×

ธปท. ชี้ไทยกำลังเผชิญ Perfect Storm จากเงินเฟ้อ มองแนวโน้มยังเร่งตัว หวังครึ่งปีหลังเงินบาทกลับมาแข็งค่าช่วยลดแรงกดดัน

08.07.2022
  • LOADING...
Perfect Storm

‘แบงก์ชาติ’ เผยไทยกำลังเผชิญ Perfect Storm จากเงินเฟ้อ มองระยะข้างหน้ายังมีหลายปัจจัยหนุนการเร่งตัว แต่เชื่อเงินบาทที่อ่อนค่ากระทบเงินเฟ้อไม่มาก ย้ำปล่อยค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด เน้นเข้าแทรกแซงเฉพาะเวลาผันผวนผิดปกติ พร้อมยืนยันยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย

 

ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนและอ่อนค่านับจากต้นปีมาแล้ว 7.6% คือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่นับจากต้นปีแข็งค่าขึ้นมามากถึง 11.3% ทำให้เงินสกุลอื่นๆ รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ 

 

อย่างไรก็ดี หากเทียบเงินบาทกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ในระดับปานกลาง สะท้อนได้จากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ยังอยู่ที่ระดับ 1.5%

 

“ธีมโลกตอนนี้คือ Risk Off คนกลัวการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed กลัวเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้มีเงินไหลกลับไปถือดอลลาร์มาก แต่ถ้าดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยนับจากต้นปีที่ผ่านมา เรายังเป็นบวกอยู่ราว 9.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของเราก็แข็งแกร่ง มีทุนสำรองสูงถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 52% ของ GDP และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นกว่า 3 เท่า” ดารณีกล่าว

 

สำหรับผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อสถานการณ์เงินเฟ้อในเวลานี้ยังมีไม่มาก เนื่องจากตะกร้าเงินเฟ้อของไทยมีสัดส่วนของสินค้านำเข้าอยู่ไม่มากเพียง 15-16% แต่ ธปท. ก็ไม่ได้ชะล่าใจ โดยจะติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากหากเงินบาทอ่อนยาวนานกว่าที่คิด การส่งผ่านผลกระทบไปยังเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

“ในแง่เงินเฟ้อเรากำลังเจอกับ Perfect Storm หากมองไปข้างหน้ายังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวได้ เช่น การลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน การปรับขึ้นค่าจ้าง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะทำให้อุปสงค์กลับมา เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจไปซ้ำเติม แต่เรายังหวังว่าเงินบาทในครึ่งปีหลังจะกลับมาแข็งได้ จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและค่าขนส่งสินค้าที่ลดลง” ดารณีกล่าว

 

ดารณีระบุว่า กรอบการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ยังคงยึดตามหลักปกติ คือ ปล่อยให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และจะเข้าดูแลเฉพาะในกรณีที่มีความผันผวนในตลาดมากผิดปกติเท่านั้น โดยยืนยันว่า ธปท. ไม่มีการกำหนดระดับที่เหมาะสมของค่าเงินบาท และมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย

 

“อัตราแลกเปลี่ยนจะกลับมาสมดุลได้ด้วยตัวเองถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ถ้าเราไปล็อกไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับระบบในระยะยาว ส่วนเรื่องการนำมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้ เรายังห่างไกลจากจุดนั้นมาก ในอดีตที่ผ่านมาเราพบว่ามาตรการกั้นเงินไหลออกมักจะไม่มีประสิทธิภาพและส่งผลเสียในระยะยาว” ดารณีกล่าว 

 

ขณะที่ ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนล่าสุดที่เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 7.66% ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำของปีก่อน และเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ ธปท. คาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว โดยคาดว่าเงินเฟ้อไทยยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีกในช่วงไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถ้าไม่มีช็อกเพิ่มเติม เมื่อภาวะสงครามและปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงเงินเฟ้อจะลดลงตามกลไกด้วยตัวเอง

 

ณชากล่าวอีกว่า การดูแลเงินเฟ้อของ ธปท. จะให้น้ำหนักไปที่เงินเฟ้อในระยะปานกลางมากกว่าเงินเฟ้อในระยะสั้น ซึ่งข้อมูลยังชี้ว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางของไทยในปัจจุบันยังอยู่ที่ราว 2% เป็นไปตามกรอบเป้าหมายของ ธปท. ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ก็จะไม่ทำให้เงินเฟ้อลดลงในทันที เนื่องจากนโยบายการเงินต้องใช้เวลาในการส่งผ่าน แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยไม่ให้คาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนยากแก่การควบคุม 

 

ณชายังยืนยันว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันไม่ได้ล่าช้า หรือ Behind the Curve เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ เนื่องจากวัฏจักรการฟื้นตัวของไทยต่างจากสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้ร้อนแรง ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยคงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการปรับดอกเบี้ยแต่ละครั้งจะมีการชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจ เพื่อประเมินความเร็วและขนาดในการปรับให้เหมาะสม

 

“การที่ไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวก็ช่วยให้เรามีอิสระในการดำเนินนโยบายไม่ต้องอิงกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ กลุ่มที่จำเป็นต้องทำนโยบายดอกเบี้ยอิงกับสหรัฐฯ จะมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ล็อกค่าเงินไว้กับดอลลาร์ เช่น ฮ่องกง กลุ่มที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ สูง เช่น แคนาดาและเม็กซิโก และกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศสูงมีทุนสำรองต่ำ ซึ่งเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ซึ่งปัจจุบันไทยเราไม่ได้อยู่ในทั้ง 3 กลุ่มนี้” ณชาระบุ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising