ส่วนการศึกษาในบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 521 คนที่ฉีดวัคซีน Oxford-AstraZeneca แล้ว 2-4 สัปดาห์ พบว่ายังไม่พบผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดอุดตัน, เกล็ดเลือดต่ำ หรือมีแอนติบอดีต่อโปรตีนชนิดหนึ่งในเกล็ดเลือดสูงมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน นอกจากนี้ภาวะหลอดเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำยังเป็นภาวะที่วินิจฉัยและรักษาได้ และหากเกิดภาวะดังกล่าวในไทย คณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการฉีดวัคซีนก็ต้องประเมินตัวเลขว่าเกิดมากน้อยแค่ไหน และชั่งน้ำหนักความเสี่ยงต่อประโยชน์ที่จะได้รับก่อนจะตัดสินใจดำเนินการอย่างใดต่อไป

 

ภาพ: BBC

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising