การปรับโครงสร้างธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยการจัดตั้งบริษัทแม่แห่งใหม่ขึ้นเป็นโฮลดิง คัมพานี และโยกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไปอยู่ใต้ปีกบริษัทแม่ ในระนาบเดียวกับธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงมีคำถามเกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจโฮลดิงของเครือไทยพาณิชย์ หรือ SCBX ว่าจะถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานใดบ้าง
นวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า แม้กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์จะปรับโครงสร้างธุรกิจโดยจัดตั้ง SCBX ขึ้นมาเป็นโฮลดิง คัมพานีก็ตาม แต่ SCBX จะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. อยู่เช่นเดิม
“การปรับโครงสร้างของ SCB ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้มีหลายธนาคารในระบบที่ปรับโครงสร้างและมีโฮลดิง คัมพานีขึ้นมาเป็นบริษัทแม่ โดยกลุ่มไทยพาณิชย์น่าจะเป็นแห่งที่ 4 โดยหลักปฏิบัติแล้ว กลุ่มไทยพาณิชย์และกลุ่มธนาคารอื่นๆ สามารถปรับโครงสร้างและมีโฮลดิง คัมพานีมาเป็นบริษัทแม่ได้ ภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน แต่ต้องมาขออนุญาติกับ ธปท. ก่อน”
ทั้งนี้ ธปท. ก็มีกฎเกณฑ์สำหรับกำกับดูแลทั้งกลุ่มธุรกิจ โดยขอบเขตธุรกิจใหม่ที่กำลังจะขยายออกไปก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของ ธปท. เช่นเดิม
สำหรับกรณีของ SCBX นี้ ทางผู้บริหารกลุ่มได้หารือกับ ธปท. เป็นระยะ ต่อเนื่องราว 2-3 เดือน เนื่องจาก SCBX มีหลายโมเดลธุรกิจที่กำลังจะขยายภายใต้กรอบ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน และสิ่งที่ ธปท. เฝ้าดูก็คือ การปรับโคงรสร้างของกลุ่มไทยพาณิชย์จะต้องไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
ส่วนในการดูแลเสถียรภาพการเงินทั้งระบบนั้น ธปท. มีโมเดลต่างๆ มีกระบวนการที่ติดตามดูแลเสถียรภาพอย่างใกล้ชิด
“ในเรื่องข้อเสนอเแนะที่เราให้แก่ไทยพาณิชย์คือ เราไม่ได้ขัดข้องในกรอบหลักการของไทยพาณิชย์ แต่ไทยพาณิชย์ก็ต้องทำตามกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับอื่นๆ เช่น ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ หรือหากมีการโอนย้ายพอร์ตสินเชื่อ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงพาณิชย์ สรรพากร เป็นต้น ต้องให้มั่นใจได้ว่าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทั้งหมด”
นวอรกล่าวเพิ่มว่า ภายหลังการปรับโครงสร้าง กลุ่มไทยพาณิชย์จะเน้นไปทางธุรกิจฟินเทคมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาส่งเสริมสินค้าและบริการ ซึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าและประชาชน ทำให้ได้รับประโยชน์จากบริการที่ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง และความปลอดภัยที่ถูกยกระดับ
ซึ่งไม่เพียงแค่เฉพาะไทยพาณิชย์เท่านั้น ธนาคารอื่นๆ ก็มีการปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตรกรรมเข้ามาส่งเสริมบริการเช่นกัน
“ที่เราห่วงคือธุรกิจธนาคาร เพราะธนาคารต้องการความเชื่อมั่น ความมั่นคง เพราะดูแลเงินฝากจากประชาชน ที่ ธปท. ต้องดูแลคือดูแลเงินฝากประชาชนไม่เสียหาย จึงต้องดูแลเงินกองทุนที่ต้องมีไว้เพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยง ซึ่งกฎเกณฑ์เงินกองทุนก็ใช้กับทั้งกลุ่มไทยพาณิชย์ด้วย”
ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันในกลุ่มสถาบันการเงินภายหลังจากที่กลุ่มไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้าง ซึ่งนวอรให้ความเห็นว่า การที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อย่างไทยพาณิชย์มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของบริษัทรายเล็กๆ ที่มีความคล่องตัวมากกว่า ซึ่งก็สะท้อนว่าแม้จะเป็นบริษัทรายเล็ก แต่หากมีพื้นฐานธุรกิจที่ดี มีโมเดลธุรกิจที่ดี ก็สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้เช่นกัน
โดยสิ่งที่ ธปท. สามารถเข้ามากำกับดูแลในเรื่องนี้ได้ก็คือ การทำให้การแข่งขันของภาคธุรกิจการเงินของไทยมีความเท่าเทียม
นอกจากนี้ เป้าหมายการเติบโตในระดับภูมิภาคของกลุ่มไทยพาณิชย์นั้น ธปท. ยืนยันว่าได้ส่งเสริมให้ภาคธนาคารของไทยขยายไปสู่ต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะมองเป็นโอกาสการเติบโตสูง อย่างไรก็ตาม การจะขยายไปในระดับภูมิภาคนั้น ต้องมีความพร้อมและไปอย่างระมัดระวังด้วย ส่วนในมุมของการกำกับดูแลนั้น ที่ผ่านมา ธปท. ได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานกำกับระดับภูมิภาคอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าสามารถกำกับดูแลธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์ในภูมิภาคได้