×

ธปท.-คลังเร่งผลักดันระบบ Digital Verification เพิ่มความคล่องตัวธุรกรรมออนไลน์ แบงก์เชื่อเกิดการปฏิวัติการเงินขนานใหญ่หากสำเร็จ

18.10.2021
  • LOADING...
ธปท.-คลังเร่งผลักดันระบบ Digital Verification

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ‘Digital Outlook and Overview: ก้าวผ่านวิกฤติ สู้โควิดด้วยดิจิทัล’ ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำธุรกรรมการเงินด้วยระบบดิจิทัลเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยประเทศไทยมีการทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์เป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ดีการเร่งตัวของธุรกรรมการเงินบนโลกดิจิทัลก็เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ

 

รณดลระบุว่า สิ่งที่ ธปท. ต้องการเห็นจากฟินเทค คือการเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการทางการเงิน สร้างความเท่าเทียมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ และสร้างการเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้นแนวทาง ธปท. จะมุ่งเน้นการส่งเสริม ถ่วงดุล ดูแลความมั่นคงของผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้วย ขณะเดียวกันต้องสร้างความคล่องตัวในการปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์และสร้างความเชื่อมั่นผู้ใช้บริการ

 

“ฟินเทคที่ตอบโจทย์จะต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างความเข้าถึงได้ อีกเรื่องคือดิจิทัลไฟแนนซ์จะต้องตอบโจทย์สภาพแวดล้อมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะการเข้าถึงทางการเงิน ในฐานะผู้กำกับดูแลเราก็ต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองด้วย ก่อนหน้านี้ ธปท. อาจจะเน้นความมั่นคง ดูแลเสถียรภาพ แต่ในขณะนี้ความท้าทาย คือการสร้างสมดุลในการกำกับและส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัว เกิดการสร้างนวัตกรรม ควบคู่ไปกับความปลอดภัย มีเสถียรภาพ และความมั่นคง รวมถึงการสร้างกลไกต่างๆ ให้เกิด Trust” รณดลกล่าว

 

รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพัฒนาดิจิทัลไฟแนนซ์นั้น ธปท. จะให้ความสำคัญกับ 3 แนวทาง ได้แก่ Open Competition คือต้องเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งแบงก์ นอนแบงก์ และฟินเทค มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเงินและเอื้อให้เกิดการแข่งขันเท่าเทียม 

 

ถัดมาคือ Open Infrastructure ที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนา เช่น Digital ID การให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Consent) และสุดท้ายคือ Open Data เพราะข้อมูลเป็นพลังสำคัญสำหรับโลกอนาคต โดยต้นปีหน้า ธปท. จะเปิดให้ระบบการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (Bank Statement) ระหว่างสถาบันการเงินโดยที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขา   

 

ด้าน กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินมาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการชิมช้อปใช้ ตั้งแต่ปี 2562 และได้พัฒนาต่อยอดยกระดับมาเป็นโครงการต่างๆ ในช่วงที่โควิดระบาด เช่น โครงการคนละครึ่งที่ มีคนใช้จ่ายผ่านโครงการ 24 ล้านคน และมีร้านค้าถึง 1.2 ล้านร้านเข้าร่วม  

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันและยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งจากมาตรการเหล่านี้เราสามารถนำพฤติกรรมประชาชนมาวิเคราะห์เพื่อเข้าถึงความช่วยเหลือได้ในอนาคต

 

“ในอนาคตภาครัฐจะมีการปรับมุมมองในการทำงานและกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถนำเสนอบริการต่างๆ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชนมากที่สุด” กุลยากล่าว

 

อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้บูรณาการทำงานร่วมกันในการดำเนินนโยบายผ่านระบบดิจิทัลต่างๆ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือ ม33เรารักกัน แม้ประเทศไทยได้พัฒนาระบบการชำระเงินมาอย่างดี แต่อีก 2 โครงสร้างพื้นฐานหลักที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันพัฒนา คือการพิสูจน์และยืนยันตัวตน Digital ID และการให้ E-Consent รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือ Data Exchange ซึ่งคลังและ ธปท. ได้ทำงานร่วมกัน และหากสำเร็จจะช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

 

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้ร่วมกับภาคเอกชนนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยลดขั้นตอนในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือ e-GP และเชื่อมระบบดังกล่าวกับระบบหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้ ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการตราสารหนี้ภาครัฐให้ประชาชนสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลผ่านแอปฯ เป๋าตัง

 

“อีกประเด็นสำคัญคือการปรับมุมมองภาครัฐ เพื่อความยั่งยืนภาครัฐต้องมองให้กว้างขึ้น ผ่านมิติของ Digital Public Goods ที่ภาครัฐและผู้กำกับดูแลต้องร่วมกันส่งเสริม เช่น Open Data, Open AI Model ที่จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาหรือสตาร์ทอัพสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital Public Goods เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ได้ ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Digital Infrastructure และ Digital Public Goods จะเป็นการสร้างความยั่งยืนและพัฒนาการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคต” กุลยากล่าว

 

ขณะที่ ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต กล่าวว่า แม้ธนาคารพาณิชย์จะมีการใช้โมบายล์แบงกิ้งเข้ามาปฏิรูปการทำธุรกรรมตั้งแต่ 10 ปีก่อน แต่จนถึงวันนี้การทำงานก็ยังไม่ใช่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ยังมีการใช้เอกสารกระดาษอยู่บ้าง ในช่วงนี้จึงถือเป็น Gen 2 ที่จะเห็นการเกิดปฏิรูปการดำเนินการภายในของธนาคารให้ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อปูทางไปสู่ Gen 3 คือการเสนอประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าของธนาคาร

 

“ที่ผ่านมาเราใช้คน เช่น อาร์เอ็มหรือสาขาเสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าตามปัจเจก แต่วันนี้โมบายล์แบงก์ยังไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นปัจเจก สะท้อนว่าเรายังไม่ไปถึง Gen 3 ที่สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าแบบเฉพาะได้ ซึ่งในอนาคตนี่จะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกธนาคารจะมุ่งไป” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวว่า ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล หรือ Digital Infrastructure ของระบบการเงินไทยยังมีเพียงระบบเดียวคือระบบการชำระเงิน โดยไทยยังล้าหลังในด้าน Digital Verification หรือการยืนยันตัวตน (Digital ID) และการพิสูจน์เอกสาร (Digital Document) ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐต้องร่วมมือในการผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าหากไทยมี 3 องค์ประกอบนี้เกิดขึ้นได้ครบจะเกิดการปฏิวัติการเงินขนานใหญ่และมีผลต่อเศรษฐกิจ

 

“วันนี้ระบบเพย์เมนต์เกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว แต่ในแง่การยืนยันตัวตน คน หรือเอกชน เช่น ทะเบียนรถ ทะเบียนบ้าน หรือ Invoice ต่างๆ หากลูกค้าสามารถนำไปขอสินเชื่อกับธนาคารได้ก็จะช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงิน ลดต้นทุนการดำเนินงาน และเห็นมิติใหม่ทางการเงินได้อย่างสิ้นเชิง” ปิติกล่าว

 

ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระแส Digital Transformation ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายอุตสาหกรรม แม้ที่ผ่านมายังมีบางส่วนที่กลัวๆ กล้าๆ เรียกว่านั่งคร่อมรั้วอยู่บ้าง แต่สถานการณ์โควิดได้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบต้องกระโดดข้ามรั้วในบางอุตสาหกรรม สำหรับในส่วนของภาคการเงินนั้นมองว่ามีความตระหนักและสามารถปรับใช้กับเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี

 

ชวพลกล่าวว่า ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของไทยมีความพร้อมค่อนข้างสูงทั้ง 5G, AI, IoT หรือ Cloud Computing โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ของไทยที่ในปีที่ผ่านมาเติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งในแง่ของ Data และการเข้าถึงของประชาชน ทำให้โลกธุรกิจเริ่มมองเห็นลูกค้าเป็นปัจเจกมากขึ้น โดยเชื่อว่า Data จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการลูกค้าได้แบบ 360 องศา

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X