×

ธปท. ห่วงภาคการผลิตเริ่มได้รับผลกระทบจากพิษโควิด หลายโรงงานต้องหยุดชั่วคราว ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ชะลอตัว จากการบริโภคที่อ่อนแอ

30.07.2021
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ แม้ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่อ่อนแอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด

 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้การส่งออกยังเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้การส่งออกเหล็กเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปลี่ยนไปเน้นตลาดส่งออกมากขึ้นในช่วงที่ความต้องการในประเทศลดลง

 

ชญาวดี กล่าวว่า การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นยังช่วยพยุงการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการส่งออก ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับลดลงต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง

 

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมพบว่าปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการผลิตหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตหมวดอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

 

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้เมื่อดูเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาพรวมพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง เนื่องจากผลของฐานต่ำในหมวดราคาพลังงานทยอยหมดไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออก ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดภายในประเทศที่ยังยืดเยื้อ

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม ชญาวดีกล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ตามมาตรการควบคุมการระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง

 

โดยข้อมูลการสำรวจผู้ประกอบการของ ธปท. ระหว่างวันที่ 1-20 กรกฎาคม พบว่าภาคการผลิตมีมุมมองว่าการแพร่ระบาดในโรงงานมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้โรงงานบางแห่งต้องหยุดผลิตชั่วคราว ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกบ้าง แต่หลายโรงงานเริ่มปรับตัวแล้ว เช่น ย้ายการผลิตจากโรงงานที่มีปัญหาไปอีกโรงงานหนึ่ง ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์จะยังมีต่อเนื่องเช่นกัน

 

ส่วนภาคการค้า พบว่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างสรรพสินค้าปรับตัวลดลงตามมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ขณะที่ยอดขายสินค้าคงทนก็ลดลงเช่นเดียว จากการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน

 

ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่าการปิดแคมป์คนงานทำให้การก่อสร้างส่วนใหญ่หยุดชะงัก การส่งมอบงานและเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้าลง ขณะที่ยอดขายที่อยู่อาศัยก็ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลงและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาคบริการ พบว่าอัตราเข้าพักโรงแรมโดยรวมยังต่ำมาก ขณะที่ยอดขายของร้านอาหารก็ลดลงจากมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X