ที่ผ่านมาการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ มีระเบียบข้อห้ามที่ควรระมัดระวังอยู่แล้ว สำหรับประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติมากมายหลายแห่ง ทั้งทางทะเล ป่าไม้ น้ำตก และภูเขา คงจะดีอย่างยิ่งหากเราทุกคนช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อมเหล่านั้นร่วมกัน
ล่าสุดมีรายงานว่า นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่จะถึงนี้ กรมอุทยานแห่งชาติจะห้ามให้นักท่องเที่ยวงดการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานฯ ทั้ง 154 แห่งทั่วประเทศ
ตามนโยบายโครงการทำดีด้วยหัวใจฯ ของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่ต้องการลดขยะพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและสัตว์ป่า
มีข้อมูลว่าในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยานฯ ประมาณ 16 ล้านคน ปัญหาที่ตามมาจากกิจกรรมท่องเที่ยวคือขยะและน้ำเสีย โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติของอุทยานฯ
ทำให้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ลงนามประกาศกรมอุทยานฯ ถึงคำสั่งห้ามดังกล่าว
สาระสำคัญคือ ห้ามนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานฯทั้ง 154 แห่ง ได้แก่ กล่องพลาสติกบรรจุอาหารหรือกล่องโฟม จานพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และขวดน้ำที่มีพลาสติกฝาหุ้มขวด และรณรงค์ลดการใช้แก้วน้ำ หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติกในคราวเดียวกันด้วย และนำหลักการจัดการขยะแบบเหลือศูนย์มาใช้ เพื่อให้การจัดการขยะในอุทยานฯ ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม
โดยมาตรการระยะแรก จะรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวงดนำกล่องโฟม ถุงพลาสติกหูหิ้ว เข้าเขตอุทยานฯ และจะดำเนินโครงการขยะคืนถิ่น มัดจำขยะ หรือให้นำถุงพลาสติกที่บรรจุของมาเปลี่ยนเป็นถุงผ้าที่ทางอุทยานฯ เตรียมไว้ให้ แล้วนำถุงผ้ามาคืนเมื่อกลับออกจากอุทยานฯ
นอกจากนี้จะรณรงค์ให้ผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย และหากใช้การรณรงค์แล้วไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ในอนาคตอาจพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการร่วมต่อไป
อ้างอิง: