×

‘แบนนิวเคลียร์ทั่วโลก’ ประกายความหวังของโลกหลังสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้

15.01.2021
  • LOADING...
‘แบนนิวเคลียร์ทั่วโลก’ ประกายความหวังของโลกหลังสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • 75 ปี คือเวลาที่ผ่านไปหลังโลกได้ประจักษ์ถึงความเลวร้ายของระเบิดปรมาณู และเป็นเวลาอีก 75 ปีอีกเช่นกันที่ความพยายามในการ ‘กำจัด’ ‘จำกัด’ และ ‘ควบคุม’ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ถูกนำเสนอผ่านสนธิสัญญาต่างๆ 
  • สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2017 โดยมี 3 ประเทศลงนามให้สัตยาบันในวันแรกคือ ไทย นครรัฐวาติกัน และกายอานา ก่อนจะมีภาคีครบ 50 ประเทศ ทำให้สนธิสัญญาเริ่มนับถอยหลังบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเวลา 90 วัน โดยจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2021
  • แม้ว่าในบรรดา 51 ประเทศที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะไม่มีประเทศใดเลยที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง ถึงอย่างนั้นผลที่ตามมาของสนธิสัญญายังเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน นั่นหมายความว่าสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์กำลังสร้างบรรทัดฐานร่วมกันว่าการใช้อาวุธที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ 

“เมืองถูกทำลายเสียหายถึง 80% โรงพยาบาลทั้งหมดถูกทำลายหรือเสียหายอย่างหนัก โรงพยาบาลฉุกเฉินสองแห่งมีสภาพเกินการบรรยาย ผลกระทบลึกลับของระเบิดทำให้เหยื่อหลายคนที่กำลังฟื้นตัวป่วยเป็นโรคร้ายแรง”

 

โทรเลขสั้นๆ ถูกส่งออกมาจากฮิโรชิม่าในวันที่ 30 สิงหาคม 1945 เพื่อบรรยายความเสียหายอย่างเป็นทางการจากการใช้อาวุธชนิดใหม่ หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ดร.มาร์เซล จูโน ผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ซึ่งเป็นแพทย์ชาวต่างชาติคนแรกได้เดินทางไปประเมินความเสียหายด้วยตัวเอง เขากล่าวถึงความเสียหายจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าว่า “เป็นความเสียหายแบบที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน ใจกลางเมืองถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าสีขาว ไม่มีอะไรเหลือเลย”

 

เขากล่าวย้ำในตอนท้ายของบันทึกว่าอาวุธเช่นนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้อีก “มันควรถูกห้ามใช้เช่นเดียวกับการใช้แก๊สพิษในสงครามโลกครั้งที่ 1”

 

75 ปี คือเวลาที่ผ่านไปหลังโลกได้ประจักษ์ถึงความเลวร้ายของระเบิดปรมาณู และเป็นเวลาอีก 75 ปีอีกเช่นกันที่ความพยายามในการ ‘กำจัด’ ‘จำกัด’ และ ‘ควบคุม’ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ถูกนำเสนอผ่านสนธิสัญญาต่างๆ 

 

ในปี 1963 โลกได้เริ่มใช้สนธิสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ฉบับแรกคือสนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์บางส่วน (Partial Test Ban Treaty: PTBT) มีข้อกำหนดเพื่อ ‘จำกัด’ การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ห้ามการทดลองทุกรูปแบบ เว้นแต่การทดลองใต้ดินที่มีความลึกมากพอ เพื่อจำกัดผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีที่อาจเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ในปี 1970 ประชาคมโลกได้ปรับใช้สนธิสัญญาตัวต่อมาเพื่อ ‘ลด’ อาวุธนิวเคลียร์ (สนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ Nuclear Non-Proliferation Treaty หรือที่เรียกย่อๆ ว่า NPT) สนธิสัญญาตัวนี้มีรัฐผู้ลงนามมากถึง 189 ประเทศ รวมไปถึงประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

 

ในปี 2017 โลกได้ต้อนรับสนธิสัญญาตัวใหม่ที่ขยับไปไกลถึงการ ‘ห้าม’ อาวุธนิวเคลียร์ในทุกกรณี (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons: TPNW) ไม่ว่าจะเป็นการทดลอง ผลิต จัดเก็บในคลัง ติดตั้ง ถ่ายโอน ใช้ หรือขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงสนับสนุนหรือส่งเสริมกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ 

 

สนธิสัญญาที่ว่าเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2017 โดยมี 3 ประเทศลงนามให้สัตยาบันในวันแรกคือ ไทย นครรัฐวาติกัน และกายอานา เป็นที่น่ายินดีว่าสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เพิ่งมีภาคีครบ 50 ประเทศไปเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนหน้า (ฮอนดูรัสเป็นประเทศลำดับที่ 50 ที่ตัดสินใจให้สัตยาบัน ส่วนประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมภาคีคือประเทศเบนิน ซึ่งเป็นลำดับที่ 51) ทำให้สนธิสัญญาเริ่มนับถอยหลังบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเวลา 90 วันหลังมีครบ 50 รายชื่อ โดยจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2021

 

 

จะเกิดอะไรขึ้นหลังสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้  

 

สำหรับชาติที่ให้สัตยาบันหลังวันที่ 22 มกราคมเป็นต้นไป อาวุธนิวเคลียร์หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายทันที ประเทศที่เข้าร่วมสนธิสัญญาจะมีเวลา 30 วันเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการว่าพวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่ ถ้ามี ประเทศเหล่านี้จะต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์หรือมีแผนในการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ตาม ‘ข้อผูกมัดตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด’ และจะต้องเลิกกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ในทุกกรณี

 

แม้ว่าในบรรดา 51 ประเทศที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะไม่มีประเทศใดเลยที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง ถึงอย่างนั้นผลที่ตามมาของสนธิสัญญายังเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน 

 

นั่นหมายความว่าสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์กำลังสร้างบรรทัดฐานร่วมกันว่าการใช้อาวุธที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ ดังนั้นมันจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อกดดันให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองเริ่มหันมามองถึงความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยอาจเริ่มลดหรือกำจัดอาวุธต่อไปในอนาคต

 

หลายคนอาจมองว่าการที่ประเทศทั้งหมดจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์คงเป็นเรื่องเกินฝัน ถึงอย่างนั้น คาซัคสถาน ประเทศที่เคยมีอาวุธนิวเคลียร์มาก่อนก็ได้ปลดอาวุธตัวเองมาแล้วตั้งแต่ปี 1995 และยังเข้ามาเป็นภาคีอนุสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เป็นชาติที่ 26 ในขณะที่อิหร่าน อีกหนึ่งประเทศที่เคยมีข้อพิพาทพัวพันเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ก็ลงมติเห็นชอบสนธิสัญญาตัวนี้ในการเจรจาที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 2017

 

สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ แม้อาจไม่นำมาซึ่งผลเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดในวันนี้ แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับโลกใบใหม่ที่ปราศจากภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising