×

ธปท. เผยกำไรแบงก์ Q3 หดเหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท ทั้งปีคาดกำไรลด แต่สินเชื่อโต 3-5%

โดย efinanceThai
16.11.2020
  • LOADING...
ธปท. เผยกำไรแบงก์ Q3 หดเหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท ทั้งปีคาดกำไรลด แต่สินเชื่อโต 3-5%

ธนาคารแห่งประเทศไทยเผย ไตรมาส 3/63 ธนาคารไทยมีกำไรสุทธิ 28,000 ล้านบาท โดย 9 เดือนแรกมีกำไร 130,400 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังกันสำรองพุ่ง ด้านสินเชื่อขยายตัว 4.6% ลดลงจากปีก่อนที่โต 5% ส่วน NPL เพิ่มมาอยู่ที่ 3.14% ทั้งปีคาดกำไรหด สินเชื่อโต 3-5%

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/63 ที่ผ่านมาว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 28,000 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีกำไรสุทธิ 130,400 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจากการกันสำรองในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ภาพรวมสินเชื่อในไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 4.6% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 5% ขณะที่ 9 เดือนแรกขยายตัว 3.9% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้และหุ้นเพิ่มทุนแทนการใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์

  

ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีหดตัวในอัตราที่ลดลงจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) และการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 5.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.14% ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 3.09%

 

“ส่วนแนวโน้ม NPL ยอมรับว่าตัวเลข NPL คงทยอยเพิ่มขึ้นหากลูกค้ายังติดต่อได้ ธนาคารพาณิชย์ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ เพราะไม่อยากให้ NPL เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะมีบางธุรกิจที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้จริงๆ แต่คงไม่ได้เป็นก้อนใหญ่ โดยธนาคารก็มีสำรองเผื่อไว้รองรับกลุ่มนี้อยู่แล้ว กลุ่มที่น่าห่วงคือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความเปราะบาง สายป่านสั้น เงินทุนไม่หนา เวลาเกิดผลกระทบอาจไม่สามารถปรับธุรกิจได้” สุวรรณีกล่าว

 

สำหรับอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.52% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 0.6% และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.55% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.6% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อที่ลดลงเป็นสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 19.8% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 7.82 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 149.7% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤตอยู่ที่ 184.9%

 

“ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อและชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคาร ขณะที่ผลประกอบการของธนาคารปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากกันสำรองในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับกับสินเชื่อที่อาจด้อยคุณภาพ” สุวรรณีกล่าว

 

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ควรเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนแนวโน้มสินเชื่อในระยะต่อไปคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา

 

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ ยืนยันว่ายังมีผลประกอบการเป็นกำไร แต่อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันการเงินได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้า ทั้งการลดดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญด้วย ขณะที่สินเชื่อคาดว่าจะขยายตัวได้ 3-5%

 

สำหรับสินเชื่อซอฟต์โลนที่ปล่อยได้ค่อนข้างช้านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถปรับเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดตามกฎหมายที่มีอยู่ได้หรือไม่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X