ชื่อของ บัณฑูร ล่ำซำ หรือ ‘คุณปั้น’ ของบรรดานักข่าวสายการเงิน เป็นที่รู้จักมาช้านานในฐานะนายแบงก์ใหญ่ของประเทศ เบอร์หนึ่งของธนาคารกสิกรไทย องค์กรที่มีสินทรัพย์มูลค่าหลายแสนล้านบาท และนิตยสาร Forbes ก็ระบุว่า ตัวเขาเองมีทรัพย์สินสูงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
บทความนี้ไม่ได้พูดถึงความร่ำรวยของเขาที่ใครๆ ก็รู้ดี
บัณฑูรตกหลุมรักจังหวัดน่านสุดหัวใจ ไม่เพียงย้ายสำมะโนครัวมาเป็นพลเมืองที่นี่เท่านั้น แต่ยังพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านจำนวนมากที่ยังตกอยู่ในวังวนปัญหามาทั้งชีวิต สำนักข่าว THE STANDARD จึงขอเยี่ยม ‘บ้านเจ้าสัว’ ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อนั่งคุยกับเจ้าสัวกสิกรไทยทั้งมุมที่หลายคนคุ้นเคย และเรื่องบางเรื่องที่ยากจะเห็นจากผู้ชายคนนี้
การเมือง เรื่องธุรกิจ และการตั้งคำถามของ ‘บัณฑูร ล่ำซำ’
“คุณปั้นตื่นเต้นกับการไปเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ไหมครับ”
บ่อยครั้งที่สังคมคาดหวังมุมมองด้านการเมือง หรือประโยคที่คมคายจาก บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เมื่อพูดทีไรก็มักเป็นข่าวพาดหัวหรือประเด็นฮือฮาอยู่เสมอ และ THE STANDARD ก็เลือกถามคำถามนี้
“คือเราก็ต้องไปล่ะ เพื่อดูว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสากลที่เขายอมรับเนี่ย จะสามารถรับโจทย์อย่างนี้ (โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์) ทำต่อไปได้ไหม อย่างไร หรือจะมีแนวคิดใหม่ เราก็ยังนึกไม่ออกว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ มันก็ตอบไม่ได้ ต้องดูหลังจากเดือนมีนาคมนี้ไปก่อน”
นอกจากสถานการณ์การเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อโลกธุรกิจแล้ว เทคโนโลยียังเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่เกิดขึ้นไม่รู้จบ และทำให้บรรดาธนาคารต้องปรับตัวอย่างหนักในอัตราเร่งสูงสุด กสิกรไทยภายใต้การบริหารของบัณฑูรก็เปลี่ยนโฉมหน้าและแนวทางในการแข่งขันอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคและทัศนคติที่มีต่อบริการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
“มันต้องปรับอยู่ตลอดเวลา เพราะวิธีที่มนุษย์ใช้บริการทางการเงินมันเปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยี เดี๋ยวนี้คนก็ไม่เดินเข้าสาขาเหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวนี้คนก็ใช้โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ ถ้าเราไม่ไปอยู่ตรงนั้นด้วย มันก็เหมือนไม่มีใครเข้าร้านเราอีกต่อไป อันนี้เรื่องใหญ่ ที่ผ่านๆ มาที่บอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในธุรกิจนั้นธุรกิจนี้ ไปดูเถอะ จริงๆ มันมีอยู่เรื่องเดียวคือ ลูกค้าเดิมๆ ไม่เดินเข้ามาในร้านอีกต่อไปแล้ว ไปเข้าร้านอื่นที่อยู่ในอากาศ (ดิจิทัล) ดังนั้นถ้าร้านเดิมยังกอดอยู่กับโครงสร้างแบบเดิมๆ ก็จะไม่มีใครมาซื้อของ จะพังไม่พังก็อยู่ตรงนี้นี่ล่ะ สินค้าต่อให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าคนไม่เห็น ไม่เข้ามาในร้าน ยังไงร้านก็ต้องเจ๊ง แบงก์ก็เช่นเดียวกัน แต่ก่อนเรามีโครงสร้างสาขา คนก็มาซื้อสินค้าและบริการทางการเงินที่สาขา แต่เดี๋ยวนี้คนก็คิดว่าไม่เห็นต้องไปสาขาเลย อยู่ตรงไหนก็มีบริการทางการเงินรองรับได้หมด”
หลังจากโลกธุรกิจจดจำเขาเรื่อง ‘Reengineering’ ระบบธนาคารของกสิกรไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน วันนี้บัณฑูรก็ยังไม่หยุดเรียนรู้และปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะอยู่ในยุค Digital Disruption หรือยุคไหนก็ตามที ลูกค้าอยู่ตรงไหน ธุรกิจต้องอยู่ที่นั่น หากไม่มีลูกค้า ก็ยากที่จะมีธุรกิจต่อไปได้
นอกจากการบริหารสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้าแล้ว พันธกิจที่สำคัญอีกด้านของบัณฑูรคือการพลิกฟื้นพื้นที่ป่าจังหวัดน่าน ‘บ้าน’ ที่เขาย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ตั้งแต่ปี 2553ไม่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ยังตกอยู่ในวังวนของปัญหาและความยากจน ถือเป็นภารกิจที่เขาตั้งใจแก้ไขให้ได้อย่างเด็ดขาด
จากแรงบันดาลใจกลายเป็นความมุ่งมั่น
จากความมุ่งมั่นจึงกลายเป็นโครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์
สินค้าต่อให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าคนไม่เห็น ไม่เข้ามาในร้าน ยังไงร้านก็ต้องเจ๊ง แบงก์ก็เช่นเดียวกัน
น่านแซนด์บ๊อกซ์ปี 2 บันไดขั้นแรกสู่การพลิกวิถีชีวิตเกษตรกรน่าน
โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์มีชื่อเต็มว่า ‘การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน: พื้นที่จังหวัดน่าน’ ดำเนินการโดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการภาครัฐ และตัว บัณฑูร ล่ำซำ เองนั่งเป็นประธานกรรมการภาคเอกชน สำหรับคณะทำงานนี้มีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน คณะกรรมการ และอนุกรรมการอีกจำนวนมากร่วมด้วย
เป้าหมายสำคัญของโครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ คือ 1. แก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ของจังหวัดน่าน เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่จังหวัดน่านส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน จึงเกิดกรณีที่ดินทำกินของชาวบ้านทับกับพื้นที่ป่า รวมทั้งการบุกรุกป่าเพื่อประกอบอาชีพ ทำให้ประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีและไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง
2. จัดหาเงินทุนสนับสนุนสำหรับชาวบ้าน เพื่อให้เปลี่ยนกระบวนการผลิตและดำรงชีพได้ด้วยตนเองระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากเลือกปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ ข้าวโพด ซึ่งเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากต้องการจูงใจให้เปลี่ยนไปสู่พืชประเภทอื่นต้องใช้ระยะเวลาและเงินทุนสำหรับยังชีพก่อนจะเริ่มต้นชีวิตใหม่
และ 3. เปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่ระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญเพื่อต่อสู้กับภาวะความยากจนที่คนในจังหวัดน่านเผชิญมายาวนาน
“ตอนนี้เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร คือความรู้เดิมๆ มันไม่พอกิน ปลูกพืชแบบเดิมๆ ค้าขายแบบเดิมๆ จะไปพอกินอะไร ดังนั้นต้องใช้องค์ความรู้ใหม่สำหรับการจัดสรรพื้นที่เกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีราคาสูง ต้องเอาน้ำ เอาปัจจัยเกื้อหนุนอะไรมาเป็นส่วนผสม และตอนจบจะไปขายใคร ด้วยวิธีไหน ราคาเท่าไร ที่ผลประโยชน์จะตกอยู่ในพื้นที่ของเกษตรกรได้ นี่คือสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร แต่เรารู้ว่าเราต้องถามคำถามอะไร”
พื้นที่ในการดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่กว่า 7.6 ล้านไร่ ใน15 อำเภอ 99 ตำบลของจังหวัดน่าน ซึ่งกว่า 6.4 ล้านไร่ หรือ 84% เป็นพื้นที่ป่าสงวน นั่นหมายถึงไม่มีใครมีสิทธิ์ครอบครองหรือทำประโยชน์ได้ หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนจังหวัดน่านทั้งหมด โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์จะรักษาพื้นที่ 72% เอาไว้เป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญถึง 40% ของมวลน้ำที่ไหลรวมลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงทั้งประเทศ
ขณะที่พื้นที่ป่าสงวนส่วน 18% จะเป็นพื้นที่ฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ หลังจากที่ผ่านมามีตัวเลขรายงานว่า ป่าเมืองน่านถูกรุกทำลายนับแสนไร่ต่อปี เมื่อพลิกฟื้นผืนป่ากลับมาแล้ว จะอนุญาตให้ชาวบ้านปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเป็นมิตร ส่วนพื้นที่อีก 10% จะเป็นพื้นที่ป่าสงวนที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจและทำประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
โจทย์ใหญ่ของโครงการนี้คือ การเพิ่มรายได้ต่อไร่ของเกษตรกรให้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งจะระดมองค์ความรู้ตั้งแต่การพัฒนาพืชทางเลือกที่มีมูลค่าสูง การแปรรูปสินค้าเกษตร ไปจนถึงให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด ซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชาวบ้านตลอดกระบวนการ เป้าหมายของปี 2562 นี้คือ การแสวงหาเงินทุนผ่านกระบวนการต่างๆ รวมถึงการรับบริจาคเพื่อนำไปสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เลิกตัดป่าไม้ ชะลอการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดลง รวมถึงฟื้นฟูพัฒนาหน้าดินและแหล่งน้ำด้วย
ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมคือ เกษตรกรจังหวัดน่านจะมีสิทธิ์ทำกินในเขตป่าสงวนได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกจับกุมและดำเนินคดี ซึ่งต้องให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนในการให้ข้อมูลและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะนี้มีคู่มือผู้นำชุมชน 99 ตำบล ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญทั้งภาพถ่ายดาวเทียมของพื้นที่ ข้อมูลพิกัดรายแปลง รายชื่อลูกบ้าน จำนวนพื้นที่ทำกิน รวมทั้งรายได้และหนี้สินของลูกบ้าน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการจัดสรรที่ดินต่อไป
สิ่งที่โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์คาดหวังในขั้นถัดไปจากนี้คือ การเปลี่ยนกระบวนการผลิตของเกษตรกรไปสู่พืชทางเลือกที่มีมูลค่าสูง ช่วยเหลือให้เกิดการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม มีระบบการขนส่งและจัดเก็บสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เกิดเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง และเกิดแบรนด์สินค้าจังหวัดน่านในที่สุด
“คุณปั้นมีอะไรที่อยากทำแล้วตั้งใจจะทำในอนาคตหรือไม่”
บัณฑูรตอบอย่างไม่ลังเลว่า โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์คือสิ่งที่เขาจะทำต่อไปเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญให้กับประเทศไทย เชื่อว่าเมื่อจังหวัดน่านประสบความสำเร็จแล้วจะกลายเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศได้ จุดที่สำคัญคือการสื่อสารระหว่างภาครัฐและประชาชนที่ยังมีช่องว่าง มองคนละมุม สิ่งที่สำคัญสูงสุดของชาวบ้านคือ การทำมาหากินเพื่อเอาชีวิตรอดจากความยากจนที่คุกคามชีวิตตลอดเวลา ขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่ในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน
“ถ้าเจริญมันต้องเจริญด้วยกันทั้งหมด จะทิ้งใครไว้ได้อย่างไร ถ้าคนเป็นสิบๆ ล้านทำมาค้าขายไม่ขึ้น ประเทศก็จะอยู่อย่างสงบไม่ได้”
นี่คือมุมคิด ตัวตน และชีวิตทั้งชีวิตจากนี้ของนายแบงก์เบอร์หนึ่งของไทยที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาทำได้ลึกซึ้งขึ้น
คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเขียนประวัติศาสตร์
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เขียนมันจริงๆ
และนี่คือประวัติศาสตร์ที่เขียนจากมือของ บัณฑูร ล่ำซำ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- ติดตามสัมภาษณ์พิเศษ ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ฉบับเต็ม ได้ในรายการ THE STANDARD BizKlass วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00 น. ทางเพจ THE STANDARD