×

ธนาคารแห่งประเทศไทย ยัน เงินบาทอ่อน ไม่กระทบเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ ย้ำให้น้ำหนักกับการคุมเงินเฟ้อมากที่สุด หลังขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาด

28.09.2022
  • LOADING...
บาทอ่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าการอ่อนค่าของเงินบาทไม่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ชี้บาทอ่อนค่าไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน แต่มาจากปัจจัยระดับโลก พร้อมระบุว่า กนง. ให้น้ำหนักกับเสถียรภาพเงินเฟ้อมากที่สุด ไม่ใช่อัตราแลกเปลี่ยน

 

วันนี้ (28 กันยายน) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวระหว่างการแถลงผลการประชุมว่า การอ่อนค่าของเงินบาทมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเรื่องระดับโลก พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าตะกร้าค่าเงินบาทที่ถ่วงน้ำหนักกับประเทศคู่ค้าไม่ได้อ่อนลงมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 “การอ่อนค่าของเงินบาทมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นเรื่องระดับโลก จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยแรงมากและเร็วมาก ประกอบกับความคลุมเครือและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ทำให้ทุกคนแห่ไปหลบในสินทรัพย์ปลอดภัยในสหรัฐฯ” ปิติกล่าว

 

ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ถ้าเรามองตะกร้าค่าเงินบาทที่ถ่วงน้ำหนักกับประเทศคู่ค้า จะเห็นได้ว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนลงมาก เมื่อเทียบกับเงินบาทที่เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์

 

บาทอ่อนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่าง ‘จำกัด’ 

 

ปิติกล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อภาคส่งออกและภาคธุรกิจมีจำกัด โดยจะเห็นได้ว่าเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนกังวล ตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ (ข้อมูลถึงวันที่ 22 กันยายน) สุทธิยังเป็นบวก โดยมีเงินเข้าตลาดหุ้นค่อนข้างเยอะ ส่วนตลาดพันธบัตรก็มีการไหลออกค่อนข้างน้อย โดยตัวเลขของดัชนี SET Index ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางบริบทตลาดหมี สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังเห็นศักยภาพของประเทศไทยอยู่

 

อีกเหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนยังไม่หนีออกจากประเทศไทย มาจากเสถียรภาพเรายังค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยระดับทุนสำรองของเราเมื่อเทียบกับ GDP ยังสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงมาก ขณะที่หนี้สินต่างประเทศก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับทุนสำรองฯ ซึ่งสูงกว่าประมาณ 3 เท่า

 

นอกจากนี้ ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยผู้ส่งออกระดับหนึ่ง ถือเป็น Optimistic Stabilizer เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นมาก การอ่อนค่าของเงินบาทจึงช่วยลดผลกระทบ ดังนั้น สิ่งที่แบงก์ชาติห่วงจึงเป็นเรื่องของต้นทุน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาทจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในอดีตการส่งผ่านต้นทุนการนำเข้าของผู้ประกอบการไปให้ผู้บริโภคยังค่อนข้างน้อย เพราะผู้ประกอบการสามารถแบกรับต้นทุนได้ และมีเครื่องมือในการบริหาร และในปัจจุบัน ธปท. ก็ยังไม่เห็นการส่งผ่านในระดับที่น่าเป็นห่วง

 

ย้ำเน้นดูแล ‘เงินเฟ้อ’ ไม่ให้น้ำหนัก ‘อัตราแลกเปลี่ยน’

 

ปิติกล่าวว่า เป้าหมายนโยบายการเงินของ ธปท. มุ่งดูแลมี 3 ด้าน ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพของระบบการเงิน และคณะกรรมการฯ ไม่ได้ให้น้ำหนักกับอัตราแลกเปลี่ยนด้วยตัวมันเอง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย 3 ด้านได้

 

ปิติย้ำอีกว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯ ให้น้ำหนักกับเสถียรภาพด้านราคามากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูง และการส่งผ่านที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ จึงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการฯ ตระหนักและติดตาม

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ตระหนักว่าความสามารถของนโยบายการเงินและเครื่องมือที่เรามีในการดูแลการแข็งค่าของดอลลาร์ ‘มีจำกัด’ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นเรื่องระดับโลก ถ้าต้องทำคงต้องทำอะไรที่แรงมาก

 

คาดเงินเฟ้อพื้นฐาน ‘พีค’ ไตรมาส 4

 

ปิติยังระบุว่า เงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) แตะจุดสูงสุดแล้วในเดือนสิงหาคม หรือในไตรมาสที่ 3 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในไตรมาสที่ 4 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) น่าจะแตะจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากปกติแล้วการส่งผ่านต้นทุนไปถึงเงินพื้นฐานจะใช้เวลามากกว่า

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน

 

ทั้งนี้ ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% สู่ระดับ 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสม 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising