×

แบงก์ชาติไฟเขียวให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลปี 63 แบบมีเงื่อนไข ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการ 4Q63 ยังหดตัวต่อเนื่อง

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2020
  • LOADING...
แบงก์ชาติไฟเขียวให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลปี 63 แบบมีเงื่อนไข ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการ 4Q63 ยังหดตัวต่อเนื่อง

เกิดอะไรขึ้น:

วานนี้ (12 พฤศจิกายน) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลได้สำหรับรอบผลประกอบการปี 2563 แต่ห้ามเกินอัตราจ่ายเงินปันผลในปี 2562 และต้องไม่เกิน 50% หลังจาก ธปท. ได้ประเมินผล Stress Test ของธนาคารพาณิชย์ในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งพบว่า ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ที่เลวร้ายจากการระบาดของโควิด-19 

 

โดยในช่วงที่ผ่านมานั้นธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มความระมัดระวังด้วยการตั้งสำรองและสะสมเงินกองทุนเพิ่ม ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีอัตราเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ที่ 150% และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 50% ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวขึ้น 3.45%DoD เทียบกับ SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 1.03%DoD สู่ระดับ 1,350.13 จุด (ข้อมูล ณ เวลา 12.30 น.)

 

มุมมองระยะสั้น:

เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลของ ธปท. พบว่า มีธนาคารทิสโก้ (TISCO) เพียงแห่งเดียว ที่มีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลเกินกว่าเกณฑ์ของ ธปท. เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาธนาคารทิสโก้มักจ่ายเงินปันผลสูงกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ดังนั้นทำให้ธนาคารทิสโก้ต้องลดอัตราการจ่ายเงินปันผลสำหรับรอบผลประกอบการปี 63 ลงสู่ระดับ 50% 

 

โดยภาพรวม SCBS คาดว่า หุ้นธนาคารพาณิชย์จะมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ประมาณ 3-4% โดย บมจ. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) จะมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่สุดที่ระดับ 6.9%

 

ด้านแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 ของภาพรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ SCBS คาดว่า จะปรับตัวลงต่อจากไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องตั้งสำรองเงินจำนวนมากเพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากทิศทางเศรษฐกิจ และในไตรมาส 4 ปี 2563 จะเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS คาดว่า จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวเล็กน้อยของผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 แม้การตั้งสำรองจะยังคงอยู่ในระดับสูง และในปี 2565 SCBS คาดว่า ผลประกอบการกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อ แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ โดยในปี 2565 จะมีการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง แต่จะถูกฉุดรั้งด้วยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ลดลง เนื่องจากอัตราการสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะสูงขึ้นราว 23 bps สู่ระดับปกติที่ 0.46% และผลประกอบการกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติได้ในปี 2566 เนื่องจากการตั้งสำรองจะลดลงอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X