หลายปีมานี้ธนาคารกสิกรไทยปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสลับผู้บริหารสายงานต่างๆ ไปจนถึงการเพิ่มกรรมการผู้จัดการให้มีถึง 4 คน ล่าสุด บัณฑูร ล่ำซำ ผู้นำหัวเรือใหญ่ ประกาศออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย
การเลือกออกจากตำแหน่งสำคัญในช่วงวิกฤตโควิด-19 บัณฑูรมีมุมมองอย่างไร
‘บัณฑูร’ กับการทำงาน 40 ปีที่ธนาคารกสิกรไทย
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าการทำงานธนาคารกว่า 40 ปีเป็นงานที่ทำให้มองโจทย์การแก้ไขปัญหาการค้าได้ดี ยิ่งการบริหารองค์กรใหญ่ที่มีปัญหาหลากหลายทำให้มีประสบการณ์ที่มองโจทย์ได้กว้างไกล รู้จักตั้งคำถามและการหาคนมาช่วยแก้ปัญหา
ตอนนี้ปัญหาหรือพายุลูกใหม่มาในรูปแบบโรคระบาด วิกฤตโควิด-19 สร้างความเสียหายไปทั่วโลกทั้งด้านทรัพยากรและความไม่สงบทางสังคม จึงต้องเตรียมรับมือให้พร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ในส่วนธุรกิจธนาคารเคยเจอวิกฤตมาแล้วในปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) และฟื้นตัวมาได้ ทำให้โครงสร้างทางการตุนเสบียง (เตรียมตัวไว้) พอสมควร ต่อให้เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจ ระบบธนาคารพาณิย์ยังคงรับมือได้
“วิกฤตโควิด-19 สร้างความเสี่ยงหลายด้าน ก็หวังว่ามาตรการรัฐและมาตรการต่างๆ ที่ใส่ไว้จะไม่ทำให้เราไปถึงจุดนั้น (อย่างปี 2540) ที่พายุมาแล้วล่มเลย ส่วนตอนนี้ใส่ (มาตรการ) ไว้ครบไหมก็ยังไม่แน่ใจ เพราะพายุยังไม่เกิด” บัณฑูรกล่าว
ในช่วงวิกฤต เห็นภาครัฐออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือดูแลผู้ประสบความเดือดร้อน แต่ต้องรอดูว่าโรคจะเกิดขึ้นนานเท่าไร โดยหวังว่ามาตรการที่ภาครัฐและฝ่ายแพทย์ทำอยู่จะสกัดการแพร่ระบาดได้ หากจบปัญหาเรื่องโรคไป หลายคนต้องกลับมาทำมาหากิน ต้องคิดกันให้มากขึ้น แม้ว่าการลงทุนจะหาสินเชื่อได้ แต่ต้องหาทางสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างไร
“พายุที่ก่อตัวอีกแบบหนึ่งคือพายุของการที่ไม่สามารถจะแข่งขันกับเขาได้ในโลกใบนี้ ความรู้ใหม่ต้องสร้างขึ้นมา ความรู้แบบเดิมใช้ไม่ได้แล้ว” บัณฑูรกล่าว
การเปลี่ยนผู้นำในภาวะวิกฤต-ชีวิตหลังลงจากตำแหน่ง
บัณฑูรกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันทำงานธนาคารมา 40 ปี คิดว่าถึงแก่เวลาแล้ว จึงส่งมอบงานให้ทีมอย่างมั่นใจทั้งในคณะกรรมการและผู้บริหารทุกระดับ แต่ยังอยู่ที่ธนาคาร เนื่องจากยังต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ของธนาคารเพื่อช่วยงานอื่นต่อไป
“การลงจากตำแหน่งในช่วงที่วุ่นวายแบบนี้คือการทดสอบทีมใหม่ที่ดีที่สุด ถ้ารับมือตอนนี้ได้ก็สามารถรับมือสถานการณ์ตอนไหนก็ได้ ถือเป็นจังหวะที่ดีที่สุด” บัณฑูรกล่าว
ขณะเดียวกันมี 4 คำเตือนให้ทีมบริหาร ‘อย่ามั่ว อย่าไม่คำนวณ อย่าชุ่ย อย่าเหยียบตีนกัน’
- อย่ามั่ว เพราะถ้ามั่วคือความไม่ชัดเจน ตกลงกันอย่างหนึ่งแล้วทำอีกอย่างหนึ่ง มันแก้ปัญหาไม่ได้
- อย่าไม่คำนวณ ทุกอย่างมีตัวเลขกำกับ พูดลอยๆ เป็นนามธรรม พูดได้ทั้งนั้น ตัวเลขไม่ถึงก็ไม่ได้ผล
- อย่าชุ่ย ทุกอย่างต้องมีความระมัดระวัง
- อย่าเหยียบตีนกัน การรักษาสัมพันธภาพของคนที่อยู่ในทีมงานเป็นเรื่องใหญ่ การทะเลาะกันตลอดเวลาไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา
นับจากนี้ ด้วยความสนใจส่วนตัวเรื่องการเกษตรซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการรักษาทรัพยากรป่า จะมีกสิกรไทยเข้ามามีส่วนร่วมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ป่าต้นน้ำของไทย โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่ร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันแก้ปัญหา
ส่วนหนึ่งที่ปรับใช้ประสบการณ์จากการทำงานธนาคารคือการมองให้กว้างขึ้น และหาเทคนิคในการสร้างอาชีพระดับท้องถิ่นที่โยงไปกับป่า
ส่วนคำถามที่ว่าหลังจากนี้จะเข้าสู่การเมืองไหม บัณฑูรตอบว่าไม่เล่นการเมือง แต่ยังต้องทำงานร่วมกันกับภาคการเมือง เพราะเป็นฝ่ายที่ได้รับอำนาจจากประชาชน ดังนั้นทั้งภาครัฐ สายการเมือง ข้าราชการ ต้องทำงานด้วยกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์