ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มแบงก์และนอนแบงก์วันนี้ (23 สิงหาคม) ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยหุ้นแบงก์ที่ปรับเพิ่มขึ้นโดดเด่นวันนี้ ได้แก่
- KBANK ซื้อขายที่ 116.50 บาท +8 บาท หรือ +7.37%
- BBL ซื้อขายที่ 111 บาท +7 บาท หรือ +6.73%
- SCB ซื้อขายที่ 104 บาท +5.25 บาท หรือ +5.32%
ส่วนหุ้นบัตรเครดิตก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย
- KTC ซื้อขายที่ 64 บาท +4.50 บาท หรือ +7.56%
- AEONTS ซื้อขายที่ 193.50 บาท +14 บาท หรือ +7.80%
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด รายละเอียดดังนี้
- แก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งเป็น
1.1 คงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564
1.2 การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว
1.3 ขยายเวลาลดเงินนำส่งเข้า FIDF ที่ 0.23% ออกไปเป็นปี 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2564
- ขยายวงเงินให้สินเชื่อ Soft Loan สำหรับ SMEs โดยเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย จากเดิมที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย
- ผ่อนปรนหลักเกณฑ์สินเชื่อรายย่อย คือ
3.1 ขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็นปี 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2564 สำหรับการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 5% (เดิมจะเพิ่มขึ้นเป็น 8%ในปี 2565) และขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่าสำหรับลูกหนี้ที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน
3.2 สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงิน และระยะเวลาชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาท จำนวน 12 เดือน (เดิม 20,000 บาท 6 เดือน)
ปรเมศร์ ทองบัว นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับขึ้นร้อนแรงในวันนี้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นในภาพรวม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มแบงก์ได้ปัจจัยหนุนจากกรณีที่ ธปท. มีมาตรการใหม่ที่ช่วยผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ ลดความเสี่ยงเรื่องการตั้งสำรองเพิ่ม และช่วยให้สินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้น
โดยการขยายเวลาลดค่าธรรมเนียม FIDF 0.23% จะเป็นอัปไซด์ 9% ต่อประมาณการกำไรรวมปี 2565 โดยเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท ส่วนการผ่อนปรนกฎการจัดประเภทสินเชื่อที่ผ่อนคลายที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยได้ประมาณการการตั้งสำรองลดลงในปี 2565 อยู่แล้ว จึงไม่เห็นอัปไซด์มากนักในตอนนี้
“ปัจจัยที่เป็นบวกต่อกลุ่มแบงก์ที่สุด และเรายังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการเดิมคือเรื่องการขยายเวลาลดเงินนำส่งเข้า FIDF ที่ 0.23% ออกไปเป็นปี 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2564 ซึ่งต้นทุนทางการเงินของกลุ่มแบงก์ที่ลดลงนี้ ทำให้เพดานการขยายตัวของกำไรในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมที่เรามองว่ากำไรกลุ่มแบงก์ปีหน้าน่าจะเติบโตไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด” ปรเมศร์กล่าว
ทั้งนี้ บล.บัวหลวง คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด จากปัจจัยเรื่องมาตรการใหม่ของ ธปท. และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเปิดเมืองและเปิดประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจับจ่ายใข้สอยของภาคประชาชน และการลงทุนของภาคธุรกิจ ส่งผลให้กลุ่มแบงก์มีโอกาสขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น
โดยราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปัจจุบันนับว่าไม่แพง มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ราว 7 เท่า และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มแบงก์ได้ปรับตัวลดลงไปมากแล้วหากเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เพราะกลุ่มแบงก์ค่อนข้างอ่อนไหวต่อความกังวลเรื่องโควิดและกำลังซื้อที่ถดถอย
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ระบุว่ามีมุมมองเป็นบวกสำหรับกลุ่มธนาคารในประเด็นข้างต้น โดยการขยายระยะเวลาและคงการจัดชั้นในการช่วยเหลือลูกหนี้จะทำให้แนวโน้ม NPL จะไม่ปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด และการตั้งสำรองยังไม่เพิ่มขึ้นเยอะมาก ส่วนเรื่องการขยายเวลาลดเงินนำส่ง FIDF ออกไปอีก 1 ปี จะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ขณะที่ประเด็นที่ 2 จะช่วยให้แนวโน้มสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้
การต่ออายุการลดเงินนำส่ง FIDF จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของธนาคารลงได้เลยทันที ซึ่งประเมิน Sensitivity ภายใต้สมมติฐานให้มีการปรับลด FIDF Fee เพียงอย่างเดียวที่ 0.23% จากเดิมที่ 0.46% โดยไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะมีอัปไซด์ต่อประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 11%
โดยธนาคารขนาดใหญ่จะมีอัปไซด์มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เพราะมีขนาดของเงินฝากมากกว่า ส่งผลให้ธนาคารที่มีอัปไซด์ต่อกำไรสุทธิในปี 2022E เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ KTB, BBL, TTB, SCB, KBANK, LHFG, KKP และ TISCO ขณะที่มีอัปไซด์ต่อราคาเป้หมายเฉลี่ยราว 1%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัปไซด์จะเหลือไม่มากเพราะจะถูก Offset ไปกับการช่วยเหลือลูกหนี้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง และมีการแฮร์คัตหนี้ออกบางส่วน นอกจากนี้ เชื่อว่า ธปท. ต้องการส่งผลบวกจากมาตรการนี้ไปยังลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ยังคงน้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด และชอบ SCB (ซื้อ/เป้าหมาย 116.00 บาท) เพราะแนวโน้มของการตั้งสำรองฯ ที่เพียงพอแล้ว และ NPL ไม่น่ากลัวเท่าคู่แข่ง
ขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์ประเมินว่าผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตจะได้รับผลบวก เรามองเป็นบวกจากมาตรการ ธปท. เช่นกัน โดยเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ AEONTS และ KTC จากปัจจัยหลักคือ 1.NPL ที่จะยังทรงตัว และไม่เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด จากการขยายระยะเวลาการจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี บวกต่อ AEONTS ที่มีสัดส่วนลูกหนี้ Revolving ที่สูงกว่าที่ 70-75% (KTC ที่ 70%)
และ 2. สินเชื่อที่จะทรงตัว หรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ AEONTS ที่ได้มีการขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในกลุ่มลูกหนี้ที่มีเงินเดือนต่ำในปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้ประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ผ่านบริษัทร่วมทุนกับ VGI และ HUMAN ที่สามารถให้วงเงินสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท ทั้งนี้ AEONTS แนะนำ ‘ซื้อ’ ที่ราคาเป้าหมาย 275.00 บาท
ด้านฝ่ายวิจัย บล.ทิสโก้ ระบุว่า มาตรการผ่อนคลายสำหรับสินเชื่อ SMEs และรายย่อยในด้านของสภาพคล่องส่งผลลบต่อกลุ่มธนาคาร แต่ได้มีการประกาศมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว ทำให้ปัจจัยนี้รับรู้ไปแล้วและมีการปรับโครงสร้างหนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้เรามองว่าข่าวนี้จะไม่กระทบต่อราคาหุ้นเพิ่มเติม
ขณะที่การยืดส่วนลดของ FIDF และการผ่อนปรนการตั้ง NPL จะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มแบงก์ โดยฝ่ายวิจัยมีมุมมองที่เป็นกลาง ในมุมหนึ่งคาดว่า Credit Cost จะไม่เร่งตัวขึ้นในระยะสั้น และสะท้อนให้เห็นว่า BoT มองผลของโควิดจะกระทบไปอีกสักระยะ และการผ่อนปรนการตั้ง NPL จะทำให้สินเชื่อกลับมาเร่งตัวขึ้น แต่คาด NIM จะจำกัดเนื่องจากผลของ Credit Cost ทำให้การเติบโตโดยรวมยังต่ำ
ส่วนกรณีที่ ธปท. ผ่อนปรนเรื่องวงเงินของบัตรเครดิตจากเดิมที่ 1.5 เท่า เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่จำกัดจำนวนผู้ให้กู้ จากเดิมที่ 3 แห่งสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เป็นผลบวกต่อผู้ถือบัตรเครดิต และทำให้ขยายสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น
ฝ่ายวิจัย บล.ทิสโก้ มองว่าการผ่อนปรนเกณฑ์วงเงินของบัตรเครดิตเป็นผลบวกต่อธนาคาร เช่น SCB, KBANK และ BAY ด้วยเช่นกัน แต่ SCB ได้ประโยชน์จากดิจิทัลแบงก์มากกว่ารายอื่น เนื่องจากความเร็วในการสร้างพอร์ตออนไลน์มูลค่า 2.7 หมื่นล้าน และมีผู้ใช้บริการกว่า 16 ล้านราย โดยเฉพาะแอปพลิเคชันของ SCB และ Robinhood แม้ว่าสัดส่วนของ Digital Lending จะคิดเป็น 4% ของรายได้ แต่มีดอกเบี้ยที่สูงถึง 17% สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกันเทียบกับสินเชื่อปกติ 4.6% และ SCB มีแผนที่จะขยาย Robinhood เพิ่มเติมเข้าไปยังต่างจังหวัด และกลุ่มโรงแรม
จึงแนะนำให้ ‘ซื้อ’ SCB และ TTB โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 136.00 บาท และ 1.51 บาท
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองบวกต่อมาตรการใหม่ของ ธปท. และคาดว่าธนาคารจะได้รับประโยชน์จากการก่อตัวของ NPL และต้นทุนสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องแลกกับ NIM ที่ลดลง โดยมองเป็นโอกาสสะสมหุ้นที่ราคาอ่อนตัว กลุ่มธนาคารถือเป็นกลุ่มที่น่าลงทุนในธีมเปิดประเทศ เนื่องจากราคาน่าดึงดูดและความคาดหวังที่ต่ำในขณะนี้
หุ้นเด่น ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โดยราคาหุ้น KBANK ลดลง 25% ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/64 และซื้อขายต่ำกว่า 2SD สำหรับ PER และ P/BV ส่วน TISCO แนวโน้มกำไรดีกว่าเมื่อเทียบกับแบงก์อื่นที่มี NPL Coverage และ ROE สูง
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย-โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค-การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce