×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

แบงก์ชาติโหมดูแลเงินบาท แค่ 2 สัปดาห์ เงินทุนสำรองฯ ลดกว่า 8.4 พันล้านดอลลาร์

26.06.2022
  • LOADING...
เงินบาท

ธปท. โหมดูแลเสถียรภาพเงินบาทหลังอ่อนค่าทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง ทุนสำรองไทยหดจากต้นปีแล้ว 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เฉพาะครึ่งเดือนมิถุนายนลดลงถึง 8.4 พันล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์ประเมินบาทมีโอกาสแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปี

 

การกอดคอทำสถิติอ่อนค่าในรอบหลายปีของสกุลเงินในเอเชีย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจับตามอง โดยล่าสุดเงินรูปีของอินเดียก็ทำสถิติอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ ส่วนเงินเปโซของฟิลิปปินส์และเงินวอนของเกาหลีใต้ได้ร่วงลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 16 และ 13 ปี ตามลำดับ ขณะที่เงินบาทของไทยอ่อนค่าทำสถิติในรอบ 5 ปีครึ่ง ที่ระดับ 35.55 บาทต่อดอลลาร์

 

หากนับจากต้นปี เงินบาทอ่อนค่ามาแล้วถึง 6% สูงเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาค โดยเป็นรองเพียงเงินเยนของญี่ปุ่น เงินวอน เงินเปโซ และเงินดอลลาร์ไต้หวัน ที่อ่อนค่า 14.5, 8.4, 7.1 และ 6.9% ตามลำดับเท่านั้น และหากนับจากต้นเดือนที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้วถึง 3.7% สูงเป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค

 

สาเหตุสำคัญของความผันผวนของค่าเงินคือ ความดุดันของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อสู้กับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่กันคนละช่วงของการฟื้นตัว และหลายประเทศไม่อยู่ในสถานะที่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ได้ทัน ซึ่งจะทำให้ผลต่างอัตราดอกเบี้ยบวมสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

โดยประเทศที่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง มีแรงกดดันเงินเฟ้อสูง พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็มีโอกาสจะโดนกดดันจากตลาดได้มาก

 

แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทอาจส่งผลดีต่อการเปิดประเทศของไทยในแง่การดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่อีกมุมหนึ่ง การอ่อนค่าของเงินบาทก็ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและพลังงานของไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีการเข้าแทรกแซง เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินบาทให้ไม่ผันผวนรุนแรงเกินไปมาอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ ธปท. ระบุว่า ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 250,821 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงต้นปีที่ 277,310 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงไปแล้วกว่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

ทั้งนี้ เฉพาะครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน เงินทุนสำรองของไทยมีการปรับลดลงถึง 8.4 พันล้านดอลลาร์ สะท้อนถึงความพยายามของ ธปท. ในการประคองค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเร็วจนเกินไป

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชีย เป็นผลจากการปรับทิศนโยบายทางการเงินของ Fed เพื่อดูแลเงินเฟ้อในฝั่งอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อฝั่งอุปทานที่เป็นผลจากภาวะสงคราม

 

“การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้พวกกองทุนต่างๆ เทขายสินทรัพย์ในเอเชียแล้วกลับไปถือดอลลาร์ ทำให้สกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง ในช่วงแรกที่ท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ยังไม่ดุดัน เพราะประเมินเงินเฟ้อต่ำไป ทำให้ต้องมาไล่ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มจาก 0.25% เป็น 0.50% และ 0.75% และยังมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก ทำให้สกุลเงินในเอเชียในช่วงหลังมานี้อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว” รุ่งกล่าว

 

รุ่งประเมินว่า สกุลเงินในเอเชียรวมถึงเงินบาทจะยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานที่ยืนยันว่าการแตะเบรกของ Fed ได้ผล และเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ท่าทีของ Fed มีความเป็นสายเหยี่ยวลดลง โดยคาดว่าจะต้องรอถึงไตรมาส 3 

 

“เรามองว่า ในช่วงไตรมาส 3 หลักฐานว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พีคแล้วจะชัดเจนขึ้น ซึ่งจะหนุนให้สกุลเงินในเอเชียแข็งค่าขึ้น โดยในส่วนของเงินบาทมองว่า จุดต่ำสุดน่าจะอยู่ที่แถวๆ 36 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี จากอานิสงส์ของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว” รุ่งกล่าว

 

สอดคล้องกับความเห็นของ พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ที่มองว่า เงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชีย จะยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อไปจนกว่าตลาดจะมั่นใจว่า Fed จะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากเกินไป ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวบ้างแล้ว เช่น รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มมองว่า Fed อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงไปมากนัก 

 

โดยข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ระบุว่า ขณะนี้ตลาดมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดที่ระดับ 3.75% ลดลงจากที่เคยมองว่าอาจขึ้นได้ราว 4% หรือสูงกว่านั้น 

 

“สองเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คือ ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และการประชุม Fed ในเดือนกรกฎาคม ว่าจะมีความชัดเจนอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ หากตลาดมองว่า Fed ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเหมือนที่เคยคาดไว้ ก็จะเป็นจุดกลับตัวของสกุลเงินในเอเชียและเงินบาท” พูนระบุ

 

อย่างไรก็ดี พูนมองว่า ความเร็วในการกลับมาแข็งค่าของแต่ละสกุลเงินในเอเชียจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย เช่น ในกรณีของไทยจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ขณะที่ในบางประเทศอาจเชื่อมโยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

 

“จุดต่ำสุดของเงินบาทในรอบนี้น่าจะอยู่ที่แถวๆ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ ไม่น่าจะทะลุ 36 บาท กรณีที่จะหลุด 36 บาทได้คือ เศรษฐกิจจีนต้องมีปัญหาในการฟื้นตัว มีล็อกดาวน์อีก และถ้ามองไปถึงสิ้นปียังเชื่อว่า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ กรณีที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 6.4 ล้านคน และอาจแข็งได้ถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ หากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 7-10 ล้านคน” พูนกล่าว

 

ด้าน นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าไปถึงระดับ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ หากดูจากสถิติในช่วงที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยหนักๆ ในปี 2015-2016 ซึ่งตอนนั้นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางอ่อนค่านานถึง 2 ปี

 

“วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในรอบนี้ยังมาไม่ถึงครึ่งทาง สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะไปแตะระดับ 3% และล่าสุดประธาน Fed ก็พูดกับสภาว่า จะเอาชนะเงินเฟ้อโดยปราศจากเงื่อนไข ถึงแม้ว่าในระยะสั้นเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะชะลอลง แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 7-8% อยู่ดี” นริศกล่าว

 

นริศกล่าวอีกว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้เป็นการอ่อนตามภูมิภาค ดังนั้นแม้ไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็จะไม่ช่วยให้ค่าเงินแข็งขึ้น เห็นได้จากประเทศที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ที่ค่าเงินก็ยังอ่อนทำสถิติอยู่ 

 

“ค่าเงินที่อ่อนถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่การอ่อนค่าตามภูมิภาคอาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก ขณะเดียวกันภาระการนำเข้าของเราก็เพิ่มขึ้น ในภาวะที่ค่าเงินทั้งภูมิภาคยังมีแนวโน้มอ่อนค่า เราคงไปฝืนกระแสลมไม่ได้ การดูแลจาก ธปท. คงทำได้แค่ประคองไม่ให้ผันผวนรุนแรงจนเกินไป” นริศกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising