ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามนี้ค่อนข้างรุนแรงกว่ารอบแรกและรอบสอง ดังนั้นต้องติดตามผลที่ส่งผ่านมาที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจจะลดลง โดยจากข้อมูลเร็วที่ทาง ธปท. เก็บจากผู้ประกอบการ (ติดต่อทางโทรศัพท์) พบว่า
- ภาคการผลิต ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะยังเห็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า แต่ยังมีปัญหาความขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์
- ภาคอสังหาริมทรัพย์ มีความกังวลต่ออุปสงค์ในประเทศจะฟื้นตัวช้าออกไป
- ภาคการค้า ได้รับผลกระทบจากยอดขายลง ยิ่งมีการระบาดในวงกว้างมากกว่าระลอกที่สอง จึงส่งผลต่อยอดขายมาก
- ภาคบริการ ได้รับกระทบมากกว่าที่คาด แม้เดือนเมษายน 2564 จะมีวันหยุดยาว แต่ในช่วงสงกรานต์โรงแรมบางส่วนถูกยกเลิก
– ร้านอาหาร กระทบมากขึ้นจากมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น การจำกัดเวลาเปิดร้านและงดขายแอลกอฮอล์
– การขนส่งผู้โดยสาร จำนวนผู้ใช้บริการลดลง ขณะที่การขนส่งสินค้ายังทำได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ในระยะถัดไปมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวค่อนข้างแตกต่างกัน โดยมีการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ที่ยังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและการเปิดประเทศอาจชะลอออกไป โดยต้องติดตามสถานการณ์การะบาดระลอกสามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเมินผลต่อเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นจากมาตรการที่ภาครัฐออกมาก่อนหน้า
ขณะที่ส่วนสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยคือ เรื่องวัคซีน โดยจำนวนที่รัฐจองไว้กว่า 63 ล้านโดสคาดว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2565 แต่รัฐจะสามารถจัดหาได้ถึง 100 ล้านโดสหรือไม่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากการจัดหาและกระจายวัคซีนล่าช้าอาจส่งผลกระทบต่อการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวของไทยในระยะถัดไป
ทั้งนี้ เรื่องวัคซีนไม่ใช่แค่เรื่องจำนวน แต่เป็นแผนการกระจายการฉีดด้วย ทั้งการมีบุคลากรที่สามารถฉีดวัคซีนกับประชาชน ความเชื่อมั่นต่อประชาชนที่กล้ารับวัคซีน และการกระจายในพื้นที่ที่จำเป็น
อย่างไรก็ตามด้านมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ทาง ธปท. มีการทบทวนมาตรการด้านรายย่อย โดยจะมีการหารือกับภาครัฐเพื่อประสานนโยบายให้เกิดความช่วยเหลือที่ตรงจุด ขณะนี้มองว่ามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ จะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง
โดยทาง ธปท. ยังคงประมาณการ GDP ปี 2564 ล่าสุดที่ 3% (ไม่รวมผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกที่สาม) ซึ่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวขึ้นดีขึ้นจากการระบาดระลอกสอง ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกเดือนมีนาคมที่เติบโต 15.8% และเครื่องชี้การบริโภคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่องตามมาตรการรัฐ
แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอาจลดลงจากการระบาดระลอกสาม ทำให้ ธปท. ต้องทบทวนประมาณการในระยะต่อไป โดยสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง เห็นได้จากเดือนมีนาคม 2564 จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่อยู่ที่ 92,279 ราย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ 90,904 ราย และเดือนมกราคม 71,763 ราย
ขณะเดียวกันค่าเงินบาทในเดือนมีนาคมยังอ่อนค่า ส่วนหนึ่งเพราะสกุลเงินคู่ค้าที่แข็งค่าขึ้น (ดอลลาร์สหรัฐ) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อย และปัจจัยการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมของไตรมาส 1/64 เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ที่ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า และคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันตลอดทั้งปี 2564 นี้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ไม่พลาดข่าวไฮไลต์ประจำวัน มาเป็นเพื่อนกับ THE STANDARD WEALTH ในไลน์ คลิก https://lin.ee/xfPbXUP