×

ภาคธุรกิจหนุน ธปท. ไฟเขียวเปิด Virtual Bank ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของ SMEs

24.02.2022
  • LOADING...
ภาคธุรกิจหนุน ธปท. ไฟเขียวเปิด Virtual Bank ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของ SMEs

ผู้บริหารธนาคารและตัวแทนจากภาคธุรกิจหนุนแผน ธปท. อนุญาตเปิด Virtual Bank เชื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่ม SMEs แนะรวมศูนย์หน่วยงานกำกับลดความซับซ้อนของกฎเกณฑ์

 

รณดล นุ่มนนท์ เปิดเผยว่า หลังจากธปท.ได้เปิดรับความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ ภาคการเงิน และภาคประชาชน ที่มีรายงานภูมิทัศน์การเงินใหม่ไทยหรือ Financial Landscape Consultation ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นมากกว่า 100 ความเห็น โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับแนวทางกำกับของ ธปท. ที่มุ่งไปด้านดิจิทัล ความยั่งยืน และการเพิ่มความยืดหยุ่น  

 

ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นที่ ธปท. พบว่ามีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก คือการที่ ธปท. มีแผนจะเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขา หรือ Virtual Bank ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมความเห็นเพื่อนำไปกำหนดเป็นเกณฑ์ในขั้นต่อไป

 

โดยความเห็นเกี่ยวกับ Virtual Bank ที่เข้ามาส่วนใหญ่ต้องการทราบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์รวมถึงคุณสมบัติและเกณฑ์การคัดเลือกของ ธปท. ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับการกำกับความเสี่ยงต่อระบบและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงแผนของ ธปท. ที่จะอนุญาตให้มีการจัดตั้ง Virtual Bank ว่าเรื่องนี้น่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์และพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ในประเทศได้ เพราะแม้ว่าปัจจุบัน 99.7% ของคนไทยจะเข้าถึงบริการทางการเงินแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการเข้าถึงบริการด้านเงินฝาก ขณะที่บริการด้านสินเชื่อยังมีสัดส่วนของผู้ที่เข้าถึงได้เพียง 45.5% 

 

“เรายังมีธุรกิจ SMEs ราว 37.4% จาก 2.29 ล้านรายทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งหากธุรกิจ SMEs เหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าเพิ่มราว 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 0.08% ของ GDP” ขัตติยากล่าว

 

อย่างไรก็ดี ขัตติยายอมรับว่า การเข้ามาของ Virtual Bank จะส่งผลให้การแข่งขันของผู้ให้บริการทางการเงินที่ปัจจุบันสูงอยู่แล้วสูงยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นเพื่อให้การแข่งขันในระบบยังเป็นไปในเชิงบวกหรือ Healthy การเข้ามาของ Virtual Bank ควรจะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น การใช้เทคโนโลยีช่วยให้บริการกลุ่มลูกค้าที่เล็กลงและยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา

 

“เรื่องเกณฑ์การกำกับควรเริ่มต้นด้วยความเท่าเทียม แต่ถ้าในระยะต่อไปใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าบริหารความเสี่ยงได้ดี มีกระบวนการทำงาน หรือระบบที่ได้ตามมาตรฐาน วิธีการกำกับก็อาจจะมีการผ่อนคลายให้ก็ได้” ขัตติยากล่าว

 

ขัตติยายังเสนอแนะอีกว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่บริการทางการเงินและธุรกิจอื่นๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น หากหน่วยงานกำกับต่างๆ ซึ่งรวมถึง ธปท. สามารถรวมศูนย์กันเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับไปในทิศทางเดียวกันได้ก็จะช่วยลดความซับซ้อนของกฎเกณฑ์และทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น 

 

“อีกหนึ่งเรื่องที่อยากเห็นจาก ธปท. คือการเปิด Sandbox ให้ผู้เล่นได้เข้ามาทดลองทำอะไรใหม่ๆ เช่น ในกรณีสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้มีความเข้าใจกลไกมากขึ้น”

 

ขณะที่ สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group กล่าวว่า การกำกับดูแล Virtual Bank ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจควรจะยึดหลัก 2A คือ หน่วยงานกำกับจำเป็นจะต้องรักษาจุดแข็งเรื่อง Agility หรือความสามารถในการปรับบริการและผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วของธนาคารประเภทนี้ไว้ โดยไม่ออกเกณฑ์ควบคุมที่เยอะเกินไปซึ่งจะไปทำลายจุดแข็งนี้ 

 

ขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับจะต้องช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าถึง หรือ Access ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การทำ e-KYC การเข้าถึงฐานข้อมูล NDID และช่วยลดต้นทุนเหล่านี้ที่ปัจจุบันยังค่อนข้างแพงลงมา

 

“ในต่างประเทศ Virtual Bank จะแยกออกมาจากธนาคารแบบดั้งเดิมกับที่มาจากบริษัทด้านเทคจะมีบุคลิกที่แตกต่างกัน โดยจุดแข็งของแต่ละคนจะช่วยเสริมกันให้คนกลุ่มต่างๆ เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เราจึงควรเปิดให้มีความหลากหลาย” สันติธารกล่าว

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความล่าช้าอยู่พอสมควร เช่น การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่ละครั้งจะต้องทำความรู้จักกันก่อนและใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งในกรณีที่ธุรกิจรายใหญ่การผ่านขั้นตอนต่างๆ จะง่ายกว่าธุรกิจสตาร์ทอัพหรือ SMEs

 

“Virtual Bank น่าจะเข้ามาช่วยได้ในเรื่องนี้ เรามองไปถึงนโยบาย Open Data ของ ธปท. ด้วย หากข้อมูลจากบริษัทมือถือหรือข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถนำใช้ประเมินความเสี่ยงได้ ประโยชน์จะเกิดกับกลุ่มคนและธุรกิจที่เคยถูกมองข้าม แต่การกำกับดูแลก็ต้องมั่นใจว่าเงินจะถูกนำไปใช้ถูกวัตถุประสงค์ด้วย” วิศิษฐ์กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X