กลุ่ม 227 นักวิชาการ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งมี 4 อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติร่วมลงชื่อด้วย แถลงคัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง เพราะกังวลว่าจะสร้างผลกระทบตามมาอย่างมหาศาล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ว่า คณะกรรมการหรือบอร์ดของ ธปท. ตามกฎหมายมีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งการบริหารของ ธปท. ซึ่งครอบคลุมถึงการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการชุดต่างๆ ทั้ง 3 ชุดของ ธปท. เช่น
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
- คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)
- คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กชร.)
โดยคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดดังกล่าวมีความสำคัญ อีกทั้งคณะกรรมการของ ธปท. ยังมีบทบาทบริหารแผนงบประมาณที่ต้องทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติ รวมถึงมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ในระดับรองผู้ว่าการ ธปท. และผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ที่ต้องส่งให้คณะกรรมการของ ธปท. พิจารณาอนุมัติ ดังนั้นโดยรวมคณะกรรมการของ ธปท. จึงมีความสำคัญกับ ธปท.
หลักการสำคัญ ต้องรักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างการเมืองกับแบงก์ชาติ
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ร่วมลงชื่อเป็น 1 ใน 227 รายชื่อนักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมที่ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำ ธปท. โดยกลุ่มการเมืองนั้น เพราะแถลงการณ์ของกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมที่ออกมาดังกล่าวเน้นที่หลักการไม่ใช่ที่ตัวบุคคล ซึ่งหลักการสำคัญคือต้องการให้ประเทศไทยรักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างฝ่ายการเมืองกับธนาคารกลาง ซึ่งสาเหตุก็เป็นไปตามที่หลักการสากลใช้ปฏิบัติ
“ธนาคารกลางหรือ ธปท. มีหน้าที่ต่างๆ ที่สำคัญมากเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน ทั้งการเพิ่มหรือการลดปริมาณเงิน, ราคาของเงิน, อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขามีแรงจูงใจในแง่ของการใช้เงิน โดยเฉพาะถ้าใช้เงินแล้วได้รับความนิยมจากประชาชน โดยต้องการเฉพาะคะแนนเสียงระยะสั้นๆ ในการเลือกตั้ง ซึ่งตรรกะหรือสามัญสำนึกในหลักสากลคือคนพิมพ์เงินหรือคนใช้เงินควรจะเป็นคนละคนกัน
“โดยเฉพาะหากคนใช้เงินมีอำนาจสูงกว่าไปบังคับคนพิมพ์เงิน เศรษฐกิจก็จะวุ่นวายได้ เพราะอยากใช้เงิน ลูกน้องพิมพ์เงินได้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี รวมไปถึงการที่เศรษฐกิจมีทั้งผลระยะสั้นและระยะยาว หากให้น้ำหนักมุ่งไปที่เศรษฐกิจระยะสั้นอย่างเดียว หากมีผลเสียในระยะยาวแล้วอาจมีการปัดความผิดให้คนอื่นรับผิดชอบก็ไม่ดีต่อประเทศ” ดร.ประสาร กล่าว
หวั่นเป็นสัญญาณร้ายลามสู่การแต่งตั้งตำแหน่งอื่นในแบงก์ชาติ
นอกจากนี้ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมมีความเป็นห่วงหากการเมืองส่งบุคคลที่ใกล้ชิดเข้ามาเป็นประธานบอร์ดของ ธปท. กังวลว่าอาจเป็นสัญญาณร้ายที่เป็นแบบอย่างให้นำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น การเลือกผู้ว่าการของ ธปท. ที่จะครบวาระในเดือนกันยายนปีหน้า
ดังนั้นการเริ่มต้นส่งบุคคลใกล้ชิดเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดของ ธปท. อาจเป็นแบบอย่างนำไปสู่การดำเนินการสรรหาตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญของ ธปท. ในอนาคตต่อไปได้ ส่งผลให้ระยะห่างระหว่างฝ่ายการเมืองและ ธปท. ในอนาคตจะมีระยะห่างที่ไม่เหมาะสม และจะไม่เป็นผลดีกับประเทศไทย จึงเป็นหลักการที่ส่วนตัวเห็นด้วยและร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว
ชี้แจงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ
สำหรับคำถามเรื่องความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลางมีความจำเป็นอย่างไร ดร.ประสาร อธิบายว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่ธนาคารกลางจะเป็นอิสระจากการเมืองหรือรัฐบาลทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะโดยปกติการทำงานต้องมีข้อต่อที่เชื่อมต่อกัน โดยรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากที่มาจากประชาชน แต่การทำงานต้องมีระบบถ่วงดุลที่ดีในระดับหนึ่งตามเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น การแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งสำคัญของ ธปท. ที่การเมืองจะเข้ามามีบทบาทได้ เพียงแต่ในแต่ละฝ่ายต้องเคารพหลักการในการรักษาระยะห่างระหว่างกันไว้
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลเป้าหมายของประเทศ คำนึงถึงนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง ธปท. วางระบบในเรื่องเหล่านี้ไว้อยู่แล้ว ส่วนการกำหนดเป้าหมายการทำงานของธนาคารกลางในการเลือกจังหวะเวลาดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสม เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางพิจารณาดำเนินการ โดยการเมืองไม่ควรเข้าไปแทรกแซง เนื่องจากหากมีการแทรกแซงของการเมืองเข้ามามักจะมีผลกระทบในเชิงลบ จากที่เคยเห็นตัวอย่างในอดีตของประเทศไทยและต่างประเทศหลายกรณี โดยหากรัฐบาลแทรกแซงมากจนถึงขั้นครอบงำจะเป็นผลเสียอย่างมหาศาลมากกว่าเกิดผลดี
ครอบงำแบงก์ชาติ เสี่ยงเจอผลกระทบมหาศาล
สำหรับกรณีศึกษาในต่างประเทศที่รัฐบาลแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางจนส่งผลกระทบตามมา เช่น ประเทศตุรกีที่ภาคการเมืองเข้าครอบงำธนาคารกลาง บังคับให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งรัฐบาลมองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความนิยมของรัฐบาลให้กับประชาชน แต่กลับมีผลกระทบเชิงลบตามมาคือทำให้เงินเฟ้อของตุรกีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลกระทบความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น
อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อค่าเงินทำให้อ่อนค่าอย่างหนัก กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่แก้ไขได้ยาก และยังมีตัวอย่างอีกหลายประเทศในอดีตที่รัฐบาลเข้าครอบงำธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ เช่น ประเทศอาร์เจนตินา ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ในบางประเทศมีการครอบงำถึงขั้นนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ชำระหนี้ของรัฐบาลซึ่งเป็นหนี้สาธารณะทางการคลัง เพราะมีเงินไม่เพียงพอชำระหนี้ โดยมีการปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแล้วส่งคนของรัฐบาลเข้าไปนั่งบริหารแทน ส่งผลให้ตลาดการเงินของประเทศขาดความเชื่อมั่น ทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเร่งปรับตัวขึ้นเป็นระดับหลักร้อยถึงพันเปอร์เซ็นต์ การลงทุนในประเทศได้รับผลกระทบรุนแรงมาก จึงไม่ต้องการให้ประเทศไทยประสบปัญหาคล้ายกับตัวอย่างในต่างประเทศที่รัฐบาลครอบงำธนาคารกลาง
อย่างไรก็ดี จุดยืนของกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมไม่ได้สื่อความหมายว่ารัฐบาลไม่สามารถส่งคนเข้ามาร่วมการสรรหาเป็นประธานบอร์ดของ ธปท. ได้ แต่ต้องการสื่อสารว่าไม่ต้องการให้ดำเนินการตามแบบอย่างในต่างประเทศที่ครอบงำธนาคารกลางมากจนเกินไป
เปิดขั้นตอนแต่งตั้งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า ไม่ต้องการเห็นภาพการแทรกแซงของรัฐบาลในการทำงานที่จะมีผลกระทบกับการทำงานของนโยบายทั้ง 3 ชุดดังกล่าว โดยหากคณะกรรมการ ธปท. ชุดใหญ่ สร้างแบบอย่างในการสรรหาบุคคลให้รับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในทางที่ไม่เหมาะสม ก็กังวลว่าจะเป็นแบบอย่างในการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการชุดอื่นๆ ตามมา เช่น ประเด็นการกำกับเกี่ยวกับระบบสถาบันการเงิน หากเข้าไปบิดเบือนการทำงานของระบบในนโยบายต่างๆ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่ใช้วงเงินเกินกว่าที่รัฐบาลอนุมัติไว้ที่ 5 แสนล้านบาท โดยใช้วงเงินจากสถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หากเกิดขึ้นสถาบันการเงินของไทยก็อาจได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ ซึ่งตัวอย่างในส่วนนี้เคยเกิดขึ้นในหลายกรณี จึงเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว
สำหรับกรณี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบันที่จะครบวาระในเดือนกันยายนปีหน้า ก็จะมีกระบวนการสรรหาคล้ายกับการสรรหาประธานบอร์ดของ ธปท. คนใหม่ โดยจะตั้งคณะกรรมการสรรหา แต่จะมีความแตกต่างในรายละเอียดคือตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. จะเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไป แต่ประธานบอร์ดของ ธปท. จะเสนอชื่อโดยปลัดกระทรวงการคลังและผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน
ทั้งนี้ ชื่อของผู้ที่เข้ามาสมัครในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาให้พิจารณาคัดเลือกให้เหลือผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนอย่างน้อย 2 ชื่อ จากนั้นจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้พิจารณาเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบ จากนั้นจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ดี มองว่าขั้นตอนคัดเลือกกรรมการสรรหาจำนวน 7 ท่านตามที่กฎหมายกำหนด ควรเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลาง และมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีความเที่ยงตรงในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับประเทศที่สุด อีกทั้งควรดำเนินกระบวนการให้โปร่งใสที่สุดเพื่อให้ประชาชนรับทราบและมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูล แต่ไม่ได้สื่อความหมายว่าฝ่ายการเมืองจะส่งคนเข้ามาร่วมสมัครรับการคัดสรรไม่ได้ เพียงแต่ต้องการให้ยึดหลักการในแง่ของความโปร่งใสและคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดตามหลักการที่กล่าวไว้ข้างต้น