แบงก์ชาติคลอดมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนชุดใหญ่ สั่งแบงก์-นอนแบงก์หั่นดอกเบี้ยช่วยกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน 5 แสนบัญชี เดือนเมษายนปีหน้า เตรียมเปิด Sandbox ให้สถาบันการเงินทดลองคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้ หวังลดปัญหาหนี้นอกระบบและสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ดีไตรมาส 2 ปีหน้า
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นับจากวันที่ 1 มกราคม 2567 ธปท. จะเริ่มทยอยบังคับใช้มาตรการที่ตรงจุดและยั่งยืนขึ้นเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ราว 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงเกินกว่าระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อ GDP ตามที่ Bank for International Settlements (BIS) กำหนดไว้
โดยมาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ที่มีสาระสำคัญดังนี้
1. สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ที่แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่
1.1 ช่วงก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ ต้องโฆษณาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้เป็นหนี้เกินตัว
“สื่อโฆษณาของสถาบันการเงินจะต้องแสดงระดับต่ำสุดและสูงสุด (Min.-Max.) ของอัตราดอกเบี้ยต่อปี รวมค่าธรรมเนียมและแสดงเงื่อนไขที่ชัดเจน หากแสดงค่างวดหรือระยะเวลาผ่อนเพื่อจูงใจลูกหนี้จะต้องแสดงสมมติฐานการคำนวณ ไม่ใช่โฆษณาว่ากู้เงินล้านผ่อนหมื่นละ 10 บาท แต่ไม่บอกดอกเบี้ย หรือบอกว่าให้ดอกเบี้ยพิเศษ 0.5% ต่อปี นาน 50 วัน แต่ไม่บอกว่าเฉพาะการรูดครั้งแรก” รณดลกล่าว
1.2 ช่วงระหว่างเป็นหนี้ สถาบันการเงินต้องให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (Nudge) รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน เช่น ทำระบบอัตโนมัติให้ลูกหนี้จ่ายชำระมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย
1.3 เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยลูกหนี้มีสิทธิได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนถูกฟ้องหรือขายหนี้
1.4 เมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ตลอดจนผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสม
2. สถาบันการเงินต้องดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (Revolving Personal Loan) ที่มีรายได้น้อยและเป็นหนี้เรื้อรัง ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้มาอยู่ในรูปของสินเชื่อ Term Loan ระยะเวลา 5 ปีแทน
รณดลกล่าวว่า ลูกหนี้ที่เข้าข่ายจะได้รับความช่วยเหลือในโครงการนี้ต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นลูกหนี้ดีแต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการผ่อนจ่ายดอกเบี้ยสะสมมามากกว่าเงินต้นสะสม และต้องมีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่ ธปท. ระบุ คือ ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน สำหรับลูกค้าธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูก และต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า การเข้ามาตรการนี้จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกหนี้ โดยลูกหนี้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ (Opt-in) จะต้องยินยอมปิดวงเงิน Revolving ดังกล่าวเพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่ม และเจ้าหนี้จะมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้ด้วย
“เราพบว่ากลุ่มลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังในปัจจุบันมีอยู่ไม่น้อยกว่า 5 แสนบัญชี ส่วนข้อกังวลส่วนใหญ่ในฝั่งลูกหนี้ที่เราได้รับทราบมาคือ ถ้าเข้าแล้วการผ่อนต่องวดจะสูงขึ้นหรือไม่ และกรณีถูกติด Flag ในเครดิตบูโรจะมีผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตหรือไม่ ธปท. ขอชี้แจงว่ายอดผ่อนต่อเดือนจะยังเท่าเดิม แต่ลูกหนี้จะปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและจ่ายดอกเบี้ยลดลง เพราะมีการปรับโครงสร้างสินเชื่อมาเป็น Term Loan ส่วนกรณีที่จะต้องมีประวัติอยู่ในเครดิตบูโร อยากให้มองอีกมุมด้วยว่าการมีประวัติว่าสมัครใจเข้าปิดหนี้ก็แสดงให้เห็นถึงวินัยการเงินที่ดีเช่นกัน” รณดลกล่าว
ทั้งนี้ มาตรการ Responsible Lending จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ขณะที่มาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เพื่อให้ผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับระบบงาน และจะทยอยใช้ตามระดับรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ให้บริการแต่ละกลุ่ม
รองผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า นอกจาก 2 มาตรการข้างต้นแล้ว ธปท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางอื่นๆ เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย เช่น การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) โดยมาตรการ RBP จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสินเชื่อที่ดี โดยจะยังไม่มีการยกเลิกหรือขยับเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นการทั่วไป
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/67 ธปท. จะเริ่มเปิดให้ผู้ให้บริการสถาบันการเงินที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเข้าทดสอบการให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นเวลา 1-2 ปี โดยผู้ให้บริการต้องเสนอระบบประเมินความเสี่ยงและรูปแบบการกระจายตัวของดอกเบี้ยในแต่ละกลุ่มลูกหนี้ให้ ธปท. พิจารณาก่อนเข้าทดสอบ และเมื่อผ่านการทดสอบ ผู้ให้บริการจึงจะให้สินเชื่อภายใต้เพดานดอกเบี้ยใหม่ได้ โดย ธปท. จะกำหนดหลักเกณฑ์การออกจากโครงการ Sandbox ที่วัดความสำเร็จได้ชัดเจน สำหรับผู้ให้บริการที่ไม่ผ่านการทดสอบจะต้องกลับไปใช้เพดานดอกเบี้ยเดิม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ธปท. จะดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลไกนี้จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้อย่างแท้จริง
สำหรับมาตรการ DSR ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (Macroprudential Policy) เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ ลดการก่อหนี้เกินตัว ให้ลูกหนี้มีรายได้หลังชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มใช้กับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน (เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อน
“มาตรการ DSR จะไม่เป็นแบบ One Size Fits All กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จะถูกกำหนดให้ DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 60% ส่วนกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 70%” รณดลกล่าว
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินอาจพิจารณาให้สินเชื่อได้เกิน DSR ที่กำหนดได้ หากแสดงให้เห็นได้ว่าลูกหนี้มีความสามารถเพียงพอที่จะชำระหนี้ แต่ DSR หลังรวมภาระหนี้ใหม่ต้องไม่เกิน 90% และสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องมียอดไม่เกิน 15% ของสินเชื่อปล่อยใหม่ เพื่อลดโอกาสที่ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องออกไปนอกระบบ ในเบื้องต้น ธปท. มีแผนจะบังคับใช้มาตรการนี้ในปี 2568 โดยจะประเมินสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งการบังคับใช้มาตรการจะต้องสื่อสารล่วงหน้าให้ประชาชนและผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับตัว
นอกจากการดำเนินการตามแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนข้างต้นแล้ว การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น (1) การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน (2) การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทุกประเภท (3) การมีกลไกให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยหนี้เป็นระบบ และ (4) การวางรากฐานให้กับประเทศ ทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลเครดิตและข้อมูลทางเลือกที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ ตลอดจนการสร้างรายได้ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาหนี้