ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/64 ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เพราะมองว่ามาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับโครงสร้างนี้จะช่วยลดภาระการเงินได้ตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งถือว่ายังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
อย่างไรก็ตาม กนง. มองว่าโควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเศรษฐกิจไทยให้มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ และมากกว่าผลกระทบระลอก 2 โดยกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว และกระทบต่อผู้ประกอบการรวมถึงภาคครัวเรือน ดังนันหัวใจหลักของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ที่การจัดหาและกระจายวัคซีน โดยมีสมมติฐานต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 กรณี ได้แก่
- กรณีแรก มองว่าหากไทยสามารถจัดหาและกระจายวัคซีน 100 ล้านโดสในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในไตรมาส 1/65 คาดการณ์ว่า
- GDP ไทยปี 2564 จะอยู่ที่ 2%
- ปี 2564 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.2 ล้านคน
- GDP ปี 2565 จะฟื้นตัวที่ 4.7%
- กรณีที่ 2 หากปีนี้หากมีการฉีดวัคซีนในไทย 64.6 ล้านโดส และเกิด Herd Immunity ล่าช้าออกไปเป็นไตรมาส 3/65 คาดการณ์ว่า
- GDP ไทยปี 2564 จะอยู่ที่ 1.5%
- ปี 2564 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน
- GDP ปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8%
- ผลกระทบต่อไทยราว 3.0% ของ GDP หรือราว 4.6 แสนล้านบาท
- กรณีที่ 3 หากปีนี้ไทยฉีดวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดส และเกิด Herd Immunity ล่าช้าออกไปเป็นไตรมาส 4/65 คาดการณ์ว่า
- GDP ปี 2564 จะอยู่ที่ 1.0%
- ปี 2564 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 8 แสนคน
- GDP ปี 2565 จะอยู่ที่ 1.1%
- ผลกระทบต่อไทยราว 5.7% ของ GDP หรือราว 8.9 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ผลจากการฉีดวัคซีนจะช่วยลดการระบาดระลอกใหม่ และลดความจำเป็นในการเยียวยาลง รวมถึงจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่าน Sandbox ต่างๆ ราบรื่นขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสุนการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวในปี 2565 ด้วย
“ถ้าวัคซีนมาได้เร็ว จะช่วยให้กลุ่มภาคเศรษฐกิจ SMEs กลุ่มท่องเที่ยว แรงงานที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจะฟื้นตัวได้เร็ว ถ้ามีภูมิคุ้มกันขึ้นมา และการบริหารจัดการเศรษฐกิจจากการดูแลระยะยสั้นเป็นการดูแลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังเปราะบางคือตลาดแรงงาน เพราะไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 60,000 ราย ยังเพิ่มขึ้น 181% จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่ากลุ่มผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนราว 260,000 คน อาจเพิ่มขึ้นหลังมาตรการการจ้างงานเด็กจบใหม่ในปีก่อนสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่
- การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19
- การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน
- ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลง ทำให้ความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง
สุดท้ายนี้ คณะกรรมการฯ มองว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยจะติดตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2/64 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ส่วนแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทาง กนง. ชี้ให้เห็นว่า ปี 2556 ที่ผ่านมา Fed มีการสื่อสารบางอย่างที่กระทบต่อตลาดการเงินโลก ดังนั้นรอบนี้น่าจะมีการสื่อสารอย่างระมัดระวัง และการปรับดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไป
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล