หุ้นแบงก์พาเหรดขึ้นรับข่าวบวก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า นักวิเคราะห์คาดหากปรับขึ้นจริงจะเริ่มเห็นส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) แบงก์สูงขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป แต่ยังแนะนำให้เกาะติดเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจะกดดันกำลังซื้อ กระทบต่อการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ
หุ้นกลุ่มแบงก์จับมือกันบวกยกแผง นำโดย KBANK ที่บวกขึ้นมาราว 4.15%, BBL บวก 5%, SCB เพิ่มขึ้น 4.13% และ KTB เพิ่มขึ้น 3.25%
เบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการจัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับเพิ่มขึ้นวันนี้ (9 มิถุนายน) ได้อานิสงส์จากแรงเก็งกำไรข่าวที่มาสนับสนุน หลังจากที่วานนี้ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ด้วยมติ 4 ต่อ 3 โดยเป็นเสียงที่ไม่เอกฉันท์ ซึ่งเป็นสัญญาณชี้ว่าความจำเป็นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายน้อยลง หลังจากที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ
โดยคณะกรรมการ 3 ใน 4 ท่านมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัวตามที่คาด ขณะเดียวกันยังปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ด้วย เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าในการประชุม กนง. ครั้งหน้าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน
“กลุ่มแบงก์จึงได้อานิสงส์เชิงบวกจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ NIM เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยประเมินว่าจะเริ่มเห็น NIM ของกลุ่มแบงก์เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้” เบญจพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนกลุ่มแบงก์ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือการเติบโตของสินเชื่อ โดยเฉพาะแบงก์ที่มีพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อระดับสูงที่กดดันกำลังซื้อและศักยภาพในการจ่ายคืนหนี้
ทั้งนี้หุ้นแบงก์ที่โดดเด่นคือ KBANK จากการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างสูง, BBL จากการมีพอร์ตสินเชื่อที่ปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และ KKP จากจุดเด่นเรื่องอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล
ด้านฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การเก็งกำไรกลุ่มธนาคารยังให้ระมัดระวัง แม้ว่าวานนี้ กนง. จะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากมองว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังกระทบกับกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งทำให้การเติบโตของสินเชื่อกลุ่มแบงก์ไม่ได้สูงนัก
โดยวานนี้ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ด้วยมติ 4 ต่อ 3 โดยเสียงไม่เอกฉันท์ เป็นการสะท้อนสัญญาณความจำเป็นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายน้อยลงจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ โดยการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2565 เป็น 3.3% จาก 3.2% เป็นการสะท้อนงวด 1/65 ที่ดีกว่าคาด และปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวขึ้นเป็น 6 ล้านคน ทั้งนี้โดยความคิดเห็นที่แตกต่างของคณะกรรมการคือช่วงเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งสะท้อนภาพความไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP