×

บ้านปูฯ สานฝันคนรุ่นใหม่กับ 5 กิจการเพื่อสังคม ที่คว้าชัยชนะโครงการ Banpu Champions for Change 8 พร้อมต่อยอด ‘Impact Day: พื้นที่แห่งโอกาสของคนรุ่นใหม่’ งานแฟร์ด้านกิจการเพื่อสังคมเป็นปีที่ 2 [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
17.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • บ้านปูฯ ประกาศผล 5 ทีมชนะเลิศ ‘โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 8’ หรือ Banpu Champions for Change 8
  • สานต่อแพลตฟอร์มออนไลน์ SE.School (Social Enterprise School) สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมแห่งแรกในประเทศไทย
  • ผลักดันคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมดีๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม Impact Day: พื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ งานแฟร์ที่ต่อยอดเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในโครงการฯ และกิจการเพื่อสังคมอื่นๆ ทั่วประเทศเป็นปีที่ 2

เดินทางเข้าสู่ปีที่ 8 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change 8 โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ล่าสุดได้มีการคัดเลือกผู้สมัครจากกว่า 40 ทีมสุดเข้มข้น ให้เหลือ 10 ทีมผู้เข้ารอบ เพื่อค้นหา 5 ทีมชนะเลิศ ที่มีไอเดียกิจการเพื่อสังคมดีเด่นที่สามารถต่อยอดได้ ซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 5 เดือนคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่แสดงพลังและการพัฒนาไอเดียสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เข้าตาคณะกรรมการ ชิงเงินทุนสนับสนุนรวมตลอดโครงการฯ กว่า  2 ล้านบาท

 

และนี่คือ 5 ทีมกิจการเพื่อสังคมผู้ชนะ ที่ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์แผนธุรกิจให้เป็นรูปธรรม เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้แก่สังคม

 

ทีม VANTA
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ

 

“การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ถามตัวเองว่าเราสนใจปัญหาสังคมด้านไหน ลองเริ่มจากตัวเองก่อนแล้วจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากคนรอบข้าง”

 

แบรนด์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าฝ้ายออร์แกนิกทอมือย้อมสีธรรมชาติ ที่ผลิตโดยเกษตรกรผู้สูงอายุในชุมชน จ.สุรินทร์ จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการแก้ปัญหารายได้ที่ไม่แน่นอนและหนี้สินของภาคเกษตรกร เพียงปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบการผลิตให้คนในชุมชนใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็สามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรายได้จากต้นไม้ที่ปลูกด้วยตัวเอง

 

 

“อุปสรรคแรกคือ การเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้าน เกี่ยวกับข้อเสียของการใช้สารเคมี ให้เขาเห็นผลกระทบในอนาคต และชี้ให้เขาเห็นความสำคัญของต้นไม้ที่ควรจะรักษาไว้ ต้นไม้สามารถนำมาย้อมสีธรรมชาติได้ สร้างมูลค่าเพิ่มด้านอื่น เราพยายามส่งเสริมให้เขาปลูกต้นไม้เพิ่ม ระยะสั้นก็เพื่อย้อมสีธรรมชาติ ระยะยาวเขาเก็บเป็นเสมือนเงินออมได้ เรียกว่าสร้างรายได้ให้เขาสองทาง รายได้ระยะสั้นจากงานหัตถกรรม ส่วนระยะยาวจะได้มูลค่าจากต้นไม้ที่สามารถนำไปค้ำประกันเงินกู้ ความเสี่ยงที่เขาจะเสียที่ดินทำกินก็น้อยลง”

 

 

“ปีหน้าเราอยากทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อย 3,000 บาทต่อหนึ่งครัวเรือนต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่ทำให้พวกเขาอยู่ได้สบายๆ และก็ตั้งใจจะขยายครัวเรือนให้ได้มากขึ้น”

 

ทีม WEALTHI
ธุรกิจการเงินส่วนบุคคล

 

“การพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลง อาจเริ่มต้นจากแค่น้ำหยดเล็กๆ ที่ส่งแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้าง ยิ่งทุกคนช่วยกันคนละหยดมันก็ยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเห็นผลมากขึ้น”

 

 

“แก้ปัญหาความจนด้วยเทคโนโลยี” คอนเซปต์สุดเจ๋งจากทีม WEALTHI ที่อยากเห็นกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยสามารถขอกู้เงินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ขาดโอกาสทางการเงิน โดยระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลความน่าเชื่อถือบุคคลได้แม่นยำและรวดเร็ว เป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มโอกาสทางการเงินให้ผู้ด้อยโอกาส ลดปัญหาสังคมในระยะยาว

 

 

“เราเดินทางไปสำรวจพื้นที่นิคมแห่งหนึ่งแล้วพบว่า มีปัญหาความยากจนค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ ต้องให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยถูกลง จากนั้นก็ช่วยเขาวางแผนให้มีความรู้ด้านการเงิน ทีม WEALTHI วางตัวเป็นสื่อกลางในการหาข้อมูลเพื่อยืนยันเครดิตให้คนกลุ่มนี้ เช่น ข้อมูลบนมือถือ หรือสังคมออนไลน์ หลังจากนั้นก็สร้างคะแนนประเมินคุณภาพสินเชื่อหรือเครดิตสกอร์ (Credit Score) ขึ้นมา คล้ายๆ กับการประเมินคุณภาพสินเชื่อที่ทางธนาคารใช้

 

“ปีหน้าเราตั้งเป้าผู้ใช้บริการอย่างน้อย 8,000 คน มียอดดอกเบี้ยเงินกู้ 1,500,000 บาท พอลูกค้ามากขึ้น เราพยายามจะทำงานลงลึกมากขึ้น สร้างความรู้เรื่องการเงินให้กับคนเหล่านี้ ทั้งเรื่องความรู้เรื่องการออมและเรื่องประกันสุขภาพ หวังให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว”

 

ทีม Refill Station
ธุรกิจค้าปลีก ที่มุ่งแก้ปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน

 

“เป้าหมายของเราคือ ต้องการลดปัญหาพลาสติก แต่พอทำไปกลับพบว่า นอกจากลดขยะพลาสติกแล้ว เรายังช่วยให้คนรายได้น้อยซื้อของได้ในราคาที่ถูกลงอีกด้วย”

 

ในต่างประเทศ โมเดลธุรกิจรีฟิลดูจะไปได้ดี และเป็นทางเลือกให้กับคนที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ ทีม Refill Station ที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์เป็นทุนเดิม เห็นว่าโมเดลแบบนี้ควรจะมีในเมืองไทย ทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าโดยไม่สร้างขยะด้วยการซื้อสินค้าแบบรีฟิล นำบรรจุภัณฑ์มาเติมสินค้าเอง

 


“ตอนแรกเราก็ไม่มั่นใจว่ามันเวิร์กไหม เลยลองซื้อของมาแล้วไปตั้งแผงที่ตลาด ค่อยๆ อธิบายให้คนเข้าใจว่าสามารถนำขวดมาเติมสินค้าได้ และราคาถูกกว่าไปซื้อที่มีแพ็กเกจจิ้ง วันแรกขายได้ขวดเดียว เป็นแม่ค้าแผงข้างๆ ที่มาช่วย เพราะคนไทยยังไม่เข้าใจว่าของแบบนี้ต้องซื้อยังไง หรือจะเชื่อได้ยังไงว่าคือของจริงหรือเปล่า”

 

 

“เป้าหมายของพวกเราคือ อยากให้ร้านค้าแบบนี้เป็นร้านซื้อขายที่พบได้ทั่วไป สิ่งที่เราทำก็คือ เราจะร่วมมือกับที่อื่นๆ ตอนนี้เราก็มีร้านอยู่ในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียน และในร้านออร์แกนิก เราเริ่มจากสินค้าใช้ในครัวเรือน อาหาร ของแห้ง และอนาคตอยากขยายไลน์สินค้าให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากใช้ชีวิตที่พึ่งพาแพ็กเกจจิ้งน้อยที่สุด”

 

ทีม Craft de Quarr
ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากภูมิปัญญาและงานศิลปะพื้นเมือง

 

“พลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน คือการเปลี่ยนแปลงให้คนกลับมาสนใจภูมิปัญหาของตัวเอง นำรากเหง้าของตัวเองมาเป็นต้นทุนให้ได้ นี่คือความยั่งยืนที่แท้จริง”

 

ทีมดีไซเนอร์ของ Craft de Quarr ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการจัดการวัฒนธรรม และเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานส่งออกงานหัตถกรรม ตั้งคำถามหลังจากเห็นว่าคนงานในโรงงานผลิตสินค้าพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ว่าคนรุ่นใหม่หายไปไหน ทำไมไม่กลับมาสืบทอดภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่จะหายสาบสูญในไม่ช้า

 

 

“ปัญหาเรื่องคนรุ่นใหม่ไม่สืบทอดงานหัตถกรรมก็เป็นปัญหาหนึ่ง ส่วนอีกปัญหาคือ สินค้าจำนวนมากดีไซน์ยังเข้าไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ถ้าเรานำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ก็น่าจะดี จากนั้นก็สร้างช่องทางการขายด้วยการเปิดร้าน Craft de Quarr เพื่อเป็นจุดรองรับและกระจายสินค้าให้กับกลุ่มชนเผ่า โดยเราพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชน การเป็นร้านค้าทำให้เราได้รับข้อมูลตรงจากลูกค้าว่าสินค้าตัวไหนดี ไม่ดี เรานำข้อมูลนี้กลับไปทำการบ้านกับคนในชุมชน และร่วมพัฒนารูปแบบและการผลิตไปพร้อมกับพวกเขา”

 

 

“การเข้าร่วมโครงการกับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ช่วยสอนวิธีคิด วิธีการทำงาน ทำยังไงให้ยังทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จุดเริ่มต้นแรกเราต้องการอะไร เพราะถ้าเรามัวแต่ไปมองเรื่องผลกำไรอาจทำให้หลุดโฟกัสจากสิ่งที่ตั้งไว้แต่แรก จากนี้ไปเราตั้งเป้าขยายชุมชนที่ร่วมมือด้วยให้มากขึ้น เราอยากให้แต่ละชาติพันธุ์ รักษาภูมิปัญญาของตัวเองไว้ให้ได้ก่อนที่มันจะหายไป”

 

ทีม Gonfai (ก้อนฝ้าย)
ธุรกิจพัฒนาและจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยกลุ่มชาวเขา

 

“การพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลง คือการพัฒนาตัวเองให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่ใดก็ได้ สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยภูมิปัญญาที่เรามี”


ก้อนฝ้าย เกิดขึ้นจากลูกหลานของชนเผ่าที่เห็นปัญหาการผลิตสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทำราคาไม่ได้ สินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เหล่าชาติพันธุ์มากมายยอมละทิ้งถิ่นเกิดและภูมิปัญญาเพื่อไปแสวงหารายได้จากในเมือง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่มุ่งพัฒนาและจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยกลุ่มชาวเขา เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กในชุมชนให้สามารถหาเลี้ยงชีพจากภูมิปัญญาของตน ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด

 

 

“เริ่มแรกเงินทุนเราไม่เยอะ ถึงจะเป็นงานหัตถกรรมก็ต้องมีต้นทุนค่าวัตถุดิบ จึงเริ่มทำสินค้าราคาไม่แพงให้เด็กๆ สามารถซื้อได้ ค่อยๆ ทำจากสิ่งที่มี พอเห็นโครงการของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เลยลองสมัครเข้าร่วมโครงการ นำเสนอสินค้าที่เป็นหัตถกรรมของชาวบ้านชาติพันธุ์ และส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่สร้างรายได้และอาชีพจากภูมิปัญญาของตัวเอง โครงการนี้ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ขณะเดียวกันทีมก้อนฝ้ายยังได้ประสบการณ์ด้านการวางแผนธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการฯ รู้จักวางเป้าหมาย วางแผนการทำงาน ปีหน้าเรามองไปถึงการวางแผนผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ยังคงความเป็นชาติพันธุ์ และเริ่มทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น”   

 

 

ภายใต้ความสำเร็จของทั้ง 5 กิจการเพื่อสังคม จากความเชื่อของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ว่า ‘พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา’ บริษัทฯ จึงได้พัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มออนไลน์ SE.School (Social Enterprise School) สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมแห่งแรกในประเทศไทยขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้น จนสามารถตกผลึกไอเดียและสร้างกิจการเพื่อสังคมได้อย่างมีระบบ ดังที่ อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า SE.School (Social Enterprise School) คือหนึ่งในเครื่องมือที่เข้ามาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดของ ‘โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ หรือ Banpu Champions for Change

 

ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ SE.School เป็นจำนวนไม่น้อย พิสูจน์ได้ว่ากิจการเพื่อสังคม ยังเป็นกิจการที่คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กับสร้างรายได้ให้ตัวเองให้ความสนใจ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เชื่อว่า แพลตฟอร์มนี้จะเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากเงินทุนสนับสนุนต่อเนื่องสำหรับทีมชนะเลิศรวมกว่า 1.25 ล้านบาท ทั้ง 5 ทีมยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Sprint Workshop ที่เน้นการพัฒนาและต่อยอดแผนการดำเนินธุรกิจ โดยมีรุ่นพี่ BC4C จากหลากหลายรุ่น ได้แก่ A-chieve Ma:D TP Packaging Solution และ Hand Up Network มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ทั้งความสำเร็จ การฝ่าฟันอุปสรรค และการแก้ไขปัญหาเพื่อมุ่งสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ยั่งยืนอีกด้วย

 

 

การผลักดันพลังของคนรุ่นใหม่ยังถูกสานต่อผ่านกิจกรรมดีๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม อย่างงาน Impact Day: พื้นที่แห่งโอกาสของคนรุ่นใหม่ งานแฟร์ด้านกิจการเพื่อสังคมที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ด้วยเป้าหมายที่ต้องการต่อยอดเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในโครงการฯ และกิจการเพื่อสังคมอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยงานดังกล่าวจัดไปเมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2561 ภายในงานมีกิจกรรมให้ผู้สนใจเข้าร่วมมากมาย อาทิ พื้นที่ในการแนะนำธุรกิจพร้อมจำหน่ายสินค้า ผู้ที่สนใจกิจการเพื่อสังคมรวมถึงนักเรียน นักศึกษา สามารถแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรง นอกเหนือจากนั้นแล้วยังมีเวิร์กช็อป แฟชั่นโชว์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่วงการและสังคม ให้คนทั่วไปเข้าร่วมและเข้าชมอย่างเพลิดเพลิน


โดยบ้านปูฯ จะเดินหน้าเตรียมกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจไว้ตลอดทั้งปี เพื่อผลักดันความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ติดตามรายละเอียดการเปิดรับสมัครโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมปีที่ 9 ได้ที่เฟซบุ๊ก Banpu Champions for Change

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising