×

ธปท. ปฏิรูปรายงานข้อมูลแบงก์ หวังออกนโยบายตรงจุด-ลดต้นทุน 25%

21.09.2020
  • LOADING...

ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปฏิรูปข้อมูลจะทำให้การกำกับ ดูแล และการออกนโยบายต่างๆ ของ ธปท. ดีขึ้น ภายใต้โจทย์ใหญ่คือการสร้างความเข้าใจสถาบันการเงินเสมือนการเข้าไปนั่งตรวจสอบในธนาคารเอง โดยแนวทางหลักคือการเก็บข้อมูลสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การบริหารความเสี่ยง คุณภาพหนี้ พฤติกรรมการรีไฟแนนซ์ พฤติกรรมลูกหนี้ DSR ฯลฯ

 

ทั้งนี้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะช่วยให้ ธปท. สามารถติดตามสถานการณ์ต่างๆ ได้เร็วและดียิ่งขึ้น รวมถึงการออกนโยบายทางการเงินที่ตรงจุด เข้าถึงเชิงพื้นที่มากขึ้น 

 

ด้าน วันประชา เชาวลิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ของ ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ ต้องนำส่งข้อมูลให้ผู้กำกับอย่าง ธปท. ซึ่งรูปแบบของข้อมูลเป็นการประมวลข้อมูลและนำส่ง ธปท. แบบรายงาน โดยทาง ธปท. จะหารือเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการส่งข้อมูลให้สะดวกและเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. เปิดตัว ‘โครงการปฏิรูปการรายงานข้อมูลของสถาบันการเงิน’ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ในอีกทางหนึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการนำส่งข้อมูลของสถาบันการเงิน และส่งผ่านไปยังประชาชน ซึ่ง ธปท. เริ่มต้นโครงการนี้ใน 2 ข้อด้วยกัน ได้แก่

 

  1. การบูรณาการข้อมูลเพื่อการกำกับดูแล หรือ Regulatory Data Transformation ซึ่งจะปฏิรูปแนวทางข้อมูลทั้งหมด โดยแนวทางที่ ธปท. มองไว้คือ การเก็บข้อมูลที่ใกล้เคียงกับสถาบันการเงินที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยลดภาระของธนาคารในการประมวลข้อมูลเพื่อนำส่งในรูปแบบรายงาน และ ธปท. สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น โดยแนวทางที่ ธปท. ศึกษาไว้ เช่น ธนาคารในออสเตรียมีการเก็บข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ในระยะแรกโครงการ ธปท. จะปรับปรุงชุดข้อมูลรายย่อยด้านสินเชื่อ อนุพันธ์ (Derivatives) และการชำระเงิน (หรืออาจจะปรับปรุงพร้อมกันก็ได้)

 

  1. การลด ละ และยกเลิก การรายงานข้อมูล หรือ Data Guillotine เพื่อลดการรายงานข้อมูลที่ซ้ำซ้อนหรือขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เบื้องต้นคาดว่าจะลดชุดข้อมูลที่ธนาคารต้องนำส่งราว 10-20 ชุด จากปัจจุบันที่มีอยู่ 270 ชุด เช่น ธปท. จะทยอยยกเลิกการรายงานข้อมูลดังกล่าวภายในปี 2563 อย่างการรายงานข้อมูลในรูปแบบกระดาษ (Hard Copy) และการรายงานข้อมูลเฉพาะกิจตามสถานการณ์ในอดีต

 

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการนำส่งข้อมูลของธนาคารในไทยค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเพราะมีการเก็บข้อมูลเชิงลึกมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน บางส่วนไม่สามารถดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว หากมีการปรับในส่วนนี้คาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจธนาคาร 

 

เบื้องต้นจากการศึกษารูปแบบของธนาคารในต่างประเทศ จะมีต้นทุนการนำส่งข้อมูลไปยังธนาคารกลางอยู่ที่ 1-5% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดังนั้นคาดว่าในไทยระยะเวลา 3-5 ปี คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนราว 25% ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนธุรกิจลดลงในระยะยาว

 

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ธปท. จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสถาบันการเงินเพื่อศึกษา ตกลง และออกแบบการนำส่งที่เป็นมาตรฐาน คาดว่าจะเริ่มใช้ในช่วงปลายปี 2564-2565

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising