จากการสำรวจคาดการณ์ผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/64 พบว่านักวิเคราะห์ประเมินกำไรสุทธิที่ 30,000-35,600 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาส 2/64 เนื่องจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงล็อกดาวน์ และกำไรไตรมาส 3/64 ดีขึ้น หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว จากการตั้งสำรองที่ลดลง
ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า กล่าวว่า แนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 3/64 ของกลุ่มแบงก์คาดว่าจะอยู่ที่ 35,631 ล้านบาท ชะลอลง 9.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 (QoQ) เนื่องจาก Asset Yield ลดลง โดยเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี กลุ่มแบงก์จะหันไปลงทุนหรือปล่อยสินเชื่อในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อภาครัฐ เป็นต้น ทำให้ผลตอบแทนต่ำไปด้วย ประกอบกับมีลูกหนี้มาขอปรับโครงสร้างหนี้กันค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ รายได้จากค่าธรรมเนียมก็ปรับลดลง เนื่องจากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ประกัน กองทุน ผ่านหน้าสาขา โดยเฉพาะสาขาในห้างสรรพสินค้าลดลง จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวต่างๆ
ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 3 ปีนี้ กลุ่มแบงก์ยังมีการตั้งสำรองสูงขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่สูงขึ้นตามกำลังซื้อที่หดหายไปในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กำไรกลุ่มแบงก์จะดีขึ้น 55% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว (YoY) เนื่องจากเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำ อีกทั้งการสำรองในไตรมาสนี้ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้วที่มีการเร่งตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงจากผลกระทบของโควิด
ตฤณกล่าวว่า แม้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/64 จะไม่ดีนัก แต่ราคาหุ้นหลายตัวในกลุ่มปรับลดลง ตอบรับปัจจัยลบไปมากแล้ว ทำให้มี Valuation ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากการออกมาตรการใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลขยายเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้และการตั้งสำรองแบบผ่อนคลายจนถึงไตรมาส 1/65 และมีโอกาสผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวไปถึงสิ้นปี 2566
นอกจากนี้ การขยายเวลาการปรับลดวงเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อลดผลกระทบของ Asset Yield ที่ปรับลงจากการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบโควิด ทำให้บริษัทยังคงน้ำหนักมากกว่าตลาด (Overweight)
“ประเมินว่าราคาหุ้นจะไม่ปรับตัวลดลงมากนัก แม้กลุ่มแบงก์จะประกาศผลประกอบการออกมาและกำไรลดลงตามคาด เนื่องจากนักลงทุนจะมองข้ามไปถึงแนวโน้มไตรมาส 4 ซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น การปล่อยสินเชื่อของแบงก์จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน” ตฤณกล่าว
ทั้งนี้ เลือก KBANK เป็นหุ้นเด่น ราคาเป้าหมายที่ 180 บาท เนื่องจากมีการขยายตัวของสินเชื่อโดดเด่น และ KKP ราคาเป้าหมาย 70 บาท เนื่องจากคาดว่ากำไรไตรมาส 3/64 จะปรับลงน้อยที่สุดในกลุ่ม เพราะมีรายได้จากฝั่งตลาดทุนช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยรับที่ปรับลงและการตั้งสำรองที่สูงขึ้น
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปีนี้ จะแย่ลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 เพราะมีการตั้งสำรองสูงกว่า ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมน่าจะลดลงจากการล็อกดาวน์ประเทศ
อย่างไรก็ตาม เอเซีย พลัส ยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มแบงก์เป็น Overweight เนื่องจากราคาหุ้นค่อนข้างต่ำ โดยที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ถูกกดดันจากความกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งความเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นคลายตัวแล้ว หลังจากที่ท่าทีผลประชุม กนง. ล่าสุด ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ย และน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระยะยาว ส่วนปัจจัยเรื่องคุณภาพสินทรัพย์นั้น ประเมินว่ากำลังค่อยๆ ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
“การปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB น่าจะทำให้ธนาคารอื่นๆ ปรับโครงสร้างที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่าหลายธนาคารเองก็มีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจกันอยู่แล้ว กรณีของ SCB เหมือนเป็นปัจจัยเร่งมากกว่า”
ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส เลือกหุ้นเด่นกลุ่มแบงก์คือ KBANK เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในยามที่เศรษฐกิจในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะที่ราคาหุ้นถือว่ายังไม่สูง โดยประเมินราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 145 บาท และปี 2565 ที่ 154 บาท
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า คาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 3/64 ของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เกิดจาก
- รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง เพราะผลกระทบโควิดระลอก 3 ทำให้มีการล็อกดาวน์ 2 เดือน และมีการปิดสาขาในห้าง ซึ่งธุรกิจ Bancassurance กระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจกองทุนรวมที่ลดลง ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์ยังทรงตัวได้ เพราะมูลค่าการซื้อขายยังทรงตัวในระดับสูง
- มีกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลงจากภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวน
- NIM ลดลงจากการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นระยะยาวมากขึ้น
แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) กำไรจะเพิ่มขึ้น 26% เกิดจาก
- มีการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง เนื่องจากช่วงไตรมาส 3/63 มีการตั้งสำรองฯ ไว้สูงมากจากผลกระทบของโควิดรอบแรก โดยเฉพาะ SCB และ TTB ที่ตั้งสำรองฯ สูงมากในไตรมาส 3/63
- BBL ไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษในการควบรวมสาขา BBL ใน Permata จำนวน 4,000 ล้านบาท
โดยธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตได้โดดเด่นที่สุดเมื่อเทียบ YoY คือ SCB เติบโต 55% YoY เพราะสำรองฯ ลดลงจากไตรมาส 3/63 ที่ตั้งไปถึง 13,000 ล้านบาท จากปกติต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2565 ยังเติบโตต่ออีก 8% เพราะแนวโน้มสำรองฯ ที่ลดลงจากการที่ตั้งสำรองเผื่อฯ มาเยอะแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และหากพิจารณาในส่วนของ Debt Relief ของกลุ่มฯ ยังทรงตัวที่ระดับ 10% ในไตรมาส 2/64 แต่ถือว่าดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่เริ่มโครงการที่ 30%
ด้านภาพรวมของสินเชื่อไตรมาส 3/64 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4%QoQ และ YoY เพราะสินเชื่อรายใหญ่และภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตามโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงสินเชื่อรายย่อยที่ปรับตัวขึ้นได้จะเป็นในส่วนของสินเชื่อบ้านเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต่ออายุถึงเดือนธันวาคม 2566 ทำให้สินเชื่อยังทรงตัวได้
ในส่วนของ NPL รวมในไตรมาส 3/64 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.66% จาก ไตรมาส 2/64 ที่ 3.33% เนื่องจากแต่ละธนาคารไม่มีการขายหนี้ออกมา เพราะราคาตลาดปรับตัวลดลงมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า NPL จะไม่ขึ้นไปสูงเท่าไตรมาส 2/63 อีกแล้ว เนื่องจากรอบนี้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการที่เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่แต่ละธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นเป็นระยะยาวมากขึ้น
นอกจากนี้ ธปท. ยังมีการขยายเวลามาตรการนี้ต่อถึง 31 ธันวาคม 2566 ทำให้คาดว่าแนวโน้ม NPL จะไม่ปรับตัวเร่งขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่จะเป็นรูปแบบทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่จะมี NPL เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือ BBL และ TISCO และคาดว่า NPL จะทยอยเร่งตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564 อยู่ที่ 4.0%
ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารมากกว่าตลาด และเลือก SCB เป็น Top Pick ราคาเป้าหมายที่ 140 บาท จากการเปลี่ยนธุรกิจใหม่เป็น Holding Company และการรุกในธุรกิจดิจิทัลที่เป็นเทรนด์ในอนาคตก่อน จะทำให้ได้เปรียบกว่าคู่แข่งมาก และสามารถขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น ขณะที่คาดแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 3/64 และ 4/64 จะเพิ่มขึ้น YoY ได้จากฐานต่ำในปี ก่อนที่มีการตั้งสำรองฯ ในระดับสูง
และเลือกเก็งกำไร KKP ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 62 บาท จากแนวโน้มของงบไตรมาส 3/64 ที่มีโอกาสดีกว่าคาด เพราะมีหลายดีล IB เข้ามาช่วย ทั้งจากการปรับโครงสร้างของ SCBX และ CPALL กับ MAKRO และขาดทุนรถยึดน่าจะน้อยกว่าคาด เพราะตลาดเริ่มมีการชะลอการยึดรถลง
ฝ่ายวิจัย บล.บัวหลวง ประเมินว่า กำไรไตรมาส 3/64 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง จะอยู่ที่ระดับ 34,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 31% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า จากการตั้งสำรองที่ลดลง และสินเชื่อเติบโต สำหรับผู้นำกำไรเติบโตได้แก่ SCB และ BBL ขณะที่ BAY จะมีกำไรลดลงมากที่สุด
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/64 คาดกำไรกลุ่มจะเติบโตทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มองภาพรวมทั้งปีนี้คาดว่ากำไรจะเติบโต 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 6% ในปี 2565 จากการตั้งสำรองที่ลดลง การเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นด้วย
บล.บัวหลวง ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด และเลื่อนไปใช้ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2565 โดยชอบ TISCO, BBL, KBANK และ KKP มากที่สุด
ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี มองว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/64 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และกระทบกับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงด้วย
ขณะเดียวกันยังทำให้การตั้งสำรองของแบงก์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ จากความเสี่ยงของ NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรไตรมาส 3/64 จะฟื้นตัวได้ดีจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเติบโตจากฐานต่ำ
ทั้งนี้ หุ้นเด่นคือ SCB และ KTB ที่มองว่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ดีกว่าตัวอื่น และ KBANK ที่ยังน่าสนใจ แม้จะมีพอร์ต SMEs ค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงที่เศรษฐกิจชะลอ แม้ว่าจะเป็นความเสี่ยง แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ก็จะกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP