×

แบนหลอดพลาสติกอาจไม่พอ ผลวิจัยเผย หลอดพลาสติกลงสู่ทะเลเพียง 0.03% จากปริมาณขยะ 8 ล้านตัน

25.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • หากชี้เฉพาะปัญหาจากหลอดพลาสติก อาจถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวของขยะพลาสติกในโลก และอาจไม่ได้ผลลัพธ์เท่าที่ควร
  • ข้อมูลจากกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจำกัดขยะพลาสติกในทะเล เปิดเผยผลการศึกษาจากตัวอย่างจากชายฝั่งและอากาศว่า ขยะพลาสติกอย่างน้อย 46 เปอร์เซ็นต์คือแหจับปลา
  • ข้อตกลงที่ให้ไว้ต่อองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ให้ทำจุดสังเกตไว้บนอุปกรณ์ล่าสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ เพื่อที่ว่าบริษัทจะได้ส่งคนมาเก็บกู้กลับไป แต่ปัญหากลับเป็นเรื่องของการนำไปปฏิบัติจริง

ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน หลังมีความตื่นตัวจากภาพโศกนาฏกรรมในมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นเต่าหรือวาฬที่ตายลงเนื่องจากกินขยะพลาสติกเข้าไปจำนวนมาก หรือสรีระของสัตว์ที่ผิดรูปเนื่องจากถูกพลาสติกรัดเอาไว้ ท่ามกลางกระแสเหล่านี้ มีขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หาทางทดแทนการใช้หลอดพลาสติกลง หรือเปลี่ยนเป็นวัสดุอย่างอื่นแทน ด้วยเจตนาเพื่อช่วยรักษ์โลกและสัตว์ในทะเลเช่นกัน

 

 

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว หากชี้เฉพาะปัญหาจากหลอดพลาสติกอาจถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวของขยะพลาสติกในโลก และการแบนหลอดพลาสติกอาจไม่ได้ผลลัพธ์เท่าที่ควร

 

นักรณรงค์หลายรายอ้างอิงผลการศึกษาที่ข้อมูลอาจไม่ถูกเสียทีเดียว รวมถึงกล่าวถึงผลสำรวจที่ระบุว่า ชาวอเมริกันใช้หลอดพลาสติกประมาณ 500 ล้านหลอดในแต่ละวัน แต่ผลสำรวจนี้มีขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และตัวเลขที่ได้ออกมาเป็นเพียงค่าประมาณการเท่านั้น

 

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย 2 รายเคยคาดการณ์ว่า มีหลอดพลาสติกนับ 8.3 พันล้านชิ้นกระจัดกระจายอยู่บริเวณชายฝั่งทั่วโลก แต่เมื่อคำนวณแล้ว ขยะกลุ่มนี้หากถูกดึงลงกลับทะเลจะคิดเป็นอัตราส่วนราว 0.03 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั้งหมด 8 ล้านตันในมหาสมุทร

 

 

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการพยายามลดหลอดพลาสติกจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ลดมลพิษในทะเลได้ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าพลาสติกก็ยังคงมีอยู่ โดยข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับโอเชียนคลีนอัพ (Ocean Cleanup) กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจำกัดขยะพลาสติกในทะเล เปิดเผยผลการศึกษาจากตัวอย่างจากชายฝั่งและอากาศว่า ขยะพลาสติกอย่างน้อย 46 เปอร์เซ็นต์คือแหจับปลา ขณะที่อุปกรณ์จับปลาอย่างอื่นก็คิดเป็นอัตราส่วนขนาดใหญ่ในสัดส่วนขยะที่เหลือด้วย

 

บรรดาอุปกรณ์ที่ถูกปลดทิ้งไปมักจะลอยไปอยู่ในแถบที่มีสัตว์น้ำจำนวนมาก โดยเมื่อปี ค.ศ. 2013 สถาบันเวอร์จิเนียประมาณไว้ว่า พวกอุปกรณ์ล่าปูที่ถูกปลดทิ้งไปสามารถจับปูม้าได้นับ 1.25 ล้านตัวต่อปี

 

ปัญหาในประเด็นนี้ถูกตั้งมาตรการรองรับไว้ตั้งแต่ช่วงยุค 1990 โดยข้อตกลงที่ให้ไว้ต่อองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ให้ทำจุดสังเกตไว้บนอุปกรณ์ล่าสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ เพื่อที่ว่าบริษัทจะได้ส่งคนมาเก็บกู้กลับไป แต่ปัญหากลับเป็นเรื่องของการนำไปปฏิบัติจริง แม้หลายประเทศพัฒนาแล้วจะควบคุมได้ แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม

 

บทเรียนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ปรับกับสถานการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีหลังข้อตกลงข้างต้น บริษัททูน่าขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ 3 บริษัทตัดสินใจยุติการล่าปลาโลมาเนื่องจากทนกระแสกดดันของผู้บริโภคไม่ได้ และหลังจากนั้นบริษัทเหล่านี้ก็ได้เปิดตัวสัญลักษณ์ ‘ปลอดภัยต่อโลมา’ ขึ้น และปัญหาการล่าปลาทูน่าที่ทำให้ปลาโลมาเสียชีวิตก็ลดลงอย่างมากอีกด้วย

 

การปรับใช้บทเรียนนี้เพื่อสร้างแรงกดดันต่อบริษัทอาหารทะเลทั่วโลกให้ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัดอาจช่วยสร้างผลลัพธ์ขนานใหญ่ได้มากขึ้นด้วย

 

หากมีการกดดันต่อบริษัทอาหารทะเลทั่วโลกให้ปฏิบัติตามข้อตกลงของ FAO อย่างเคร่งครัด อาจสร้างผลที่เป็นรูปธรรมได้มากกว่าในการลดปริมาณปัญหาขยะพลาสติก แต่การปลูกจิตสำนึกในการลดใช้พลาสติกอันรวมถึงหลอดก็ถือเป็นมาตรการระยะยาวที่ไม่ควรละทิ้งเช่นเดียวกัน

 

ภาพประกอบ: Dreaminem

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X