หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ซึ่งทยอยประกาศผลประกอบการรวมปี 2563 จนถึง ณ วันที่ 21 มกราคม 2564 เวลา 17.00 น. รายงานออกมาแล้วทั้งสิ้น 7 บริษัท โดยหากมองเฉพาะไตรมาส 4/63 จะเห็นว่ามีทั้งส่วนของแบงก์ที่กำไรออกมาดีกว่าคาดค่อนข้างมาก อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งกำไรไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นถึง 98% ขณะเดียวกันหุ้นอย่างธนาคารทหารไทย (TMB) กำไรสุทธิออกมาผิดคาด ซึ่งโดยหลักเป็นผลจากการตั้งสำรองฯ ที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ดัชนีของหุ้นกลุ่มแบงก์ในวันนี้ปรับตัวขึ้น 3.5% สวนทางกับภาพรวมตลาด (SET) ที่ปิดลบไป 0.15% โดยหลักได้แรงหนุนจากแบงก์ใหญ่ ได้แก่ KBANK +7.7%, ธนาคารกรุงเทพ (BBL) +4.5%, ธนาคารกรุงไทย (KTB) +4.1% และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) +3.6%
ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ผลประกอบการไตรมาส 4/63 ของหุ้นกลุ่มธนาคารออกมาค่อนข้างแตกต่างกันคนละทิศทาง เนื่องจากการตั้งสำรองฯ ที่แตกต่างกันค่อนข้างมากในแต่ละแบงก์ อย่างกรณีของ ชธนาคารทหารไทย (TMB) ถือว่ากำไรผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในเชิงลบ เนื่องจากบริษัทตั้งสำรองสูงกว่า 8 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ผ่านมา
ขณะที่หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ผลประกอบการถือว่าดีกว่าคาดค่อนข้างมาก โดยทำกำไรสุทธิได้ 1.3 หมื่นล้านบาท เทียบกับคาดการณ์ของตลาดที่เพียง 6-7 พันล้านบาท เป็นผลจากการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงเหลือเพียง 669 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนๆ ในปี 2563 ซึ่งตั้งสำรองประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท
“สำหรับปี 2564 ภาพรวมของกลุ่มธนาคารน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ จากการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะลดลง แม้ว่าบางบริษัทจะตั้งสำรองฯ ไม่สูงในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แต่หากดูภาพรวมทั้งปียังคงสูงกว่าระดับปกติ ขณะเดียวกันตัวเลข NPL ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักในไตรมาสล่าสุด ทำให้ภาพรวมของธุรกิจดีขึ้นมาก และความกังวลเรื่องคุณภาพหนี้ลดลงไป ทั้งนี้คาดว่ากำไรของกลุ่มแบงก์ในปี 2564 น่าจะฟื้นตัวได้ราว 8-9%”
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลประกอบการด้านอื่นๆ เช่น การปล่อยสินเชื่อ หรือรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังไม่น่าจะฟื้นตัวได้มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ได้สดใส ทำให้แต่ละแบงก์ยังค่อนข้างระมัดระวัง รวมถึงกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนที่อาจจะไม่ได้สูงนัก หลังจากดัชนี SET ช่วงปลายปี 2563 ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างแรง
“หากดูในรายละเอียด ความกังวลในเรื่องของ NPL ลดลงไปมาก จากก่อนหน้านี้ที่เกิดความกังวลหลังมีผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ค่อนข้างมาก แต่ลูกหนี้ราว 90% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ และมีเพียง 2-3% ที่กลายเป็น NPL ส่วนที่เหลือยังเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม”
ด้าน ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้กำไรของหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ประกาศออกมาแล้วเป็นทิศทางที่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 เนื่องจากบางบริษัทตั้งสำรองฯ ไว้สูงตั้งแต่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 แต่บางบริษัทยังไม่ได้ตั้งสำรองฯ ไว้มากนัก
สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ของกลุ่มแบงก์ ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักคือ การควบคุมโควิด-19 หากควบคุมได้ดีและกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ต่อเนื่อง เชื่อว่าจะยังเห็นการฟื้นตัวได้ต่อ ขณะเดียวกันต้องจับตาดูในเรื่องของการกระจายวัคซีนว่าจะทำได้เร็วเพียงใด ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดประเทศ
“โดยภาพรวม ระดับการตั้งสำรองฯ ของกลุ่มแบงก์อาจจะไม่ได้ลดลงเร็วมากนัก แต่คาดว่าจะผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดี Credit Cost ยังไม่น่าจะลดลงไปได้เท่ากับปี 2562 ในเบื้องต้นจึงประเมินกำไรของกลุ่มที่ราว 1.4 แสนล้านบาท ฟื้นตัว 7-8% จากปี 2563 แต่ด้วยผลประกอบการ KBANK ที่ออกมาดีกว่าคาด อาจมีการปรับประมาณการขึ้นเป็นฟื้นตัวได้ 8-10%”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล