ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน 2563 ยังหดตัว โดย ธปท. ชี้ว่าหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และปัจจัยชั่วคราวด้านรถยนต์
ทั้งนี้ไตรมาส 3/63 ถือเป็นช่วงการเปิดเมืองที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ภาพเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลังมาตรการการผ่อนคลายทั้งในและต่างประเทศ ทาง ธปท. คาดว่าไตรมาส 3/63 เศรษฐกิจยังหดตัวอยู่แต่ไม่เกิน 2 หลัก ซึ่งถือว่าหดตัวน้อยกว่าไตรมาส 2/63
ขณะเดียวกันยังต้องรอดูตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจ เพื่อมองทิศทางในไตรมาส 4/63 โดยมองว่ายังมีความเสี่ยงในอนาคต หากแรงส่งทางเศรษฐกิจยังไปได้ คาดว่า GDP น่าจะฟื้นตัวได้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีเรื่องที่ต้องติดตาม 5 เรื่องหลัก ได้แก่
- การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งไทยและต่างประเทศว่ากลับมาฟื้นตัวเร็วแค่ไหน
- การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ ว่าแต่ละประเทศดูแลได้มากแค่ไหน ซึ่งอาจจะกระทบด้านการส่งออก
- การฟื้นตัวตลาดแรงงาน ซึ่งสะท้อนรายได้ของประชาชน เช่น ดัชนีชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ยังเห็นคนมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง โดยตัวเลขผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 440,000 คน และมีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าวันละ 4 ชั่วโมง อยู่ที่ 2.6 ล้านคน และมีผู้ว่างงาน อยู่ที่ 7 แสนคน รวมเท่ากับ 3.3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ปรับดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบางอยู่
- การฟื้นตัวภาคยานยนต์จะยั่งยืนหรือไม่? เดือนกันยายน 2563 แม้ตัวเลขการผลิตเพื่อส่งออกและยอดขายในประเทศปรับตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะมีความต้องการในระยะสั้นในงานมอเตอร์โชว์ แต่ยังต้องติดตามว่าจะเติบโตต่อเนื่องหรือไม่
- ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ยังไม่ชัดเจนอาจจะกระทบความเชื่อมั่นภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เมื่อย้อนดูการชุมนุมในอดีตทุกครั้งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยปีนี้มีผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวเปราะบาง
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเดือนกันยายน 2563 มีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่
- การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัว 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณ
- การบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 0.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวน้อยลงเกือบทุกหมวด ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากยอดขายรถยนต์
- การส่งออกไทยหดตัวที่ 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าสินค้าหดตัว 8.1%
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดดุล 1,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการส่งออกทองคำลดลง
- ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เพราะกังวลการแพร่ระบาดระลอกสองในสหรัฐฯ
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า