จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ไม่เกินปี 2563 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิงวดครึ่งแรกของปี 2564 ส่วนอัตราการจ่ายเงินปันผลประจำปี ธปท. จะพิจารณาอีกครั้งช่วงไตรมาส 4/2564
ธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สำนักวิจัย บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การประกาศนโยบายครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า ธปท. มีมุมมองเชิงบวกต่อฐานะการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์และสะท้อนถึงมุมมองต่อการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าในปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมาจะเกิดการแพร่ระบาดระลอก 3 ก็ตาม
โดยหากเทียบกับมุมมองต่อฐานะการเงินและการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่า ธปท. ค่อนข้างมีนโยบายมาควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น การให้งดจ่ายปันผล
ทั้งนี้ ประเมินว่าด้วยนโยบายให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ จะทำให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อตอบรับเชิงบวกได้ เนื่องจากราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันนับว่าไม่แพง โดยมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เฉลี่ยอยู่ที่ราว 8-10 เท่า ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตดีขึ้นหลังจากผ่านพ้นปัจจัยลบในปีที่แล้วมาได้
“ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์เพิ่งจะฟื้นตัวในปลายปีที่แล้วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และเริ่มพีคในไตรมาส 1 แต่ก็จะสะดุดเพราะการแพร่ระบาดระลอก 3 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ภาพรวมดัชนีปรับเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับช่วง Pre-COVID แต่ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์กลับยัง Underperform”
ทั้งนี้ สำนักวิจัย บล.ทิสโก้ ได้ประมาณการอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ปี 2564 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ดังนี้
- BAY 1.2%
- BBL 3.4%
- KBANK 2.4%
- KKP 7.8%
- KTB 2.6%
- SCB 6.1%
- TTB 4.0%
- TISCO 7.5%
- LHFG 4.2%
ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีปัจจัยต้องติดตามอยู่ โดยเฉพาะการประกาศใช้นโยบายของ ธปท. ซึ่งมีผลต่อภาพรวมผลการดำเนินงานค่อนข้างมาก โดยในระยะสั้นนี้ต้องติดตามเรื่องการขยายระยะเวลาลดเงินนำส่งกองทุน FIDF จากเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นปี 2564 ซึ่งหาก ธปท. ไม่ขยายระยะเวลาให้ ก็จะส่งผลต่อ NIM ของธนาคารพาณิชย์ในที่สุด
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า จากกรณีดังกล่าว ภาพรวมมองว่าช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและสร้างความน่าสนใจด้านเงินปันผลให้กับกลุ่ม เพราะหากพิจารณาการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2562 พบว่า น้ำหนักของเงินปันผลจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง
จึงคาดว่า ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล Dividend Yield เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1% แต่ยังจูงใจเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี (Yield ราว 0.5%)
โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลมีโอกาสได้รับ Sentiment เชิงบวก นําโดย KKP, SCB, BBL, KBANK และ BAY
ขณะที่มาตรการอื่นที่ประกาศวานนี้ ได้แก่ การขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ SME จากเดิมสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564 ไปจนถึงสิ้นปี 2564 ให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการะบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์อย่าง KBANK ที่มีพอร์ตสินเชื่อ SME มากสุดในกลุ่มฯ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ในช่วงสั้นช่วยชะลอการไหลตกชั้นของลูกหนี้เป็น NPL (Stage 3) และ Stage 2 ของกลุ่ม ส่วนระยะยาวยังต้องตามต่อไป
ฝ่ายวิจัยคาดว่า หุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและตลาดเชื่อว่าให้ Yield สูงอย่าง KKP น่าจะได้รับความสนใจจากตลาด โดยปรับเพิ่มคําแนะนํา SCB จาก Switch เป็นซื้อเก็งกำไรตาม Sentiment เงินปันผล
ส่วน Top Pick ฝ่ายวิจัยเลือก KBANK สําหรับการ Recovery ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ในทางพื้นฐานชอบ TISCO และ BBL
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น